AU กับโมเดลการตลาดยั่งยืน
บริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด (มหาชน) หรือ AU มีกำไรนิวไฮในไตรมาสที่สามของปีนี้ และยังทำให้ 9 เดือนแรกของปีนี้ ทำให้บริษัททำกำไรสุทธินิวไฮไปด้วย
พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล
บริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด (มหาชน) หรือ AU มีกำไรนิวไฮในไตรมาสที่สามของปีนี้ และยังทำให้ 9 เดือนแรกของปีนี้ ทำให้บริษัททำกำไรสุทธินิวไฮไปด้วย
รายงานระบุว่า รายได้จากการขายเท่ากับ 312 ล้านบาทในไตรมาส 3 ปี 2562 และ 911 ล้านบาท ในงวด 9 เดือนแรก ปี 2562 ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 45 จากไตรมาส 3 ปี 2561 และร้อยละ 47 จากงวด 9 เดือนแรก ปี 2561 ตามลำดับ
การปรับตัวเพิ่มขึ้นของรายได้จากการขายของบริษัทฯ มีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากร้านขนมหวานซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มสาขาใหม่จำนวน 7 สาขาจากไตรมาส 3 ปี 2561 และการเพิ่มขึ้น ของการเติบโตของยอดขายของสาขาเดิม (Same-Store-Sales-Growth) นั่นหมายความว่า ความขยันสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ทำให้รายได้วิ่งสวนทางเศรษฐกิจ
ที่น่าสนใจตรงที่รายได้ ส่งผลให้อัตรากำไรสวยงามขึ้นกว่าเดิม เพราะกำไรขั้นต้นของบริษัทฯ ในไตรมาส 3 ปี 2562 และในงวด 9 เดือนแรก ปี 2562 มีมูลค่า 202 ล้านบาท และ 592 ล้านบาทตามลำดับ ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 37 จากไตรมาส 3 ปี 2561 และร้อยละ 41 จากงวด 9 เดือนแรก ปี 2561 สอดคล้องกับยอดขายที่เพิ่มขึ้น
แม้อัตรากำไรขั้นต้นในไตรมาส 3 ปี 2562 ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.7 จากไตรมาส 3 ปี 2561 และในงวด 9 เดือนแรก ปี 2562 ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.7 จากงวด 9 เดือนแรก ปี 2561 แต่การที่ EBITDA ของบริษัทฯ ในไตรมาส 3 ปี 2562 และในงวด 9 เดือนแรก ปี 2562 มีมูลค่า 98 ล้านบาท และ 284 ล้านบาทตามลำดับ ซึ่งปรับตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 58 จากไตรมาสที่ 3 ปี 2561 และร้อยละ 76 จากงวด 9 เดือนแรก ปี 2561 มีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากร้านขนมหวานและการควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ดีขึ้น แล้วส่งผลตรงไปยังกำไรสุทธิและอัตรากำไรสุทธิ
ความโดดเด่นของกำไร มีเหตุปัจจัยสำคัญจากการที่ AU ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในช่วงไตรมาสที่ผ่านมาทางบริษัทฯ ได้มีการเพิ่มจำนวนพนักงานเพื่อขยายความสามารถในการทำงานของทีมงานออกบูธ (Catering and Pop-up store team) โดยในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ทางบริษัทฯ ได้มีการจัดตั้ง Pop-up store 2 รูปแบบในทั้งหมด 11 สถานที่ ซึ่งรูปแบบแรกจะเป็นบูธที่ขายเฉพาะสินค้าซื้อกลับบ้านเพียงอย่างเดียวซึ่งจะเป็นบูธตั้งอยู่ในพื้นที่มีคนหนาแน่น อย่างเช่นในสถานี BTS และ MRT สถานที่ที่ ลูกค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าอาฟเตอร์ ยู ได้อย่างรวดเร็ว และรูปแบบที่ 2 จะเป็นรูปแบบบูธที่มีโต๊ะและพื้นที่ให้นั่ง และมีเมนูสินค้าคล้ายกับเมนูในร้านขนม อาฟเตอร์ ยู ซึ่งบูธรูปแบบนี้มักจะตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ อาทิเช่น เซ็นทรัลพลาซา เดอะมอลล์ และสามย่าน มิตรทาวน์ เป็นต้น โดยการออกบูธขาย สินค้าในสถานที่ต่าง ๆ ส่งผลดีต่อบริษัทฯ ในหลายด้านซึ่งรวมถึงการทดลองตลาดในพื้นที่ต่าง ๆ และเนื่องจากการออกบูธสามารถจัดตั้งได้โดยใช้เวลาและเงินลงทุนเพียงเล็กน้อย ทางบริษัทฯ จึงมีความยืดหยุ่นสูงในการขยายพื้นที่เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพ
ความสำเร็จจาก Pop-up store ผสมกับการออก ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ขายในสาขา โดยในไตรมาส 3 ปี 2562 ได้มีการออก ผลิตภัณฑ์ตามฤดูกาลจำนวน 2 เมนู และคากิโกริรสชาติใหม่ คือ “เมนูเด็ด” สำหรับ AU ในด้านการตลาดที่ยั่งยืนเพื่อชดเชยกับการเลื่อนการเปิดสาขาร้านขนมหวาน
นี้คือทิศทางที่ทำให้บริษัทการตลาดจำพวกของหวานขนาดเล็กมาก (ทุนจดทะเบียนล่าสุด 81.56 ล้านบาทแต่มีส่วนผู้ถือหุ้นเกือบ 1 พันล้านบาท) ซึ่งเคยเป็นที่รู้จักว่าเป็นหุ้น “น้ำแข็งใส” ที่มีค่าพี/อี ตั้งแต่ขายหุ้นจองแพงลิ่วเกิน 100 เท่า และใกล้จะผ่านมาเกือบ 2 ปีตั้งแต่เข้าเทรดในตลาด mai ก็ไม่เคยมีค่าพี/อีต่ำกว่า 40 เท่า
ดูเฉพาะค่าพี/อีอย่างเดียว เมินเฉยหุ้นตัวนี้จากสายตาไกลได้เลย แต่ถ้าหากดูผลประกอบการและความสามารถทำกำไร (อัตรากำไรสุทธิ) กลับตรงกันข้าม
AU คือหุ้น Growth Stock ที่น่าจับตาอย่างมากเพราะเหตุผลว่า แรกสุดผู้บริหารขับเคลื่อนการเติบโตของยอดขายและกำไรต่อเนื่องไม่มีหยุด เข้าข่าย Let Profit Run โดยที่สามารถรักษาอัตรากำไรสุทธิเหนือ 15% ต่อเนื่องไม่เหมือนบริษัททางการตลาดหลายแห่งที่ยิ่งยอดขายมาก อัตรากำไรสุทธิกลับดิ่งเหวน่าใจหาย เพราะการตลาดที่ผิดพลาด
ราคาที่ระดับ 12.00 บาท ถือว่าแพงหากดูจากค่าพี/อี แต่นักลงทุนขาประจำน่าจะรู้ดีว่าถูกหรือแพง