พาราสาวะถีอรชุน
ขออภัยคุณผู้อ่านที่ต้องปล่อยพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นเรื่องของข่าวสารโดยกองบรรณาธิการข่าวหุ้นธุรกิจรายวัน ไม่ได้มีเหตุผลเรื่องการเปลี่ยนแปลงใดๆ แต่เป็นเรื่องของการเจ็บป่วยล้วนๆ ไม่ขอชวนคุยเรื่องส่วนตัวให้ยืดยาว เอาเป็นว่า อรชุนกลับมาประจำการเหมือนเดิมแล้วขอรับ ปะเหมาะกับจังหวะที่มีข่าวร้อนเรื่องปรับคณะรัฐมนตรีเข้ามาพอดี
อรชุน
ขออภัยคุณผู้อ่านที่ต้องปล่อยพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นเรื่องของข่าวสารโดยกองบรรณาธิการข่าวหุ้นธุรกิจรายวัน ไม่ได้มีเหตุผลเรื่องการเปลี่ยนแปลงใดๆ แต่เป็นเรื่องของการเจ็บป่วยล้วนๆ ไม่ขอชวนคุยเรื่องส่วนตัวให้ยืดยาว เอาเป็นว่า อรชุนกลับมาประจำการเหมือนเดิมแล้วขอรับ ปะเหมาะกับจังหวะที่มีข่าวร้อนเรื่องปรับคณะรัฐมนตรีเข้ามาพอดี
จริงๆ แล้วหากย้อนกลับไปดูต้นตอข่าว จากปม “หม่อมอุ๋ย” หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล ไปพูดในวงเสวนาเอกชนแล้วพาดพิงถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจ แต่ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวทุกเรื่อง ต้นตอก็พอจะทำให้เห็นแล้วว่า ที่มาก็จากคนพวกเดียวกันเอง จริงเท็จประการใด นาทีนี้คนถูกกล่าวหาบอกว่าไม่ได้พูด ส่วนคนถูกพาดพิงบอกไม่ติดใจ ก็เป็นอันว่าจบกัน
แต่ไม่ได้หยุดแค่นั้น เพราะเมื่อวันพุธที่ผ่านมาในช่วงบ่ายก็ปรากฏข่าว สมหมาย ภาษี ยื่นหนังสือไขก๊อกจากเก้าอี้รัฐมนตรีคลัง พร้อมด้วย พลเอกวิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยรายแรกให้เหตุผลว่าป่วยเป็นมะเร็งต้องไปรักษา ขณะที่รายหลังอ้างว่า“ทำงานไม่ไหว” สุดท้ายทั้งคู่ต่างออกมาปฏิเสธว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง
เมื่อสืบค้นไปยังต้นตอของข่าวปล่อยที่ออกมาแล้ว พบว่าเป็นสื่อที่ยกมือสนับสนุนรัฐบาลคสช.อย่างออกนอกหน้าอยู่แล้ว พอมีประเด็นเช่นนี้เกิดขึ้น จึงอดไม่ได้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับขั้วอำนาจที่กำลังแก่งแย่งช่วงชิงกันอยู่เวลานี้ แน่นอนว่า ไม่ได้เป็นเรื่องของบุคคลอื่น แต่เป็นเรื่องของคนที่มีอำนาจเต็มอย่างบิ๊กตู่ กับผู้ที่คิดว่ามีอำนาจสั่งการหรือขออะไรก็ต้องให้
อีกมุมการเจตนาปล่อยข่าวในลักษณะเช่นนี้ เสมือนต้องการให้เกิดการกินแหนงแคลงใจกันภายในกลุ่มบูรพาพยัคฆ์ เพราะอย่างที่รู้กันว่า หม่อมอุ๋ยและทีมเศรษฐกิจนั้นเข้ามาแม้จะบอกว่าจากได้รับการทาบทามโดยบิ๊กตู่ แต่ผู้ที่อยู่เบื้องหลังจริงๆ ก็คือพี่ใหญ่อย่าง “บิ๊กป้อม” พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่นเอง พอเกิดข่าวเช่นนี้ผู้มีอำนาจเต็มจึงประกาศทันควันทั้งหมดทั้งมวลขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของตนคนเดียว
ส่วนชะตากรรมจากนี้ไปของบรรดาทีมเศรษฐกิจรัฐบาลจะเป็นอย่างไร มองหน้ากันติดหรือไม่ในการประชุมครม. คงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะที่ผ่านมาบิ๊กตู่ก็เล่นหยอกแรงๆ กับหม่อมอุ๋ยไปหลายดอก ชนิดว่าตอกทีหน้าหงายไปเลยก็แล้วกัน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ข่าวที่เกิดขึ้นภาคเอกชน ภาคธุรกิจขานรับหรือไม่ ตรงนี้ต่างหากที่จะเป็นดัชนีชี้วัดความอึดอัดและเป็นตัววัดผลความสำเร็จต่องานแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล
กล่าวสำหรับในรายของหม่อมอุ๋ยยังโชคดีที่ว่ารอบนี้ไม่โดนด่าฟรี เมื่อลูกชายหัวแก้วหัวแหวนที่มีทัศนคติทางการเมืองแตกต่างจากผู้เป็นพ่อลิบลับอย่าง “หม่อมปลื้ม” หม่อมหลวงณัฐกรณ์ เทวกุล ทวีตข้อความปกป้องบิดาด้วยการยกผลงาน 15 ด้านที่เป็นฝีมือของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลคสช. ซึ่งแน่นอนว่าท่าทีเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกและผิดปกติ ลูกยังไงก็ต้องรักและปกป้องพ่อ
ขณะที่กรณีหม่อมอุ๋ยพาดพิงถึงบิ๊กตู่ว่าไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจ หากเป็นจริงก็ไม่ผิดเหมือนกัน เพราะนั่นเป็นข้อเท็จจริง เนื่องจากบิ๊กตู่เป็นทหารอาชีพ คลุกคลีกับความมั่นคงและผู้นำประเทศไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง พูดสั่งสอนประชาชนได้ทุกวัน แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องบริหารจัดการ กระตุ้น ดึงความสามารถของรัฐมนตรีออกมาสร้างประโยชน์กับประชาชนให้ได้
หากจะค้นหาความผิดของคนทั้งคู่ คงเป็นกรณีที่พลเอกประยุทธ์ผิดที่ไปยึดอำนาจประชาชนและควบคุมประชาธิปไตยไว้ ขณะที่หม่อมอุ๋ยก็เลือกเส้นทางการเมืองโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นมาตั้งแต่คราวรัฐบาลขิงแก่หลังการรัฐบาลประหาร 19 กันยายน 2549 แล้ว นั่นเท่ากับเป็นการสนับสนุนวิธีการที่ผิดมาแย่งชิงเหยียบย่ำสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ขณะเดียวกันก็เกิดคำถามตามมาว่า หากหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลเก่งจริงและมีความสามารถตามที่กล่าวอ้าง ทำไมจึงไม่ใช้ความที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ไร้แรงต่อต้าน ไม่มีการตรวจสอบ มาสร้างงานแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ประชาชนได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ให้สมกับมือวางอันดับหนึ่งของรัฐบาลรัฐประหาร เหตุผลเรื่องไม่ใช่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่น่าจะใช่อุปสรรค
ถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จนมาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หม่อมอุ๋ยได้ออกมาวิจารณ์รัฐบาลจากการเลือกตั้งของประชาชน ตำหนิการทำงานของรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยแบบสาดเสียเทเสีย ไม่ใช่การวิจารณ์โดยสร้างสรรค์ ไม่ใช่เป็นการติเพื่อก่อ แต่เป็นการโจมตีเพียงมุ่งให้เกิดผลทางการเมือง และกระตุ้นให้กลุ่มอำนาจออกมาโค่นล้มรัฐบาลเลือกตั้งเป็นด้านหลักเท่านั้น
นั่นเท่ากับว่า กระบี่มือหนึ่งที่คณะรัฐประหารไว้วางใจนับตั้งแต่รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อปี 2550 ก็ปรากฏชัดว่าหม่อมอุ๋ยไม่มีผลงานออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน จนต้องลาออก เมื่อกลับมาภาคใหม่ภายใต้รัฐบาลคสช.ที่มีการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดกว่าหลายเท่าตัว กลับกลายเป็นว่าคนที่ถูกมองว่าเป็น “กูรู” กลับถูกกระแสเสียงวิจารณ์อย่างหนัก พร้อมๆ แรงกดดันให้นายกฯปลดออกส่งกลับรูไปนั่งเป็นนักวิจารณ์เหมือนเดิม
เมื่อพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้ว จะเห็นได้ว่า ท้ายที่สุด หม่อมอุ๋ยไม่ต่างอะไรจากผู้แพ้ที่พยายามจะเข้ามาเป็นฮีโร่ บนความเชื่อที่ว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยดีอยู่แล้ว ไม่ว่าการเมืองจะปกครองด้วยระบอบไหนก็เดินหน้าต่อไปได้ น่าจะเป็นบทพิสูจน์แล้วว่าทฤษฎีนี้ไม่เป็นความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร อย่างไรก็เสียก็มีข้อจำกัดในการคบค้าสมาคมกับประชาคมโลกหลายประการ