หม่อมอุ๋ย กับ แบงก์ชาติพลวัตปี 2015

คงต้องพูดถึงหม่อมอุ๋ย หรือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กันสักครั้ง ไม่ใช่เรื่องของข้อถกเถียงว่าพูดจริงหรือไม่ ในกรณีคลิป “นายกรัฐมนตรี ไม่เข้าใจเรื่องเศรษฐกิจ แล้วยังนำไปพูดตอบนักข่าวทุกเรื่อง" แต่เป็นเรื่องอื่นที่น่าอันตรายยิ่งกว่า


คงต้องพูดถึงหม่อมอุ๋ย หรือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กันสักครั้ง

ไม่ใช่เรื่องของข้อถกเถียงว่าพูดจริงหรือไม่ ในกรณีคลิป “นายกรัฐมนตรี ไม่เข้าใจเรื่องเศรษฐกิจ แล้วยังนำไปพูดตอบนักข่าวทุกเรื่อง” แต่เป็นเรื่องอื่นที่น่าอันตรายยิ่งกว่า

ในการบรรยายต่อสมาคมธนาคารไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม หม่อมอุ๋ยได้ระบุด้วยความมั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัว 3% ของจีดีพีแน่นอน โดยจะใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการส่งออก 

ตรงนี้แหละ ที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง ใน 2 ด้านพร้อมกันไปคือ

1)นโยบายใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการส่งออก เป็นอะไรไม่ได้เลย นอกจากการเจตนาทำให้บาทอ่อนค่าลง ซึ่งหมายถึงการเข้าสู่สงครามค่าเงินนั่นเอง

2)เครื่องมือสำคัญที่จะทำให้มาตรการดังกล่าวบรรลุได้คือ ธนาคารกลาง  ทำให้เกิดคำถามว่า ความเป็นอิสระของธนาคารกลาง ที่ชอบอ้างกันนักหนาเวลาที่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งขึ้นสู่อำนาจ ได้ถูกละทิ้งไปโดยพฤตินัยแล้ว หรืออย่างไร

ในข้อแรก สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์โดยเฉพาะในช่วงต้นปี 2556  ค่าเงินบาทแข็งค่ารุนแรงจากการไหลเข้าของทุนเก็งกำไรต่างชาติที่ไหลเข้ามาเกินขนาด จนผู้ส่งออกเดือดร้อนหนัก เพราะทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศสูงมาก ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยสูง สวนทางกับการที่ชาติต่างๆ กำลังตั้งหน้าตั้งตาลดดอกเบี้ยลงเพื่อให้ค่าเงินท้องถิ่นอ่อนลง จนมีความกังวลว่าโลกจะเกิดสงครามค่าเงิน หรือ Currency War ทำให้มีข้อเรียกร้องให้แบงก์ชาติใช้ดอกเบี้ยยืดหยุ่นมากขึ้น

สงครามค่าเงิน กระทำโดยการแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อให้เงินอ่อนค่าลง รักษาความได้เปรียบในการแข่งขันทางการค้า ซึ่งเงินหยวนจีน เงินเยนญี่ปุ่น  และเงินสกุลต่างๆ ทั่วโลก แม้กระทั่งดอลลาร์สหรัฐ กับ ยูโร ล้วนถูกมาตรการทางการเงินทั้งโดยตรงและอ้อม (การเพิ่มปริมาณเงินในตลาด ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือ การแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนผ่านกลไกต่างๆ) ผสมมาตรการทางการคลัง (ลดภาษี ทำงบประมาณขาดดุล) เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ภายใต้นิยามที่สวยหรูว่า การใช้มาตรการปกป้องค่าเงิน

ข้อเรียกร้องของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพื่อให้ใช้นโยบายการเงินอย่างยืดหยุ่น เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในขณะนั้น ได้รับการเมินเฉยจากผู้บริหารแบงก์ชาติ โดยอ้างถึงความศักดิ์สิทธิ์ของ “เป้าหมายเงินเฟ้อ” พร้อมระบุว่า ธนาคารกลางมีพันธกิจในการยึดถือหลักการสร้างเสถียรภาพทางตลาดเงินมากกว่าอย่างอื่น แล้วก็ตอกย้ำว่า ผู้บริหารแบงก์ชาติมีความชอบธรรมในการรักษาความเป็นอิสระของนายธนาคารกลาง

เหตุผลในขณะนั้นของแบงก์ชาติคือ การลดดอกเบี้ยจะทำให้กำลังซื้อในตลาดเพิ่มขึ้น(โดยเฉพาะภาคส่วนที่แบงก์ชาติไม่สามารถควบคุมได้ นั่นคือ หนี้สินภาคครัวเรือน) ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น จึงไม่เห็นด้วยกับการใช้ค่าเงินเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการส่งออก ซึ่งอีกนัยหนึ่งคือการทำสงครามค่าเงิน

ผู้บริหารแบงก์ชาติในขณะนั้น ได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขัน จากกลุ่มคนในวงธนาคาร-การเงิน ธุรกิจเอกชน นักวิชาการ เทคโนแครตภาครัฐ และสื่อมวลชน  (รวมทั้งหม่อมอุ๋ยด้วย) ในฐานะ “พระเอก” ของเสถียรภาพทางการเงิน ในขณะที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็น “ผู้ร้าย” ที่เป็นตัวแทนของประชานิยมอันน่ารังเกียจ

วันนี้ เมื่อการส่งออกของไทยเข้าตาจน ติดลบต่อเนื่องทุกเดือน ในห้วงยามที่เศรษฐกิจโลกย่ำแย่ สินค้าโภคภัณฑ์ราคาตกต่ำ และคู่ค้าหลายประเทศเข้าสู่ภาวะเงินฝืด หม่อมอุ๋ยคงจะลืมหรือแสร้งลืมไปว่า เคยพูดอะไรเอาไว้

ความเชื่อว่า การเร่งปริมาณส่งออกสินค้าอาจทำได้ยาก แต่การใช้ค่าเงินมาทำพรางให้ตัวเลขส่งออกดูดีขึ้น เป็นมายากลที่สามารถทำได้ เพราะแม้ตัวเลขส่งออกที่เป็นเงินดอลลาร์หรือยูโรจะย่ำแย่ แต่หากค่าบาทอ่อนลง ตัวเลขส่งออกในรูปเงินบาทจะสวยงามกว่าความเป็นจริง

มาตรการใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการส่งออก  จึงไม่ต่างอะไรกับการแต่งบัญชีจอมปลอมขึ้นมาใช้กล่าวอ้างเป็นผลงานได้ แต่ผลพวงข้างเคียงทางลบของการทำเช่นนี้จะตามมาสารพัด กลายเป็นบูมเมอแรงย้อนกลับ หากว่า กลไกของหน่วยงานรัฐไทยโดยเฉพาะแบงก์ชาติขาดความสามารถมากเพียงพอในการควบคุมสถานการณ์ที่จะต่อสู้กับตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเคยมีบทเรียนมาแล้วในวิกฤตต้มยำกุ้ง ว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะชนะ

บทเรียนจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่แบงก์ชาติเข้าต่อสู้กับกองทุนเฮดจ์ฟันด์ระดับโลกในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนจนขาดทุนยับเยินเมื่อปี 2540 และพาเศรษฐกิจไทยพังพินาศสุดในประวัติศาสตร์ น่าจะทำให้ความสุ่มเสี่ยงบนเส้นทางที่หม่อมอุ๋ยกำลังมุ่งไป ต้องได้รับการทบทวนโดยเร็ว ก่อนจะสายเกินไป แม้โดยพื้นฐานของไทยปัจจุบันยังคงแข็งแกร่งเพราะมีทุนสำรองระหว่างประเทศที่ 1.9 แสนล้านดอลลาร์ และหนี้ต่างประเทศที่ 1.4 แสนล้านดอลลาร์ก็ตาม

ส่วนการใช้นโยบายหรือมาตรการดังกล่าวของหม่อมอุ๋ย เรียกร้องต้องการเครื่องมือสำคัญเพื่อขับเคลื่อนคือ แบงก์ชาติ เพื่อให้ทำภารกิจในการกำกับดูแลนโยบายการเงินของประเทศ ผ่านคณะกรรมการต่างๆ ที่อ้างว่า “เป็นอิสระ”

ที่ผ่านมา สังคมไทยไม่เคยได้เห็นท่าทีชัดเจนของแบงก์ชาติในการกระตุ้นการส่งออกด้วยอัตราแลกเปลี่ยนโดยตรง เพราะทุกครั้งที่แบงก์ชาติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งทำมาแล้วถึง 3 ครั้งในรอบ 1 ปี นับแต่เดือนพฤศจิกายนปีก่อน และอีก 2 ครั้งในเดือนมีนาคม และเมษายนปีนี้  มีคำอธิบายด้วยเหตุผลเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวในอัตราต่ำ จากผลพวงของการส่งออก และการบริโภคภาคเอกชนที่อ่อนแรงกว่าคาด ไม่เคยอ้างเลยว่า จะทำให้บาทอ่อนค่าเพื่อกระตุ้นความสามารถในการแข่งขัน

คำกล่าวของหม่อมอุ๋ย ที่ว่าจะใช้นโยบายเงินบาทอ่อนเพื่อทำให้การส่งออกบรรลุเป้าหมาย 3% จึงต่างจากท่าทีของผู้บริหารแบงก์ชาติ และเป็นโจทย์ที่ต้องตั้งคำถามว่า ผู้บริหารแบงก์ชาติ ได้ซ่อนเร้นอำพรางเหตุผลในนโยบายการเงิน หรือร่วมสมคบคิดกับหม่อมอุ๋ย งุบงิบการเปลี่ยนนโยบายเป้าหมายเงินเฟ้อที่ยึดถือเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์เสียแล้ว ซึ่งไม่อาจถือเป็นเรื่องปกติ

หม่อมอุ๋ย หรือ ผู้บริหารแบงก์ชาติ ต้องตอบข้อสงสัยนี้ให้ชัดเจน ก่อนจะพากันเข้ารกเข้าพงสุ่มเสี่ยงบานปลาย

Back to top button