พาราสาวะถี

วันนี้ถ้าไม่มีอะไรมาแทรก เราคงจะได้เห็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาญัตติด่วนที่ค้างเติ่งมาหลายสัปดาห์ว่าด้วยการเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับสืบทอดอำนาจ) โดยจำนวนกรรมาธิการนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงเคาะกันที่ 49 คน ส่วนที่ยังเป็นประเด็นคือ ผู้ที่จะมาทำหน้าที่ประธานกรรมาธิการชุดนี้หวยจะออกที่คนของพรรคพลังประชารัฐหรือประชาธิปัตย์


อรชุน

วันนี้ถ้าไม่มีอะไรมาแทรก เราคงจะได้เห็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาญัตติด่วนที่ค้างเติ่งมาหลายสัปดาห์ว่าด้วยการเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับสืบทอดอำนาจ) โดยจำนวนกรรมาธิการนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงเคาะกันที่ 49 คน ส่วนที่ยังเป็นประเด็นคือ ผู้ที่จะมาทำหน้าที่ประธานกรรมาธิการชุดนี้หวยจะออกที่คนของพรรคพลังประชารัฐหรือประชาธิปัตย์

ชัดเจนว่าพรรคเก่าแก่ยืนยันรายชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะที่พรรคสืบทอดอำนาจจากแรกเริ่มมีแค่ชื่อของ “ตี๋กร่าง” สุชาติ ตันเจริญ ที่มีหัวโขนรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ช่วงหลังมีความพยายามดันชื่อ ไพบูลย์ นิติตะวัน ที่แม้จะเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ พลังประชารัฐ แต่ถูกเสนอชื่อเป็นกรรมาธิการในโควตาคณะรัฐมนตรีให้ มาเป็นแคนดิเดตอีกราย ซึ่งหากฟังจากน้ำเสียงของฝ่ายกุมอำนาจดูเหมือนว่าอยากจะได้คนนอกที่ไม่ใช่นักการเมืองมากุมบังเหียนคณะกรรมาธิการชุดนี้มากกว่า

จะว่าไปแค่บทเริ่มต้นก็มองเห็นปมความขัดแย้งรออยู่เบื้องหน้า แน่นอนว่า ประเด็นของเก้าอี้ประธานกรรมาธิการไม่ใช่ตำแหน่งที่ฝ่ายค้านมีความประสงค์อยากได้ จึงโยนไปให้เป็นเผือกร้อนในมือของพรรคร่วมรัฐบาล มิหนำซ้ำ ยังช่วยกันชูมือหนุนอภิสิทธิ์ด้วยความเต็มใจ ทั้งที่รู้กันอยู่ว่าก่อนหน้านั้นมีบาดแผลที่ค้างคาใจกันอยู่ก็ตาม แต่เพื่อขจัดอุปสรรคอันเกิดจากการวางกับดักของขบวนการสืบทอดอำนาจ จึงจำเป็นต้องสงวนจุดต่างกันไว้ก่อน

ปัญหาตอนนี้จึงอยู่ที่ว่าพรรคแกนนำรัฐบาลจะยังหวงเก้าอี้ตัวนี้ไว้อย่างนั้นหรือ การยืนยันว่าจะเอาให้ได้ อ้างมารยาทว่าตำแหน่งนี้ต้องเป็นของพรรคแกนนำ ก็เท่ากับเป็นการมองไม่เห็นหัวพรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์ที่มีความประสงค์ต้องการให้อดีตหัวหน้าพรรคได้แสดงบทบาทผ่านคณะกรรมาธิการชุดนี้ ในเมื่อเพื่อนไม่ยอมปล่อย ด้วยบุคลิกของพรรคเก่าแก่ก็เชื่อได้ว่าอาจจะยอม แต่กระบวนการทำงานร่วมกันหลังจากนี้คงจะมีประเด็นให้ขัดคอกันได้ง่ายมากขึ้น

ต้องอย่าลืมว่า การทำงานร่วมกันปัจจุบันนี้ก็มีปัญหาอยู่แล้ว โดยเฉพาะงานด้านเศรษฐกิจ ยิ่งการออกมาพูดล่าสุดของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เรื่องการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนทำได้ไม่เต็มที่ เพราะตัวเองมีอำนาจคุมแค่ขาเดียวคือกระทรวงการคลัง ยิ่งเป็นการตอกย้ำภาพของความไร้เอกภาพ ซึ่งคนที่พูดอาจจะไม่ได้คิดหรือลืมไปว่า หัวหน้าทีมเศรษฐกิจนั้นคือผู้นำที่เคยถืออำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และทุกคนทุกฝ่ายต้องเกรงใจอย่างเป็นพิเศษ

การออกมารับชอบเฉพาะงานในมือที่ตัวเองกำกับดูแล ก็เท่ากับโยนภาระงานอย่างอื่นที่ยังมีเครื่องหมายคำถามไปไว้บนบ่าเพื่อน และเป็นการฟ้องประชาชนไปในตัวว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ไม่มีคำว่าทีมเวิร์ก ต่างคนต่างทำ ต่างฝ่ายต่างคิด เช่นนี้แล้วประชาชนคงคิดกันต่อไปได้ว่า ปัญหาปากท้องที่กำลังเผชิญอยู่จะคาดหวัง ฝากผีฝากไข้ไว้ได้หรือไม่

ยิ่งมาได้ฟัง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่นั่งหัวโต๊ะประชุมครม.วันวาน ออกมายืนยันว่าไม่มีขัดแย้ง ในทีมเศรษฐกิจรัฐบาล มันยิ่งทำให้คนมองไปอีกทาง คือเข้าใจได้ว่ามีความพยายามทำทุกอย่างให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ แต่ปัญหาก็คือ เป็นความพยายามในแนวทางที่เป็นไปตามเป้าหมายของแต่ละพรรค หวังผลในแง่ของคะแนนนิยมที่จะมีผลต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป และการพูดของสมคิดหนล่าก็น่าจะเป็นการทำให้พรรคร่วมรัฐบาลหวาดระแวงหนักเข้าไปอีก

ความเป็นจริงก่อนจัดตั้งรัฐบาลและเป็นเหตุให้การตั้งรัฐบาลล่าช้า ก็คือความพยายามของพรรคสืบทอดอำนาจในการที่จะรวบกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญไว้ในมือ แต่ทั้งประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยไม่ยอมเซย์เยส นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญอีกประการที่ทำให้เกิดการใช้สื่อในมือโจมตีรัฐมนตรีของพรรคร่วมที่คุมกระทรวงเกรดเอ และคงไม่หยุดแค่นั้น เพราะหากทำสำเร็จนั่นหมายความว่า จะสามารถตีป้อมค่ายยึดเก้าอี้สำคัญมาคืนให้กับพรรคสืบทอดอำนาจได้ตามเป้าหมายกันเลยทีเดียว

ด้วยความที่ทันกัน พรรคภูมิใจไทยจึงให้ส.ส.ของพรรคไปฟ้องร้องเป็นคดีไปทั่วประเทศ อยู่ที่ว่าใครจะอึดและทนกว่ากัน สุดท้ายอาจจะมีการใช้ออปชันพิเศษที่แม้แต่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็ยังเกรงใจ เพียงแค่ชั่วระยะเวลาไม่กี่เดือนก็เห็นบาดแผล ความบาดหมางภายในรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำกันเสียแล้ว สนิมในเรือเหล็กที่คนอย่าง วิษณุ เครืองาม ห่วงนักห่วงหนา ดูท่าว่าจะกัดกร่อนตัวเรือให้ผุพังเร็วกว่าปกติ อยู่ที่ว่าจะสามารถซ่อมแซม ประคับประคองให้เรือแล่นไปถึงฝั่ง โดยไม่เกิดการล่มกลางทางได้หรือไม่

การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของพรรคฝ่ายค้านที่โหมโรงกันคึกคักก่อนหน้านั้น ขีดวันกันไว้เสร็จสรรพว่าน่าจะเป็น 18-20 ธันวาคมนี้ ทำท่าว่าจะเป็นหมันเสียแล้ว ด้วยเหตุและปัจจัยที่น่าเห็นใจอยู่ไม่น้อย ประการหนึ่งคือการเลือกตั้งซ่อมส.ส.ขอนแก่น เขต 7 ที่กกต.ประกาศมาแล้วว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 22 ธันวาคม นั่นหมายความว่า ถ้าซักฟอกลากรัฐมนตรีขึ้นเขียงของฝ่ายค้านเชือดไม่สำเร็จ มันจะกลายเป็นกระแสตีกลับทำให้คะแนนไหลไปฝั่งตรงข้ามไปเสียฉิบ

อีกประการที่ทำให้เกิดการลังเล คงเป็นประเด็นเกี่ยวกับวงรอบการนับช่วงเวลา 1 ปีที่ฝ่ายค้านจะสามารถยื่นซักฟอกได้ 1 ครั้งว่า นับตามปีปฏิทินหรือปีรอบสมัยประชุมสภาฯ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจะครบรอบ 1 ปีสมัยประชุมสภาฯ ในเดือนพฤษภาคมปีหน้า ถ้าฝ่ายค้านรีบยื่นไปตั้งแต่ตอนนี้ก็หมายความว่า ปีหน้ารัฐบาลก็จะมีเวลาหายใจหายคอ ทำงานได้สบายโดยไร้การรบกวนในสภาฯ ดังนั้น จึงต้องคิดกันหนักว่าจะเดินเกมกันแบบไหน เพราะความหัวหมอของรัฐบาลนั้นเป็นที่ประจักษ์มาแล้วคราวอภิปรายปมถวายสัตย์ฯ

จึงมีความเป็นไปได้ว่าพรรคฝ่ายค้านต้องดึงจังหวะการซักฟอกออกไปก่อน แล้วไปทุ่มให้กับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการระดมพลเพื่อกำชัยชนะในการเลือกตั้งซ่อมที่ขอนแก่น หนนี้ไม่ได้มีแค่คะแนนที่คนของเพื่อไทยชนะพรรคสืบทอดอำนาจไปแค่ 3 พันกว่าคะแนนในรอบก่อน แต่ยังมีหมื่นกว่าเสียงของพรรคอนาคตใหม่และประชาชาติที่ไม่ส่งคนลงสมัครว่าจะสวิงหรือเทไปให้ตัวแทนฝ่ายค้านหรือไม่ ผลจากการเลือกตั้งที่เขต 5 นครปฐม น่าจะเป็นการบ้านให้พรรคนายใหญ่ไปแก้โจทย์กันได้

Back to top button