WeWork จุดจบหุ้นกระแส.!

ชัดเจนแล้วว่า WeWork บริษัทสตาร์ตอัพให้เช่าพื้นที่สำนักงานยักษ์ใหญ่ มีการปลดพนักงานทั้งหมด 2,400 คน หรือคิดเป็น 20% หรือ 1 ใน 5 จากทั้งหมด ปัจจุบัน WeWork มีพนักงานทั่วโลกประมาณ 12,500 คน หลังจากมีข่าวก่อนหน้านี้ว่า WeWork ต้องการปลดพนักงาน แต่ติดปัญหาไม่มีเงินจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย จึงจำเป็นต้องเลื่อนแผนการปลดพนักงานออกไปก่อน


พลวัตปี 2019 : สุภชัย ปกป้อง

ชัดเจนแล้วว่า WeWork บริษัทสตาร์ตอัพให้เช่าพื้นที่สำนักงานยักษ์ใหญ่ มีการปลดพนักงานทั้งหมด 2,400 คน หรือคิดเป็น 20% หรือ 1 ใน 5 จากทั้งหมด ปัจจุบัน WeWork มีพนักงานทั่วโลกประมาณ 12,500 คน หลังจากมีข่าวก่อนหน้านี้ว่า WeWork ต้องการปลดพนักงาน แต่ติดปัญหาไม่มีเงินจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย จึงจำเป็นต้องเลื่อนแผนการปลดพนักงานออกไปก่อน

สำหรับ WeWork ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ. 2010 (ปีพ.ศ. 2553) โดย Adam Neumann, Rebekah Neumann และ Miguel McKelvey ทำธุรกิจให้เช่าออฟฟิศ ด้วยการเช่าพื้นที่จากเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ตกแต่งและปล่อยเช่าอีกต่อหนึ่ง โดยอาศัยกระแส Tech Startup กำลังมาแรง

จึงเรียกตัวเองว่า..เป็น Tech Startup ที่ให้บริการโคเวิร์กกิ้งสเปซ ช่วงแรกมีบริษัทใหญ่อย่าง JP Morgan และ Goldman Sachs มาร่วมลงทุน ก่อนได้รับเงินทุนก้อนใหญ่ จาก SoftBank และ SoftBank Vision Fund มาร่วมลงทุน 3 ครั้ง รวมเป็นเงินประมาณ 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 240,000 ล้านบาท) จึงทำให้ WeWork เติบโตแบบก้าวกระโดด มีการให้บริการทั้งหมด 122 เมือง จาก 38 ประเทศทั่วโลก มีสมาชิกกว่า 268,000 คน

จากอัตราการเติบโต ทำให้ WeWork กลายเป็น “สตาร์ตอัพยูนิคอร์น” ที่กำลังมาแรง มีการประเมินมูลค่าบริษัทสูงกว่า 47,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท)

จุดหักเหของ WeWork มีการเตรียมจำหน่ายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) เพื่อนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐฯ นั่นจึงทำให้ได้เห็น “เนื้อแท้” ของ WeWork จากเอกสารไฟลิ่งที่ยื่นให้ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ

ปรากฏว่าปี 2016 มีผลขาดทุน 429 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากรายได้ 436 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2017 มีผลขาดทุน 890 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากรายได้ 886 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2018 มีผลขาดทุน 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากรายได้ 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนครึ่งแรกปี 2019 มีผลขาดทุน 904 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากรายได้ 1,540 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

หลังจากผู้บริหารพยายามนำหุ้น WeWork เสนอขายต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก (IPO) แต่บริษัทมีผลประกอบการที่ขาดทุน ทำให้นักลงทุนสูญเสียความมั่นใจกับการลงทุนหุ้น WeWork จนเป็นหนึ่งเหตุให้ Adam Neumann หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ลาออกจากตำแหน่ง

แต่สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้นอีก เมื่อตัวผลประกอบการไตรมาส 3/62 มีผลขาดทุน 1,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากรายได้ 945 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขาดทุนเพิ่มขึ้น 150% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ทำให้มูลค่าของ WeWork ที่เคยสูงกว่า 47,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงอย่างรวดเร็วกว่า 80% ภายในเวลาเพียงไม่กี่เดือน เหลือประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ WeWork ยื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ เพื่อขอยกเลิกแผนการขายหุ้น IPO เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ถือเป็นบทเรียน “หุ้นกระแส” ที่กำลังเห่อตามเทรนด์อยู่ขณะนี้..หรือ “บริษัทสตาร์ตอัพ” ที่ฉกฉวยจังหวะแรงเห่อเพื่อขยายธุรกิจมากจนเกินไป แต่เจาะลึกเข้าไปข้างในแก่นแท้งบการเงินบริษัท กลับพบว่ามี “ขยะอยู่ใต้พื้นพรม” ยากแก่การเยียวยา..และนำไปสู่จุดจบเช่นเดียว WeWork นั่นเอง..!!

Back to top button