ต้องเติมเสน่ห์ตลาดหุ้น

แพ็กเกจสุดท้ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เผยโฉมออกมาแล้ว หนีไม่พ้นมาตรการซานตาคลอส แจกสะบั้นหั่นแหลก อันเคยชินเคยมือ และคิดอย่างอื่นไม่เป็นจริง ๆ


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

แพ็กเกจสุดท้ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เผยโฉมออกมาแล้ว หนีไม่พ้นมาตรการซานตาคลอส แจกสะบั้นหั่นแหลก อันเคยชินเคยมือ และคิดอย่างอื่นไม่เป็นจริง ๆ

อันได้แก่ เติมเงินใส่กองทุนหมู่บ้านแห่งละ 2 แสนบาท ขณะเดียวกันก็พักชำระหนี้กองทุนหมู่บ้าน 1 ปี, ช่วยค่าเกี่ยวข้าวนาปีครัวเรือนละ 20 ไร่ ไร่ละ 500 บาท รวมช่วยชาวนา 4.57 ล้านครัวเรือน วงเงิน 4.57 หมื่นล้านบาท และโครงการ “บ้านดี มีดาวน์” แจกเงินฟรีเงินดาวน์แก่ผู้ซื้อบ้านใหม่รายละ 50,000 บาท จำนวน 1 แสนคน

ในขณะที่ปัญหายางพารา 5 กิโลร้อย, ปัญหาส่งออกลำบาก ขาเอาเงินกลับก็ขาดทุนเพราะค่าบาทแข็ง, อัตราดอกเบี้ยยังสูง ไม่เหมาะกับภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองตอนนี้ หรือการลดราคาน้ำมัน โดยหั่นภาษีสรรพสามิตลงครึ่งหนึ่ง เพื่อลดภาระต้นทุนชีวิตและต้นทุนประกอบการ

ปัญหาเศรษฐกิจหลัก ๆ เช่นนี้ ไม่เคยอยู่ในเรดาร์ความคิดของรัฐบาลนี้ ทั้งในยุคดร.สมคิดเป็นแม่ทัพเศรษฐกิจ จนเปลี่ยนมือมาเป็นแม่ทัพประยุทธ์จริง ๆ

มองดูภาพรวมเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาของรัฐบาลแล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่า ไม่แคล้วปีหน้าจะเป็น “ปีเผาจริง” ซะแล้ว การลงทุนในตลาดหุ้นก็ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง เพราะไม่มีแรงส่งจากบรรยากาศภายนอกเลย

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายงานผลดำเนินงานบริษัทจดทะเบียนงวด 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 62) ปรากฏว่า ทั้งยอดขายและกำไร ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ยอดขาย 9 เดือนแรก 8.62 ล้านล้านบาท ลดลง 1.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และกำไรสุทธิ 6.46 แสนล้านบาท ลดลง 15.4%

แมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ สรุปผลกระทบเชิงลบต่อบริษัทจดทะเบียนมาจากปัญหาสงครามการค้า เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมตกต่ำ ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ทำให้ยอดขายในไตรมาส 3 หดตัวแรง

ยิ่งมาโฟกัสเฉพาะรายไตรมาส 3 ยิ่งเห็นความอ่อนแรงของบริษัทจดทะเบียนอย่างเห็นได้ชัด ตามภาพรวมเศรษฐกิจที่แผ่วจนเกือบจะแน่นิ่งมาตามลำดับ

บจ.ในไตรมาส 3 มียอดขายรวม 2.85 ล้านล้านบาท ลดลง 6.1% มีกำไรจากการดำเนินงานหลัก 2.03 แสนล้านบาท ลดลงถึง 28.9% (หากรวมรายการพิเศษ จะมีกำไรสุทธิ 2.01 แสนล้านบาท ลดลง 18.3%)

ไตรมาส 4 อันจะเป็นตัวชี้วัดผลประกอบการทั้งปี ก็ยังมองไม่เห็นแนวโน้มฟื้นตัว

ขนาด AOT หรือบริษัท ท่าอากาศยานไทย อันอยู่ในธุรกิจผูกขาดและยังมียอดผู้เดินทางคึกคัก ประกาศผลดำเนินงานงวดปี (สิ้นสุด ก.ย. 62) ออกมาแล้ว บริษัทมีรายได้รวม 64,566 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.91% แต่กำไรสุทธิ 25,026 ล้านบาท ลดลง 0.57%

นี่เป็นสิ่งที่ผิดปกติของบริษัทรัฐวิสาหกิจแห่งนี้จริง ๆ

ตลาดหุ้น เมื่อผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนถดถอย ทั้งกำไรลดและการจ่ายเงินปันผลก็ย่อมลดลงด้วย โอกาสจะเล่นหุ้นโดยหวังกำไรจากส่วนต่างราคาหุ้น จะกลายเป็นความเสี่ยงที่สูงมาก

แต่หากยังมีปันผลที่ยังคงระดับเดิมหรือใกล้เคียงให้กับผู้ถือหุ้น แม้ผลประกอบการบริษัทจะลดลง ก็จะช่วยให้ตลาดหุ้นยังคงความคึกคัก ไม่เป็นตลาดหุ้นที่ซบเซา

ปัญหามีทางออกครับ บริษัทใหญ่ ๆ ที่แข็งแรงจำนวนไม่น้อยในตลาด ล้วนแล้วแต่มี “กำไรสะสม” ด้วยกันทั้งนั้น

ก็เจียดกำไรสะสมบางส่วนมาจ่ายเป็นเงินปันผลนั่นแหละ

วิธีการนี้ หลายบริษัทเคยทำมาแล้ว อาทิ INTUCH ADVANC หรือ JAS ฯลฯ เคยทำมาแล้ว ทั้งนี้เพื่อเรียกศรัทธาให้แก่หุ้นตัวเอง และตลาดหุ้นโดยรวม ผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้ถือหุ้นรายย่อย ก็ได้รับประโยชน์ร่วมกันไปด้วย

อย่างเช่นบริษัท IRPC ที่ไตรมาส 3 ขาดทุนไป 1 พันกว่าล้านบาทอย่างเนี้ย มีผู้ถือหุ้นรวมทั้งสิ้นประมาณ 6 หมื่นล้านบาท มีกำไรสะสมอยู่ตั้ง 3.3 หมื่นล้านบาท ถ้าจะปันส่วนกำไรสะสมมาจ่ายเป็นเงินปันผล ก็คงจะชดเชยราคาหุ้นที่ตกต่ำมาได้ไม่น้อย

เป็นหน้าที่ต้องช่วยกันรักษาความคึกคักของตลาดหุ้น ยามเศรษฐกิจโดยรวมและผลประกอบการบริษัทฯถดถอยครับ

Back to top button