หุ้นม้ามืด

บริษัท ร่มโพธิ์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ TITLE เข้าจดทะเบียนในตลาดมาเกือบ 3 ปีแล้ว แต่นักวิเคราะห์แทบจะไม่เคยเอ่ยถึงกันเลยทั้งที่ผลประกอบการดีมาตลอด


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

บริษัท ร่มโพธิ์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ TITLE เข้าจดทะเบียนในตลาดมาเกือบ 3 ปีแล้ว แต่นักวิเคราะห์แทบจะไม่เคยเอ่ยถึงกันเลยทั้งที่ผลประกอบการดีมาตลอด

ปีนี้ไตรมาสสาม TITLE เผยกำไร พุ่ง 424% ทำนิวไฮ จากการโอน The Title หาดในยาง โดยมีตัวเลขกำไรสุทธิ 39.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 424.17% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 7.49 ล้านบาท และรายได้รวมเท่ากับ 223.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 188.75% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 79.44 ล้านบาท

ขณะที่ผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนของปี 62 บริษัทมีกำไรสุทธิ 218.40  ล้านบาท เพิ่มขึ้น 641.59% จากงวดเดียวกันปีก่อนกำไรอยู่ที่ 29.45 ล้านบาท ส่วนรายได้รวมอยู่ที่ 1,096.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 362.46% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวมเท่ากับ 237.14 ล้านบาท

ปัจจัยที่ทำให้ผลการดำเนินงานเติบโตได้ดี เนื่องจากบริษัททยอยรับรู้รายได้จากยอดโอนของโครงการคอนโดมิเนียมได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะโครงการ The Title หาดในยาง เฟส 1 และ เฟส 2 ซึ่งเริ่มโอนตั้งแต่ปีต้นปีนี้

ผลประกอบการที่ดีมากเหนือค่าเฉลี่ยหุ้นกลุ่มเดียวกัน กลับส่งผลดีต่อราคาน้อยมาก ทำให้ล่าสุดค่า พี/อี เหลือแค่ 10 เท่าเศษ ต่ำสุดนับแต่เข้าตลาด ทั้งที่ผู้บริหารอย่าง นายศศิพงษ์ ปิ่นแก้ว จะออกมาตอกย้ำว่าการเติบโตดังกล่าวไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

“ภาพรวมการดำเนินธุรกิจของ TITLE ยังมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด เนื่องจากสามารถทยอยรับรู้ยอดโอนจากโครงการเดิมต่อเนื่องทำให้ที่ผ่านมา บริษัทจึงได้ปรับเพิ่มประมาณการรายได้ปีนี้ขึ้นเป็น 1,200 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 270% จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 324.13 ล้านบาท และมั่นใจว่ารายได้ปีนี้ ยังคงทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ได้อย่างต่อเนื่อง” นายศศิพงษ์ กล่าว แม้จะไม่ได้เอ่ยถึงอัตรากำไรสุทธิอันโดดเด่นจากเดิมเป็นเกือบ 20% จากระดับใต้ 5%

นายศศิพงษ์ กล่าวอีกว่า แม้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจะชะลอตัว แต่ในส่วนของบริษัทในไตรมาส 4 ยังมีปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนได้แก่ พ.ร.บ.ทรัพย์อิงสิทธิ ที่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ช่วยทำให้ลูกค้าต่างชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มหลักของบริษัทมีสัดส่วนสูงถึง 80% จะสามารถทำธุรกรรมการโอน และใช้เป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน รวมทั้งทำให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น

ความชาญฉลาดของการตลาดที่เก็บเงินพรีเซลลูกค้าต่างชาติมากถึง 75%ของราคาขาย ทำให้การเบี้ยวไม่ยอมชำระเงินหรือทิ้งจองต่ำมาก เป็นสิ่งที่ถือเป็นจุดแกร่งสำคัญของการเงิน TITLE ที่ยากจะเลียนแบบ

การตลาดที่ยอดเยี่ยม ผสมกับการที่ภาครัฐฯ ออกมาตรการลดค่าโอนและจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท เริ่มมีผลวันที่ 2 พ.ย. 2562-24 ธ.ค. 2563 เป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ซื้อและผู้ที่ขาย จึงน่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นความต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้เพิ่มขึ้น ดังนั้น การที่โครงการของบริษัท ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ทางเลือกในจังหวัดภูเก็ตก็น่าจะได้รับประโยชน์จากปัจจัยดังกล่าว และจะสนับสนุนการเติบโตในระยะยาว

การเติบโตต่อเนื่องยั่งยืนจากโมเดลธุรกิจที่แปลกจากธุรกิจอสังหาฯ ทั่วไป น่าจะทำให้นักลงทุนเพิ่มความสนใจมากขึ้น แต่เหตุผลของตลาดที่ทำให้ TITLE กลายเป็นหุ้นนอกสายตา อธิบายยากพอสมควร

แม้ว่าสิ่งที่ผู้บริหารตั้งเป้าหมายธุรกิจภายใน 5 ปี (61-65) ให้ TITLE พร้อมก้าวเป็นเบอร์หนึ่ง “อสังหาฯ ทางเลือก” ของจังหวัดภูเก็ตสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยวางเป้ารายได้ในปี 2561-2562 เติบโตเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 100% เมื่อเทียบจากปี 2560 โดยรายได้รวมจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ  600 ล้านบาท และ 900 ล้านบาทตามลำดับ พร้อมกันนี้บริษัทฯ ตั้งเป้ารักษาอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ไม่ต่ำกว่า 40% และรักษาอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ไม่ต่ำกว่า 20% ยังไกลเกินและต้องการเวลาพิสูจน์ แต่ข้อเท็จจริงที่สะท้อนความมุ่งมั่นก็น่าสนใจไม่น้อย

ยอดขายรอโอน (Backlog) ปัจจุบันอยู่ที่ 1,200 ล้านบาท คาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป นอกจากนี้ บริษัทยังมียอดรอการขายอีก 600 ล้านบาท สำหรับแผนธุรกิจปีนี้บริษัทฯ วางแผนเปิดโครงการใหม่จำนวน 2 โครงการ มูลค่า 2,500-3,000 ล้านบาท พร้อมงบซื้อที่ดินไว้ที่ 300-400 ล้านบาท เพื่อรองรับโครงการใหม่ในอนาคตและเพื่อสร้างการเติบโตของบริษัทฯ อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน

ส่วนผลประกอบการในปี 2560 บริษัทฯ มีรายได้รวมอยู่ที่ 293 ล้านบาท และกำไรสุทธิไม่มากนักจากรายได้จากหาดเดียวคือหาดราไวย์ วันนี้และอนาคตที่ TITLE สามารถสร้างและรับรู้รายได้จากพื้นที่ใหม่ ก็เป็นความท้าทายที่ต้องไม่อาจมองข้าม

ราคาปัจจุบันที่ระดับใต้ 3.40 บาท เทียบกับฐานะทางการเงินและการตลาดที่แข็งแกร่ง ใครบอกว่าแพงเกินอาจต้องคิดใหม่

Back to top button