เสถียรภาพที่น่ากลัว
ความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้นักลงทุนกังวลเสถียรภาพ? ยังหรอกครับ รัฐบาลยังไม่ล่มง่าย ๆ เพราะถึงอย่างไร ก็อยู่ใต้กติกาบังคับ เลือกนายกฯ ทีไร 250 ส.ว.ก็โหวตประยุทธ์กลับมา
ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง
ความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้นักลงทุนกังวลเสถียรภาพ? ยังหรอกครับ รัฐบาลยังไม่ล่มง่าย ๆ เพราะถึงอย่างไร ก็อยู่ใต้กติกาบังคับ เลือกนายกฯ ทีไร 250 ส.ว.ก็โหวตประยุทธ์กลับมา
พรรคร่วมรัฐบาลไม่สามารถไปรวมกับพรรคฝ่ายค้าน รวมอย่างไรก็ไม่ถึง 375 เสียง เป็นรัฐบาลก็ไม่ใช่จะอยู่รอด ถ้ากองทัพ ศาล องค์กรอิสระ รัฐราชการ ยืนตรงข้าม
ฉะนั้นก็ต้องร่วมกันไปจนยุบสภา จนครบวาระ หรือจนกว่าจะเกิดวิบัติ เกิดรัฐประหาร เกิดอะไรบางอย่างที่พังทลายเงื่อนไขบังคับ
นี่คือสภาพไม่ปกติ ที่พรรคร่วมรัฐบาลจำฝืนขืนใจอยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะประชาธิปัตย์ ซึ่งร่วมรัฐบาลแบบกึ่งรอโอกาสกึ่งรอสูญพันธุ์ แต่ไปทางอื่นก็ไม่ได้ แม้หาทางดิ้นอยู่เสมอ
ปชป.ชูอภิสิทธิ์เป็นประธานกรรมาธิการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ พปชร.ยื่นคำขาด ต้องเอาคนของพรรคแกนนำ ปชป.ก็ถอยกรูด กระนั้นพอโหวตตั้งกรรมาธิการผลกระทบ ม.44 ส.ส.ปชป. 6 คนก็โหวตเห็นด้วยกับฝ่ายค้าน ซึ่งมีเหตุผล เพราะเป็นผู้เสนอญัตติเช่นกัน
พปชร.ถือตัวว่าเหนือกว่า กุมอำนาจ โดยเฉพาะอำนาจที่ไม่ได้มาจากเลือกตั้ง ไม่จำเป็นต้องแยแสใคร แต่ ปชป.ก็ถือว่ามีอำนาจต่อรอง ด้วยเสียงในสภา แม้ยังอยากร่วมรัฐบาลแตกหักไม่ได้
ภูมิใจไทยก็คล้ายกัน เพียงแต่ ปชป.เป็นคู่แข่งขัน หวิดสูญพันธุ์เพราะแพ้ พปชร.ใน กทม.และภาคใต้
พรรคร่วมรัฐบาลก็จะอยู่กันไปอย่างนี้ ช่วงชิงคะแนนเสียง ผลงาน ผลประโยชน์ แต่ไม่สามารถแตกหักภายใต้เงื่อนบังคับ ยังไง ๆ ก็ต้องประยุทธ์นายกฯ ขณะที่ประยุทธ์ก็จะพร่ำบ่น อย่าเอาการเมืองมาฉุดเศรษฐกิจ ทั้งที่การเมืองแบบนี้แหละ ทำให้ปั่นป่วน โดยไม่สามารถหาทางออกตามวิถีประชาธิปไตย เช่น อยู่ร่วมกันไม่ได้ก็ยุบสภาลาออก
พรรคร่วมไม่แตกง่ายหรอก แต่ความขัดแย้งจะกินลึกไปเรื่อย ๆ จุดชนวนขยายไปในสังคม บ่อนทำลายความเชื่อถือ ยกตัวอย่างการแบน 3 สารเคมี ซึ่งภูมิใจไทยโชว์พระเอกนางเอกขี่กระแสสังคม แต่รัฐบาลปล่อยผ่านไม่ได้ เพราะจะกระทบอย่างรุนแรง ต่อเกษตรกร เกษตรอุตสาหกรรม รวมไปถึงการนำเข้าข้าวสาลี ถั่วเหลือง มาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร บานปลายไปถึงการค้าระหว่างประเทศ
แล้วก็จุดชนวนให้คนชั้นกลางเกษตรอินทรีย์ไม่พอใจ ด่ารัฐบาลยกใหญ่ ขณะที่ภูมิใจไทยลอยตัว คำถามคือทำไมรัฐบาลไม่เบรกอนุทินตั้งแต่แรก ไม่เข้าใจปัญหา โง่เซอะ เพิ่งตื่น หรือว่าเบรกไม่อยู่
กรณี 6 ส.ส.ปชป.ก็เช่นกัน วิปรัฐบาลไม่เข้าใจหรือไร เมื่อยอมให้เสนอญัตติ เขาก็ต้องยกมือสนับสนุนญัตติตัวเอง ไม่สามารถโหวตตามใบสั่งวิปรัฐบาล นี่สะท้อนความอ่อนหัดไม่จัดเจนการเมืองระบอบรัฐสภา
การเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ยังขึ้นกับผลงาน ภาพลักษณ์ ความนิยมหรือความเสื่อมทางการเมือง แบบที่พรรคพลังธรรมโดดหนีรัฐบาลชวนกรณี สปก.4-01 คำถามคือผลงานรัฐบาลตอนนี้เป็นอย่างไร เศรษฐกิจย่ำแย่ยิ่งกระตุ้นยิ่งน่ากังวล ไปทางไหนมีแต่คนบ่น ทางการเมืองทำทุกอย่างเพื่อปกป้องตัวเอง ไม่ยอมให้ตั้งกรรมาธิการศึกษาผลกระทบ ม.44 ตีรวนกรรมาธิการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น ใช้ผู้เล่นทางการเมืองอย่างไพบูลย์ นิติตะวัน, สิระ เจนจาคะ, เอ๋ ปารีณา ซึ่งลงท้ายต้องให้ธรรมนัส ณ ออสเตรเลีย มากระเตงที่ดิน 1,700 ไร่ที่ต้องสงสัยรุกป่า
รัฐบาลไม่ล่มง่าย พรรคร่วมรัฐบาลไม่แตกกันง่าย ๆ ภายใต้กติกาวิปริต 250 ส.ว.เลือกนายกฯ เป็นเสาค้ำเสถียรภาพประยุทธ์ แต่มันเป็นเสถียรภาพที่แข็งขืนจนน่ากลัว เพราะเวลาล่ม ไม่ใช่แค่รัฐบาลแต่จะไปทั้งระบบ จะอยู่ในสภาพที่ไม่มีเสถียรภาพอีกเลย