พาราสาวะถี

หมดช่วงโปรโมชั่นกันเร็วเหลือเกินสำหรับรัฐบาลสืบทอดอำนาจ วันนี้จับคู่เหยียบตาปลากันระหว่างพรรคร่วมในหลายเรื่อง พลังประชารัฐกลับมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ตบหน้าภูมิใจไทยที่แข็งขันต่อการแบน 3 สารพิษ และในเรื่องเดียวกันยังมีปมปัญหาซ้อนคือ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรใต้บังคับบัญชาของรัฐมนตรีช่วยเกษตรและสหกรณ์จากภูมิใจไทย แต่ไปรายงานผลศึกษาก่อนจะไปบอกที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ จากพรรคประชาธิปัตย์


อรชุน

หมดช่วงโปรโมชั่นกันเร็วเหลือเกินสำหรับรัฐบาลสืบทอดอำนาจ วันนี้จับคู่เหยียบตาปลากันระหว่างพรรคร่วมในหลายเรื่อง พลังประชารัฐกลับมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ตบหน้าภูมิใจไทยที่แข็งขันต่อการแบน 3 สารพิษ และในเรื่องเดียวกันยังมีปมปัญหาซ้อนคือ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรใต้บังคับบัญชาของรัฐมนตรีช่วยเกษตรและสหกรณ์จากภูมิใจไทย แต่ไปรายงานผลศึกษาก่อนจะไปบอกที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ จากพรรคประชาธิปัตย์

จนกระทั่ง อนุทิน ชาญวีรกูล ต้องประกาศลั่นขอคืนกรมนี้กลับไปอยู่ในความดูแลของพรรคเก่าแก่ พร้อม ๆ กับคำขู่ที่ว่าถ้าตัวเองเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ รับรองน่าดู ส่วนประเด็นพลิกมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย แม้จะไม่มีการแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวต่อการกระทำของ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการผู้แถลงว่าที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ยืดเวลาแบน 2 สารพิษไป 6 เดือนและจำกัดการใช้สารไกลโฟเซตที่มีคู่ขู่มาจากสหรัฐอเมริกา

แต่การที่เสี่ยหนูบอกว่าคนอื่นไม่กลัวแต่ ผมกลัว” หากการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายไม่ได้มีการลงมติกันจริง จะเป็นปัญหาข้อกฎหมาย เหมือนเป็นการบีบไปในตัว เพราะอย่าลืมว่าการที่มีคณะกรรมการวัตถุอันตราย 1 คนลาออกคือ จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชธรรม แล้วทิ้งบอมบ์ไว้ว่ายืนยันในความเห็นให้แบน 3 สารพิษ พร้อมระบุชัดเจนว่า การประชุมเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมาไม่มีการลงมติแต่อย่างใด

ไม่เพียงเท่านั้น อนุทินยังยืนยันด้วยว่าตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุขที่ไปร่วมเป็นคณะกรรมการวัตถุอันตรายคือ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาหรืออย. ต่างให้มูลตรงกันกับจิราพรว่า ได้ให้ความเห็นแย้งว่า ไม่ได้เห็นด้วยกับมติดังกล่าวตามที่สุริยะได้ประกาศไป และที่ประชุมก็ไม่ได้ยกมือลงมติใด ๆ นั่นจึงเป็นคำถามต่อมาว่า แล้วจะมีใครกล้าหักดิบโดยไม่กลัวการผิดกฎหมายใด ๆ อย่างนั้นหรือ

ความจริงอาการมันออกตั้งแต่คราวที่จะมีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อรอบวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมาแล้ว แต่หนนั้นมีการบีบคอกันว่าต้องให้มีการลงมติแบบเปิดเผยจึงเป็นผลของการแบน 3 สารพิษ แต่การประชุมหนล่าสุด ไม่มีการเปิดเผย มิหนำซ้ำ ฟังคำให้สัมภาษณ์จากคนที่เป็นประธานในที่ประชุมที่บอกว่า ถามที่ประชุมแล้วไม่มีใครมีความเห็นต่าง ก็เลยไม่รู้ว่าท่านนั่งทางในลงมติกันอย่างนั้นหรือ มันเหมือนการมัดมือชกยังไงชอบกล

ประเด็นนี้ ท่าทีของอนุทินอ่านได้ว่าไม่พอใจ แต่ก็จะรอดูต่อไปว่าจะจบกันอย่างไร ขณะที่อีกคู่ขัดแย้งคือพรรคสืบทอดอำนาจกับพรรคเก่าแก่ จากปมปฏิเสธ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ได้นั่งเป็นประธานกรรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงนั้นอาจเล็กไปและคงไม่ได้ติดใจกันมาก ทว่ากรณีที่ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย เสนอญัตติให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหา และกระทบจากการใช้มาตรา 44 ของหัวหน้าคสช.และมีส.ส.ของพรรคอภิปรายสนับสนุนพร้อมโหวตเห็นด้วย

ตรงนี้ต่างหากที่เป็นประเด็นแหลมคม เพราะหากยึดเอาตามมติวิปรัฐบาลคนของประชาธิปัตย์ทั้งหมดต้องโหวตเห็นต่างจากฝ่ายค้าน แต่เมื่อ 6 เสียงยืนกรานในจุดยืน พร้อมกับคำอธิบายที่ว่าสิ่งที่เสนอไม่ได้เหมือนกับที่ฝ่ายค้านเสนอ การนัดหมายเพื่อลงมติใหม่ตามข้อเสนอของวิปรัฐบาลในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสัปดาห์นั้น ทั้งหกคนจะมีท่าทีอย่างไร ถ้าเลือกเสถียรภาพรัฐบาล สร้างภาพว่าสามัคคี ก็ต้องทิ้งอุดมการณ์ของพรรคไป

การไปเที่ยวเรียก จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และ เฉลิมชัย ศรีอ่อน สองรัฐมนตรีของพรรคเก่าแก่พร้อมส.ส.ของพรรคที่ไปร่วมงานยางเอ็กซ์โปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เห็นภาพชัดเจนว่าเกิดแรงกระเพื่อมภายในพรรคร่วม จึงพยายามสร้างภาพว่าสมานฉันท์ไม่มีความขัดแย้ง เพราะคำให้สัมภาษณ์ของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็ยอมรับเองว่า ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายเชื่อว่าจะสามารถพูดคุยกันได้ นั่นหมายความว่ามีความไม่ลงรอยระหว่างกันและต้องหาทางประสาน

ดังนั้น จึงอยู่ที่ว่าจะนัดกินข้าวเคลียร์ใจกันเมื่อไหร่ และแต่ละเรื่องที่ปีนเกลียวกันนั้นจะหาข้อยุติได้หรือไม่ เรื่องอื่นอาจไม่ใช่ปัญหา แต่ปมมาตรา 44 มีคำถามว่าจะจบลงกันอย่างไร ฟัง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็เน้นย้ำแต่เรื่องสปิริต ซึ่งเป็นการตีขลุมเหมารวมว่ามันคือ ความรับผิดชอบของส.ส.ทั้งสภา แต่ว่าสังคมโดยทั่วไปกลับไม่ได้มองเช่นนั้น เรื่องการรักษาองค์ประชุมและการดูแลเสียงในสภาต้องเป็นหน้าที่ของซีกรัฐบาลโดยตรง

ตามที่ วิษณุ เครืองาม เนติบริกรใหญ่ในรัฐบาลยกเอาคำของ ชวน หลีกภัย สมัยเป็นนายกฯ มาอ้าง รัฐบาลไม่ว่าจะเสียงข้างมากข้างน้อย หน้าที่รักษาองค์ประชุมให้ครบนั้นเป็นหน้าที่ของพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายค้านจะเดินออกเดินเข้าห้องประชุม ถือเป็นสิทธิและหน้าที่ของเขา การรักษาองค์ประชุมให้ครบเป็นเรื่องของรัฐบาล แต่คำพูดต่อมาของวิษณุมันก็เป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำให้วิปรัฐบาลทำงานยากนั่นก็คือ ไม่เห็นด้วยที่จะให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญมาศึกษาการใช้มาตรา 44

โดยมุมของเนติบริกรใหญ่อ้างว่าใช้คณะกรรมาธิการสามัญที่มีก็พอแล้ว นี่สะท้อนภาพของการห้ามแตะอดีตผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเป็นอันขาด เพราะความจริงก็รู้กันอยู่ว่าคณะกรรมการสามัญนั้น มีข้อจำกัดทั้งในเรื่องของเวลาและเนื้อหาที่จะพิจารณา ถ้าเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญจะศึกษาได้ละเอียดและลงลึกในเนื้อหาที่ต้องการมากกว่า เมื่อท่าทีของฝ่ายกุมอำนาจเป็นอย่างนี้ ฝ่ายคุมเกมในสภาของซีกรัฐบาลย่อมกุมขมับ เพราะไม่สามารถไปชี้นิ้วสั่งเพื่อนร่วมรัฐบาลได้ทั้งหมด

เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็น่าจะย้อนกลับมายังคำว่าสปิริตที่พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ถามหาและพูดถึง แทนที่จะไปให้ส.ส.มีสปิริตเรื่องสภาล่ม ฝ่ายกุมอำนาจควรแสดงสปิริตเสียเองดีกว่าไหม ด้วยการยอมให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าว ถ้ากลัวว่าตัวเองและผู้นำเผด็จการจะต้องไปตอบคำถามใด ๆ ก็ตั้งมือไม้กฎหมายหรือจะให้เนติบริกรใหญ่ไปชี้แจงแทนก็ไม่น่าจะมีปัญหาใด ๆ เว้นเสียแต่ว่าไม่ชอบและไม่ยอมรับกระบวนการตรวจสอบใด ๆ นั่นก็อีกเรื่อง

Back to top button