ต้นทุนต่ำ..เทคโนโลยีสูง

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีโอกาสร่วมกับคณะสื่อมวลชนและผู้บริหารบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) นำโดย น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ประธานกรรมการ, พิมพ์วิมล วงษ์สุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและเทคโนโลยีสารสนเทศ และวนิดา โรจจวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สำนักบริหารการตลาด เพื่อเยี่ยมชม NTT Docomo R&D Center ศูนย์วิจัยและพัฒนาของ NTT Docomo, Inc.หนึ่งใน 3 ยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคม ณ เมืองคานากาวา ประเทศญี่ปุ่น


พลวัตปี 2019 : สุภชัย ปกป้อง

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีโอกาสร่วมกับคณะสื่อมวลชนและผู้บริหารบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) นำโดย น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ประธานกรรมการ, พิมพ์วิมล วงษ์สุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและเทคโนโลยีสารสนเทศ และวนิดา โรจจวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สำนักบริหารการตลาด เพื่อเยี่ยมชม NTT Docomo R&D Center ศูนย์วิจัยและพัฒนาของ NTT Docomo, Inc.หนึ่งใน 3 ยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคม ณ เมืองคานากาวา ประเทศญี่ปุ่น

ไฮไลต์สำคัญของดูงานครั้งนี้คือการพัฒนาระบบต่าง ๆ เพื่อรองรับ 5G จะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ช่วงปี 2020 สอดรับโจทย์แรกอยู่ที่ “มหกรรมโอลิมปิกกรุงโตเกียวปี 2020” หลังจากก่อนหน้านี้ NTT Docomo ประสบความสำเร็จการทดลองสัญญาณ 5G แบบ stress test กับการใช้งานบนรถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็นของญี่ปุ่น จากผลการทดลองพบว่าสำเร็จไปได้ด้วยดี

“มาซาจิ คาตาคิริ” ผู้จัดการศูนย์เซ็นเตอร์ R&D กล่าวว่า NTT Docomo R&D Center แห่งนี้ มีหน้าที่ในการทำวิจัยข้อมูลและพัฒนาระบบต่าง ๆให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จากเดิมเป็นระบบเก่าที่ไม่ทันสมัย แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาข้อมูลให้มีความทันสมัยมากขึ้น ทั้งด้านการสื่อสาร ระบบขนส่ง และเป็นที่หนึ่งทางด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยคลื่นการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ

แน่นอนว่าข้อมูลด้าน “เทคโนโลยี 5G กับกีฬาโอลิมปิก 2020” ศูนย์แห่งนี้ ถือเป็นความลับสุดยอดที่ NTT Docomo ไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือเรื่องเทคโนโลยีความเป็นจริงเสริมหรือความเป็นจริงเสมือน (Augmented Reality) หรือ AR Code เป็นเทคโนโลยีที่ผสมผสานสื่อดิจิทัลเข้ากับโลกความเป็นจริง ผ่านแอปพลิเคชันหรือโปรแกรม โดยสื่อดิจิทัลจะทำการซ้อนทับไปบนภาพจากกล้อง

นั่นหมายถึงประชาชนที่ไม่สามารถเข้าชมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก แต่ดูผ่านระบบแสดงภาพเคลื่อนไหวเสมือนอยู่ในเหตุการณ์จริง ถือว่าเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ NTT Docomo สร้างขึ้นมาเป็นจุดขายช่วงที่ญี่ปุ่นมีการเปิดใช้บริการ 5G อย่างเป็นทางการช่วงเดือนเม.ย.ปี 2563 หลังจากเริ่มเปิดทดลองใช้ 5G ตั้งแต่เดือนส.ค.ปี 2562

อีกจุดที่น่าสนใจของ NTT Docomo R&D Center นั่นคือเป้าหมายที่ว่าด้วย “ต้นทุนต่ำ เทคโนโลยีสูง” จึงเป็นที่มาของการดึงจุดเด่นจากระบบเทคโนโลยีทั้งเยอรมนี สหรัฐฯ และจีน ในฐานะผู้นำเทคโนโลยีโลก มาผสมผสานกับเทคโนโลยีในอุปกรณ์สื่อสารของญี่ปุ่น

จึงเท่ากับว่า “ไม่จำเป็นต้องสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด แต่นำสิ่งที่มีอยู่มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด” นั่นเอง.!!

จาก “ญี่ปุ่น” ย้อนกลับมาถึงประเทศไทย สิ่งที่เหมือนกันคือระบบ 5G จะเริ่มเปิดใช้บริการอย่างเป็นทางการคือช่วงปี 2563 นั่นหมายถึงมีจุดเริ่มต้นพร้อมกัน..แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าใครจะมีความพร้อมในการออกสตาร์ตได้มากกว่ากันเท่านั้น เอง.!?

Back to top button