เสี่ยขาใหญ่ กับ มาร์เก็ตติ้งสาว
การโอนหุ้นของเสี่ยชูวงษ์ แซ่ตั๊ง หรือ เสี่ยจืด หรือ พี่จืด ของใครบางคนในวงการ ที่เสียชีวิตไปกะทันหัน มูลค่าหลายสิบล้านบาทให้กับผู้แนะนำการลงทุน หรือ มาร์เก็ตติ้งสาว 2 คนที่มีความสัมพันธ์แบบ “วัวเคยขา ม้าเคยขี่” กับของบริษัทหลักทรัพย์ 2 แห่งคือ บล.อาร์เอชบี โอเอสเค จำกัด และบล.เออีซี เป็นมากกว่าเรื่องส่วนตัวที่จำเป็นต้องพูดถึง ไม่สามารถปล่อยให้ผ่านเลยไปได้
การโอนหุ้นของเสี่ยชูวงษ์ แซ่ตั๊ง หรือ เสี่ยจืด หรือ พี่จืด ของใครบางคนในวงการ ที่เสียชีวิตไปกะทันหัน มูลค่าหลายสิบล้านบาทให้กับผู้แนะนำการลงทุน หรือ มาร์เก็ตติ้งสาว 2 คนที่มีความสัมพันธ์แบบ “วัวเคยขา ม้าเคยขี่” กับของบริษัทหลักทรัพย์ 2 แห่งคือ บล.อาร์เอชบี โอเอสเค จำกัด และบล.เออีซี เป็นมากกว่าเรื่องส่วนตัวที่จำเป็นต้องพูดถึง ไม่สามารถปล่อยให้ผ่านเลยไปได้
เหตุผลคือ การโอนหุ้นโดยเสน่หาดังกล่าว เชื่อมโยงกับการทำผิดกฎหมายอย่างน้อย 2 พ.ร.บ.เลยทีเดียวคือ 1) พ.ร.บ.หลักทรัพย์ 2) พ.ร.บ.ต่อต้านการฟอกเงินและต่อต้านการก่อการร้าย
เสี่ยชูวงษ์ นอกจากเป็นเจ้าของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่แล้ว ยังเป็นที่รู้กันว่าเป็นนักลงทุนรายบุคคล “ขาใหญ่” ที่เปิดพอร์ตลงทุนกับหลายโบรกเกอร์ โดยเน้นหนักที่ บล.อาร์เอชบี โอเอสเค จำกัด และบล.เออีซี ในฐานะลูกค้าระดับวีไอพี
วีไอพีแค่ไหน ?
ก็แค่บล.เออีซี เปิดห้องพักในโรงแรมพลาซ่าแอทธินี แถวถนนวิทยุยาวนาน ให้ทำการซื้อขายหุ้นหรือหลักทรัพย์เป็นพิเศษเลยทีเดียว (ส่วนจะใช้ห้องพักทำอะไร แค่ไหน เป็นเรื่องวงใน ที่ไม่ควรล่วงรู้)
เสน่ห์ของลูกค้าเล่นหุ้นระดับวีไอพี (ไม่ว่าหล่อหรือขี้เหร่แค่ไหน) นั้นรุนแรงเสมอสำหรับมาร์เก็ตติ้งสาว ที่จะมีสัมพันธ์ลึกซึ้งเกินเลยจากแค่มาร์เก็ตติ้งกับลูกค้านักลงทุน นิยายน้ำเน่าของสัมพันธ์ที่เกินเลยซึ่งร่ำลือกันมายาวนานในวงการโบรกเกอร์ทุกหนแห่งทั่วโลกจึงเกิดขึ้น ไม่ใช่ครั้งแรก และไม่ใช่รายสุดท้าย
การยอมรับโดยเปิดเผยของน.ส.กัญฐณา ศิวาธนพล พริตตี้สาว เป็นมาร์เก็ตติ้งของอาร์เอชบี โอเอสเคที่อ้างว่า เสี่ยชูวงษ์ โอนหุ้นบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA จำนวน 9.5 ล้านหุ้น มูลค่ากว่า 228 ล้านบาท เข้าพอร์ตซื้อขายโดยตรง“ด้วยความสุจริตและด้วยความเสน่หา” ถึงขั้นตั้งครรภ์ด้วยกันแล้วด้วยซ้ำ และนางสาวอุรชา วชิรกุลฑลมาร์เก็ตติ้งของเออีซี รับโอนหุ้นจากเสี่ยชูวงษ์จำนวนหลายสิบล้านบาทเข้าบัญชีซื้อขายของมารดา จากความสัมพันธ์คบหากันแบบ“แฟน” บอกเงื่อนงำด้านมืดของธุรกิจหลักทรัพย์บางส่วนออกมาหมดเปลือก
ความสัมพันธ์แบบล้ำเส้นเกินเลยนี้เป็นเรื่อง“ปิดกันให้แซด” ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ผู้ควบคุมการปฏิบัติงานหรือ คอมไพลแอ๊นซ์ รวมไปถึงผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ ก็มักเลือกจะหลับตาข้างหนึ่ง ด้านหนึ่งเพื่อรักษาลูกค้าขาใหญ่เอาไว้ยาวนาน อีกด้านหนึ่งเพราะยังไม่มีใครเสียหาย (ถ้าไม่ถูกตรวจเจอเสียก่อน) ทั้งที่รู้เต็มอกว่าผิดกฎหมาย และเป็นคอร์รัปชั่นเชิงปฏิบัติการขององค์กรโดยตรง
ถ้าหากเสี่ยชูวงษ์ไม่เสียชีวิต และภรรยากับพี่สาวไม่เกิดโวยวายขึ้นมาเพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนตัว เรื่องนี้คงจะเป็นความลับต่อไปไม่มีใครรู้ แม้กระทั่ง เจ้าหน้าที่ตรวจสอบของก.ล.ต.
เมื่อเรื่องถูกเปิดขึ้นมา ความผิดปกติก็ปรากฏขึ้นทราบกันไปทั่วว่ามีพฤติกรรมไม่ชอบมาพากลในการทำหน้าที่ของมาร์เก็ตติ้ง และระบบการทำงานของบริษัทหลักทรัพย์ที่ชัดเจนว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายชัดเจนคือ
-มาร์เก็ตติ้งทำการเปิดบัญชีซื้อขายเองในนามตนเอง หรือ อำพรางในนามคนใกล้ชิด เช่น มารดาหรือญาติ แล้วซื้อขายเหมือนในบัญชีดังกล่าวเสมือนเป็นนอมินีของลูกค้า ซึ่งผิดกฎหมายหลักทรัพย์หรือกฎหมายลูกชัดเจน เพราะเท่ากับมาร์เก็ตติ้งสร้างชื่อผู้รับผลประโยชน์หรือลูกค้าปลอมขึ้นมา เพื่อหาประโยชน์เกินเลยหน้าที่ในฐานะ “ลาภอันมิควรได้”
-การเปิดบัญชีโดยตรงและนอมินีดังกล่าว รอดหูรอดตาของผู้ควบคุมการปฏิบัติงานหรือคอมไพลแอ๊นซ์มาได้อย่างไร สะท้อนว่าระบบควบคุมการปฏิบัติงานย่อหย่อนและมีข้อบกพร่อง ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้ควบคุมเองหรือบริษัท เพราะละเมิดหลักเกณฑ์เรื่อง KYC ที่กำหนดไว้ชัดเจน
-การโอนเงินหรือโอนหุ้นมูลค่าหลายสิบล้านบาท ซึ่งตามกฎหมายฟอกเงิน หากเกินครั้งละ 2 ล้านบาท คอมไพลแอ๊นซ์จะต้องตรวจสอบและรายงานความผิดปกติให้กับ ปปง. ตามข้อกำหนดของพ.ร.บ.ต่อต้านการฟอกเงิน และต่อต้านการก่อการร้าย ทราบ เพื่อตรวจละเอียดอีกครั้ง ในกรณีนี้หากคอมไพลแอ๊นซ์ไม่ได้รายงาน ก็ต้องรับผิด แต่ถ้ารายงานแล้ว ปปง.วางเฉย ปปง.ก็ต้องรับผิดอย่างเลี่ยงไม่พ้น
-ทั้งหมดนี้สะท้อนความบกพร่องในระบบปฏิบัติงาน “หลังบ้าน” ของบริษัทหลักทรัพย์ทั้ง 2 รายอย่างเลี่ยงไม่พ้น จะโยนความผิดไปให้กับมาร์เก็ตติ้งสาว 2 คนที่มีสัมพันธ์เกินเลยกับเสี่ยชูวงษ์คนเดียวเพื่อ “ตัดตอน” คงไม่ได้ เนื่องจาก “หลังบ้าน” เน่า ทำให้หน้าบ้านพลอยเหม็นไปด้วย
ในกรณีที่เกิดขึ้น นอกเหนือจากการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าด้วยสาเหตุการเสียชีวิตของเสี่ยชูวงษ์ แล้ว ยังไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต. หรือ ปปง. เข้ามาให้ข้อมูลข่าวสารอะไรกับสาธารณะเลย
จะมีก็เพียง บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เท่านั้นที่มีแถลงการณ์ออกมาย้ำว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท เพราะเสี่ยชูวงษ์ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่หรือกรรมการ หรือผู้บริหารของบริษัทแต่อย่างใด
แน่นอนว่า มาร์เก็ตติ้งสาวทั้ง 2 ราย ถือได้ว่ากระทำผิดกฎหมายอย่างชัดแจ้ง คงจะต้องถูกสถานการณ์บังคับให้ออกจากวงการไปเลยตามขั้นตอน ไม่สามารถทำอาชีพนี้ต่อไปได้ในอนาคต แต่ก็ถือว่าคุ้มแล้วจากผลตอบแทนที่ได้รับจากสัมพันธ์สวาทแบบพิเศษที่เกินเลย (ไม่นับความผิดอื่นตามกฎหมายที่จะพึงมี) ที่เปิดช่องหารายได้ร่ำรวยทางลัด แต่คำถามที่เป็นโจทย์ต่อไปคือ คอมไพลแอ๊นซ์ของบริษัทหลักทรัพย์ทั้งสองราย ควรจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อไปมากน้อยแค่ไหน และบริษัทควรจะต้องรับผิดชอบแค่ไหน ในการทำผิดที่เกิดขึ้นใต้ร่มเงาและความรับผิดชอบของตนเอง
คนที่จะให้คำตอบนี้ มี 2 แห่ง แห่งแรกคือ ก.ล.ต. ที่ต้องตั้งคำถามว่า ปล่อยให้กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร และจะหามาตรการกำกับดูแลประเภท“วัวหายล้อมคอก”ต่อไปอย่างไรเพื่อไม่ให้เรื่องนี้เกิดขึ้นอีก
แห่งที่สองคือ ปปง. ที่จะต้องดำเนินการตรวจสอบว่าเหตุใดมาตรการ KYC และการกระทำที่ท้าทายข้อกำหนดต่อต้านการฟอกเงินและต่อต้านก่อการร้าย อย่าง“เลือกปฏิบัติ” เกิดขึ้นมา หรือจะปล่อยให้เป็นเช่นนี้ หรือเพิ่มข้อกำหนดอื่นๆแทน รวมทั้งการตรวจสอบหาผู้ที่มีส่วนทำผิดกฎหมายด้วยอย่างทั่วหน้าตามความผิดที่พึงได้รับ
เรื่องส่วนตัวของเสี่ยชูวงษ์กับมาร์เก็ตติ้งสาว ที่มีข้อเท็จจริงชัดเจนว่า เป็นมากกว่าเรื่องส่วนตัว ไม่ควรจะเป็นแค่สายลมที่ผ่านเลยไป ปล่อยให้ด้านมืดของวงการโบรกเกอร์ทำงานต่อไปอย่างลอยนวล บนความมั่งคั่งของเหลือบแห่งวงการไม่กี่คน
เว้นเสียแต่ว่าจะถือหลัก ไม่ทำอะไร ย่อมไม่ผิด ก็เป็นอีกเรื่อง..