ทะเลสีรุ้ง
ดีลซื้อหุ้นธนาคารใหญ่อันดับ 12 ของอินโดนีเซียที่ธนาคารกรุงเทพประกาศออกไป คงต้องการเวลาทำความเข้าใจในรายละเอียดมากมาย ซึ่งกว่าจะจบเรื่องอาจจะกินเวลาถึงไตรมาสสี่ปีหน้ากันเลย
พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล
ดีลซื้อหุ้นธนาคารใหญ่อันดับ 12 ของอินโดนีเซียที่ธนาคารกรุงเทพประกาศออกไป คงต้องการเวลาทำความเข้าใจในรายละเอียดมากมาย ซึ่งกว่าจะจบเรื่องอาจจะกินเวลาถึงไตรมาสสี่ปีหน้ากันเลย
การจะบอกว่าดีลนี้จะดีมากน้อยแค่ไหน แล้วทำการตั้งราคาเป้าหมายว่าจะส่งผลดีต่อราคาและผลประกอบการมากน้อยดังที่นักวิเคราะห์พากันนำเสนอออกมา จึงถือว่าด่วนสรุปเกินไป
การซื้อขายกิจการข้ามชาติโดยเฉพาะสถาบันการเงินนั้น มีรายละเอียดของตัวแปรที่เพิ่มเข้ามามากกว่าธุรกิจทั่วไป เพราะสถาบันการเงินมีความเปราะบางมากมาย
เริ่มตั้งแต่การวางยุทธศาสตร์ของภาคธุรกิจ เรื่อยไปถึงข้อกฎหมายว่าด้วยสถาบันการเงิน จนถึงสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจประเทศที่เป็นเป้าหมาย ส่วนเรื่องการบริหารพอร์ตทางการเงินภายในหรือราคาหุ้นในอนาคต เป็นแค่ผลพวงของธุรกรรม
เริ่มต้นของดีลนี้ เกิดจากการที่ 2 กลุ่มที่ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารเพอร์มาตา หรือ PT Bank Permata Tbk (ชื่อรหัสซื้อขายในตลาดหุ้นจาการ์ตา BNLI IJ) ได้แก่แอสตร้ากรุ๊ป กลุ่มทุนที่ทำธุรกิจยานยนต์รายใหญ่ของอินโดนีเซีย และธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ดของอังกฤษ ที่ถือหุ้นใกล้เคียงกัน รวมแล้วประมาณ 88% ของสัดส่วนทั้งหมด แสดงเจตนาจะขายออกมาพร้อมกันทั้งหมด
ธนาคารกรุงเทพ สนใจเจรจาเข้าซื้อขายโดยตั้งเป้าจะถือหุ้นขั้นต่ำ มากกว่า 75% ซึ่งขั้นตอนนี้จะบรรลุเป้าหมายต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากธนาคารกลางของอินโดนีเซียเสียก่อน
แม้ว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซียจะมีท่าทีเชิงบวกต่อการถือครองหุ้นของต่างชาติในสถาบันการเงิน ไม่ชาตินิยมเข็มข้นแบบมาเลเซีย หรือกติกาประหลาดแบบสิงคโปร์ แต่ดีลนี้ก็ยังต้องการเวลาพอสมควรในการอนุมัติ
ระหว่างนี้ ทางธนาคารกรุงเทพจะต้องขออนุมัติผู้ถือหุ้นในการนำเงินสดและก่อหนี้ให้พิจารณาเพื่ออนุมัติอีกทางหนึ่ง
หลังจากได้รับความเห็นชอบจากธนาคารกลางอินโดนีเซียแล้ว ทางธนาคารกรุงเทพจะต้องเตรียมเงินอีกก้อนหนึ่งสำหรับการทำคำเสนอซื้อคือเทนเดอร์ ออฟเฟอร์หุ้นส่วนที่เหลือ
หากพิจารณาตามนี้ เท่ากับเงินที่ใช้ซื้อกิจการที่ระบุว่าจะตกประมาณ 8 หมื่นล้านบาท อาจจะเป็นวงเงินขั้นต่ำ
คำถามเบื้องแรกคือ ผู้ขายทั้ง 2 รายใหญ่ทำไมจึงอยากทิ้งหุ้นธนาคารที่มีอัตรากำไรสุทธิปีนี้ที่ระดับ 7.5 % แม้จะมีทุนค่อนข้างต่ำเพราะยอดหนี้สินมากกว่าส่วนผู้ถือหุ้นถึง 32 เท่า ………คำตอบยังคงเป็นปริศนา
ธนาคารเพอร์มาตา ไม่ใช่ธนาคารใหม่ แต่มีประวัติยาวนานโชกโชนกว่าจะมาถึงวันนี้
ธนาคารนี้เดิมมีรากเหง้าจาก PT Bank Bali Tbk (Bank Bali) แต่หลังจากผ่านสถานการณ์ วิกฤตสถานการณ์ทางการเงิน ก็มีการควบรวมกันกับธนาคารขนาดเล็กอีก 4 แห่ง รวมกันในชื่อใหม่ในปี ค.ศ.2002 พร้อมเพิ่มทุนจัดโครงสร้างใหม่ให้แอสตร้ากรุ๊ปและธนาคารอังกฤษ
หากมองจากมุมที่ว่า อัตราการเติบโตของธนาคารพาณิชย์อินโดนีเซียจะมากกว่าธนาคารไทยเพราะ GDP ที่ขยายตัวดีกว่า และ แอสตร้ากรุ๊ปจะยังคงสามารถเป็นลูกค้าอยู่ต่อไปซึ่งจะได้ทั้งสินเชื่อ supply chain และจะเน้นการทำ mobile banking มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่ม NIM ได้ในระยะยาว สะท้อนให้เห็นว่าการกลับเข้าไปรอบใหม่ในอินโดนีเซียของธนาคารกรุงเทพ ไม่ถึงกับโดดเดี่ยว
ก่อนหน้านี้ ธนาคารกรุงเทพเคยมีบทบาทสูงในอินโดนีเซียผ่านพันธมิตรเก่าแก่ ซาลิม กรุ๊ป ของมหาเศรษฐี ลิม ซิวเหลียง แต่เมื่อซาลิม กรุ๊ปลดบทบาทลงเพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองยุคหลัง ซูฮาร์โต ธนาคารกรุงเทพก็ลดบทบาทตามไปด้วย
การกลับไปครั้งใหม่ในอินโดนีเซีย แม้จะต้องเผชิญกับบรรยากาศทางธุรกิจใหม่ ๆ จึงเป็นการฟื้นฟูบทบาทที่มีนัยสำคัญ นอกเหนือจากการเติบโตทางลัดในระยะยาวให้กับธนาคารกรุงเทพ หลังจากที่สูญเสียฐานะธนาคารใหญ่อันดับ 1 ของอาเซียนมานานกว่า 20 ปีแล้ว
ในทางยุทธศาสตร์ ถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว เพียงแต่จะให้บรรลุจุดหมาย อาจจะต้องการเวลาพิสูจน์นานพอสมควร
แม้ยากจะให้คำตอบว่าย่างก้าวของการซื้อกิจการนี้ เป็นเดิมพันที่คุ้มค่าหรือไม่ หรือว่าตลาดธนาคารในอินโดนีเซียเป็น “ทะเลสีคราม” หรือ “ทะเลสีแดง” เพียงแต่พูดได้เพียงแค่ว่าเป็นความท้าทายบน “ทะเลสีรุ้ง” ที่น่าติดตาม