วิบากกรรมแบงก์พาณิชย์

จากตัวเลขยอดสินเชื่อสุทธิเดือนพ.ย. 62 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นแค่ 1.82% ด้วยเหตุสินเชื่อเอสเอ็มอี ยังไม่ฟื้นตัวและสิน เชื่อรายย่อยเติบโตเพียงสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันเท่านั้น ส่วนสินเชื่อประเภทอื่น ๆ ชะลอตัวลง..นั่นทำให้ตัวเลขปีนี้สินเชื่อทั้งระบบอาจเติบโตต่ำกว่าระดับ 3.5%


พลวัตปี 2019 : สุภชัย ปกป้อง

จากตัวเลขยอดสินเชื่อสุทธิเดือนพ.ย. 62 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นแค่ 1.82% ด้วยเหตุสินเชื่อเอสเอ็มอี ยังไม่ฟื้นตัวและสิน เชื่อรายย่อยเติบโตเพียงสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันเท่านั้น ส่วนสินเชื่อประเภทอื่น ๆ ชะลอตัวลง..นั่นทำให้ตัวเลขปีนี้สินเชื่อทั้งระบบอาจเติบโตต่ำกว่าระดับ 3.5%

ปรากฏการณ์ดังกล่าว กลายเป็นแรงกดดัน ทำให้ตัวเลขสินเชื่อปี 2563 ขยายตัวแบบถดถอย นั่นหมายถึงแนวโน้มการเติบโตของรายได้จากธุรกิจหลัก ทั้งการปล่อยสินเชื่อและรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเติบโตระดับต่ำต่อไป

โดยภาพรวมสินเชื่อปี 2563 อาจเติบโตเพียง 3.5% ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิและส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin) หรือ NIM ชะลอตัว ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยต้องเผชิญกับข้อจำกัดการฟื้นตัว

ที่สำคัญภาวะการถดถอยของเศรษฐกิจไทยเป็นตัวเร่งทำให้สัดส่วน NPLs แบงก์พาณิชย์ทั้งระบบ มีโอกาสเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 3%

แต่ไม่จบแค่นั้น..การปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์และแนวนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนต่องบการเงินอย่างมีนัยสำคัญ เริ่มจากมาตรฐาน TFRS 9 ทำให้ค่าใช้จ่ายในการกันสำรองฯ มีการเปลี่ยนตามการจัดชั้นของสินทรัพย์ที่ปรับเป็น 3 สถานะ (Stage) คือ Stage1 เป็นกลุ่มที่ความเสี่ยงเชิงเครดิตไม่เปลี่ยนแปลง จากวันแรกของการให้สินเชื่อ Stage2 เป็นกลุ่มที่ความเสี่ยงเชิงเครดิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และ Stage3 เป็นกลุ่ม NPLs

ส่วนหลักเกณฑ์การดำรงเงินสำรองขั้นต่ำ ที่กำหนดให้เงินสำรองฯ ตามมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 ต้องไม่ต่ำกว่าเงินสำรองขั้นต่ำ (Provision Floor) ที่อยู่ระดับ 1% ของสินทรัพย์และรายการนอกงบดุลที่ไม่ด้อยคุณภาพ

นั่นจึงมีผลทำให้แบงก์พาณิชย์มีค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อรวม (Credit Cost) ใกล้เคียง หรือสูงกว่า 1.20% ที่เป็นค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา (จากการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทย)

ล่าสุดธปท.อยู่ระหว่างติดตามรายงานหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อ การกำหนดสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) ของแต่ละสถาบันการเงินเพื่อดูแลให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยการปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ลูกค้ารายย่อยต้องคำนึงถึงสถานะทางการเงิน ความสามารถในการชำระคืนหนี้และรายได้สุทธิที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของลูกหนี้ เพื่อบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือน

นั่นทำให้ “สินเชื่อรายย่อย” มีการเติบโตอย่างจำกัดมากยิ่งขึ้น..!!

เช่นเดียวกับการปรับปรุงการคิดค่าธรรมเนียมและนโยบายช่วยเหลือลูกค้าในยามที่เศรษฐกิจชะลอตัว ที่ธปท.จะประกาศออกมา เพื่อมุ่งเน้นความเหมาะสม ไม่ซ้ำซ้อนและเป็นธรรมต่อลูกค้าสถาบันการเงิน ที่จะเริ่มดำเนินการในส่วนของลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อเสริมสภาพคล่องและบรรเทาภาระทางการเงิน

ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัว ลุกลามทำให้ตัวเลขสินเชื่อเติบโตแบบมีขีดจำกัด แบงก์พาณิชย์ไทยต้องเผชิญกับมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 และ กฎเกณฑ์ใหม่จากธปท.เพิ่มขึ้นอีก นี่ยังไม่รวมกระแส Digital Disruption ที่เกิดขึ้นอีก ทำให้ปี 2563 เป็นปีแห่ง “วิบากกรรมแบงก์พาณิชย์” อย่างปฏิเสธไม่ได้..!!

Back to top button