สถานะบุคคลและความรับผิดตามกฎหมายของบุคคลอิเล็กทรอนิกส์
ผู้เขียนเชื่ออย่างยิ่งว่าด้วยอัตราความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์ในวันนี้ การปฏิวัติระบบกฎหมายครั้งนี้จะเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
Cap & Corp Forum
ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) คือเครื่องจักร (machine) ที่มีความสามารถในการทำความเข้าใจ เรียนรู้องค์ความรู้ต่าง ๆ อาทิ การรับรู้ การเรียนรู้ การให้เหตุผล และการแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยในเบื้องต้นอาจสามารถแบ่งระดับความฉลาดของปัญญาประดิษฐ์ได้เป็น 2 ระดับคือ Strong AI กับ Weak AI ซึ่งเป็นการแบ่งประเภทของ AI ตามการทำงานเลียนแบบพฤติกรรมของมนุษย์
โดยที่ Strong AI จะมีการทำงานแบบที่จำลองพฤติกรรมแบบเดียวกับมนุษย์ทั่วไปทุกอย่าง รวมไปถึงสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น การใช้เหตุผลส่วนบุคคลหรือการใช้วิจารณญาณ ส่วน Weak AI จะเป็นแบบที่มีการเลียนแบบพฤติกรรมคล้าย ๆ มนุษย์ ซึ่ง Weak AI จะยังไม่ได้มีความสามารถถึงขั้นที่เรียกว่าอัจฉริยะที่แท้จริงได้
ในชีวิตประจำวัน ผู้บริโภคโดยทั่วไปมีโอกาสสัมผัสกับเทคโนโลยี Weak AI ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่ใช้บริการ อาทิ Google Search, Google Map, เทคโนโลยีการจดจำใบหน้าใน Facebook หรือ Apple Siri เป็นต้น เทคโนโลยีเหล่านี้จะเข้ามาช่วยจำลองการคิดและตัดสินใจของมนุษย์ในระดับหนึ่ง และมีแนวโน้มว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
จนวันหนึ่ง Strong AI อาจกลายเป็นมาตรฐานของอุปกรณ์ทั่วไป อาทิ รถยนต์อัจฉริยะไร้คนขับ หรือหากนำไปผสานกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ก็จะได้หุ่นยนต์ที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์และสภาพแวดล้อมได้ สมองกลอย่าง Jarvis หรือ Ultron ที่เห็นในภาพยนตร์อาจจะไม่ใช่เพียงสิ่งเพ้อฝันอีกต่อไป
การเข้าสู่ยุคของ Strong AI นำมาซึ่งความท้าทายต่อการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม เครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ที่ประสานกับ Strong AI จะทำให้เครื่องจักรหรือหุ่นยนต์นั้นสามารถคิดและตัดสินใจแทนมนุษย์ได้ ซึ่งอาจทำให้เราต้องมาทบทวนถึงการมีอยู่และสมมติฐานต่าง ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นจำนวนมาก
อาทิ ในเรื่องของกฎหมาย ซึ่งต้องยอมรับว่ากฎหมายทุก ๆ ฉบับที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันตราขึ้นบนสมมติฐานว่ามนุษย์เป็นผู้ตัดสินและบังคับใช้กฎหมาย แต่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์เป็นผู้ตัดสิน หรือปัจจัยโครงสร้างแรงงานที่อาจเปลี่ยนความสำคัญจากแรงงานมนุษย์ไปเป็นแรงงานหุ่นยนต์ในฐานะปัจจัยการผลิต เป็นต้น
สหภาพยุโรปเรียกหุ่นยนต์ที่มีคุณสมบัติของ Strong AI ว่า “Smart Robot” ตามที่กำหนดไว้ในเอกสารเชิงนโยบายเรื่อง Civil Law Rules on Robotics (2017) โดย Smart Robot หรือหุ่นยนต์อัจฉริยะ ต้องมีองค์ประกอบดังนี้ (1) มีกระบวนการที่เป็นอิสระจากการควบคุมของมนุษย์ เนื่องจากการใช้ระบบเซ็นเซอร์
และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับสภาวะแวดล้อมและมีการประมวลผลข้อมูลเหล่านั้น (2) สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองจากการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ หรือการประมวลผลข้อมูลเหล่านั้น (3) อย่างน้อยต้องมีลักษณะทางกายภาพ (4) มีความสามารถในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการกระทำตามสภาวะแวดล้อม และ (5) ไม่มีชีวิตในความหมายในทางชีววิทยา
ประเด็นกฎหมายที่มีการถกเถียงสาธารณะอย่างกว้างขวางต่อการควบคุมและกำกับเทคโนโลยี AI และ Smart Robot คือในเรื่องของหลักความรับผิด (liability rules) และการมีสถานะบุคคลทางกฎหมายของ Smart Robot โดยตาม Civil Law Rules on Robotics (2017) รัฐสภายุโรปได้เสนอแนะให้คณะกรรมาธิการยุโรปอาจพิจารณาถึงการกำหนดสถานะบุคคลให้แก่ Smart Robot เพื่อให้สามารถมีสถานะบุคคลอิเล็กทรอนิกส์ (electronic personality)
ซึ่งสามารถเป็นผู้ทรงสิทธิหรือรับผิดตามกฎหมายโดยเฉพาะในกรณีที่ Smart Robot ตัดสินใจด้วยตนเองในการกระทำหรือไม่กระทำการใด ๆ หรือในกรณีที่มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นโดยอิสระและปราศจากการควบคุมของมนุษย์
การให้สถานะบุคคลกับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์นั้นมิใช่เรื่องใหม่ในทางกฎหมายเสียทีเดียว ระบบกฎหมายของทั่วโลกมีการกำหนดสถานะบุคคลสมมติในทางกฎหมายให้แก่องค์กรในลักษณะต่าง ๆ จำนวนมาก อาทิ นิติบุคคลประเภทต่าง ๆ ทั้งนิติบุคคลในทางกฎหมายมหาชน เช่น กระทรวง กรม และรัฐวิสาหกิจ และนิติบุคคลในทางกฎหมายเอกชน เช่น บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด
หรือการให้สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์เป็นผู้ทรงสิทธิบางประการในทางกฎหมายก็มีให้เห็นอยู่ในหลายกรณี อาทิ สิทธิของสัตว์ และสิทธิของสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ในบริบทดังกล่าว หากในอนาคตจะมีการกำหนดลักษณะของบุคคลอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นเพื่อให้ Smart Robot สามารถมีสิทธิและหน้าที่บางประการตามกฎหมายจึงอาจจะมีความเป็นไปได้เช่นกัน
ในส่วนของประเด็นความรับผิดนั้น เป็นกรณีที่อาจถือว่ามีความสำคัญที่สุด เนื่องจากเชื่อมโยงกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคหรือผู้ใช้งาน Smart Robot ในอนาคต และจะเป็นการสร้างความแน่นอนในระบบกฎหมายว่าระบบกฎหมายจะจัดสรรความเสี่ยงและความรับผิดในกรณีที่ Smart Robot ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นอย่างไร
ซึ่งกรณีดังกล่าวจะนำมาซึ่งการกำหนดต้นทุนของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องด้วย หากกฎหมายกำหนดให้ผู้พัฒนาเทคโนโลยี AI เป็นผู้รับผิด ต้นทุนก็จะอยู่กับฝั่ง Software Developer หรือหากกำหนดให้ผู้ผลิต Smart Robot เป็นผู้รับผิด ต้นทุนก็จะอยู่กับผู้ผลิต รวมถึงการจัดสรรความรับผิดในกรณีที่ความเสียหายเกิดจากการกระทำร่วมกันระหว่างผู้ใช้งานและ Smart Robot และอีกหลาย ๆ กรณีที่อาจมีความเสียหายเกิดขึ้นจากการใช้งาน อาทิ
- กรณีความเสียหายเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีโครงข่ายที่มีความจำเป็นต่อการทำงานของ Smart Robot (Cyber-Physical Systems) เกิดล่มหรือไม่ตอบสนองต่อการใช้งาน
- ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเข้าแทรกแซงระบบคอมพิวเตอร์ของ Smart Robot โดยบุคคลที่สาม (Cybersecurity)
- ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้ใช้งานไม่อัปเดตซอฟต์แวร์ที่จำเป็นตามเงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่กำหนด
ซึ่งตาม Civil Law Rules on Robotics (2017) รัฐสภายุโรปให้ข้อแนะนำต่อคณะกรรมาธิการยุโรปในการกำหนดนโยบายกฎหมายด้านความรับผิดว่าต้องสามารถสร้างความแน่นอนในระบบกฎหมาย มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส และสามารถบังคับใช้ไปในแนวทางเดียวกันในทุก ๆ ประเทศของสหภาพยุโรปเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อพลเมือง ผู้บริโภค และอุตสาหกรรม
AI และ Smart Robot อาจเป็นเรื่องที่ฟังดูยากและซับซ้อนหรือดูเหมือนจะไกลตัว แต่ผู้เขียนเชื่ออย่างยิ่งว่าด้วยอัตราความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์ในวันนี้ การปฏิวัติระบบกฎหมายครั้งนี้จะเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ใครพร้อมกว่าเร็วกว่า ก็จะเป็นผู้กำหนดระเบียบและนโยบายกฎหมายของโลกในด้านนี้
…
ศุภวัชร์ มาลานนท์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
Fulbright Hubert H. Humphrey Fellowship
American University Washington College of Law