‘เทสโก้’ เปลี่ยนมือ (อีกครั้ง)
สื่อต่างประเทศประโคมข่าว Tesco (เทสโก้) เจ้าของกิจการค้าปลีกรายใหญ่ประเทศอังกฤษ กำลังตัดสินใจขายกิจการในประเทศมาเลเซีย และกิจการในประเทศไทย ภายใต้ชื่อ “เทสโก้ โลตัส” ด้วยมูลค่าประเมินสูงสุดถึง 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 272,430 ล้านบาท
พลวัตปี 2019 : สุภชัย ปกป้อง
สื่อต่างประเทศประโคมข่าว Tesco (เทสโก้) เจ้าของกิจการค้าปลีกรายใหญ่ประเทศอังกฤษ กำลังตัดสินใจขายกิจการในประเทศมาเลเซีย และกิจการในประเทศไทย ภายใต้ชื่อ “เทสโก้ โลตัส” ด้วยมูลค่าประเมินสูงสุดถึง 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 272,430 ล้านบาท
ล่าสุด..มีกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ของไทย 3 ราย ที่แสดงความสนใจซื้อกิจการ “เทสโก้ โลตัส” เริ่มตั้งแต่เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ตามมาด้วยเครือเซ็นทรัล กรุ๊ป ของตระกูลจิราธิวัฒน์ และกลุ่มทีซีซี กรุ๊ป ของตระกูลสิริวัฒนภักดี
โดย “เทสโก้” เข้ามาซื้อกิจการโลตัส ในประเทศไทย ช่วงปี 1998 (ปี 2541) หลังวิกฤติต้มยำกุ้ง จากกลุ่มซีพี มูลค่าประมาณ 365 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 12,000 ล้านบาท) ปัจจุบัน “เทสโก้” มีกิจการในประเทศไทย ในนาม “เทสโก้ โลตัส” มีมูลค่าสินทรัพย์ประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 300,000 ล้านบาท) มีจำนวนสาขา 1,967 แห่ง ส่วนประเทศมาเลเซีย มี 74 สาขา มีรายได้จาก 2 ประเทศนี้ประมาณ 4,900 ล้านปอนด์ (ประมาณ 192,855 ล้านบาท) มีกำไรกว่า 11,256 ล้านบาท หรือคิดเป็นกำไร 1 ใน 5 จากการดำเนินงานกิจการในต่างประเทศของบริษัท
สารตั้งต้นการประกาศขายกิจการ “เทสโก้ ประเทศไทย” เป็นผลมาจาก “เทสโก้” เริ่มประสบปัญหาตั้งแต่ปี 2014 (ปี 2557) หลังได้รับแรงกดดันจากคู่แข่งค้าปลีกในทวีปยุโรป อาทิ Aldi หรือ Lidl ที่ขายสินค้าราคาถูกกว่า จนทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างกันสูงขึ้น จนตัวเลขผลประกอบการปี 2014 ที่ทำให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจ เนื่องจากมีหนี้สินจำนวนกว่าถึง 17,648 ล้านปอนด์
หากมองความเป็นไปได้ของดีลการซื้อขายครั้งนี้ “กลุ่มซีพี” ดูมีความเป็นไปได้มากสุด เพื่อต่อยอดธุรกิจค้าปลีกและแก้โจทย์ปัญหาการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีก ที่มีอยู่ในมือนั่นคือ “ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น” ในนามบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ที่เริ่มเห็นการเติบโตแบบถดถอย จากการเริ่มอิ่มตัวของสาขาใหม่ หลังจากขยายตัวแบบอัตราเร่งตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
อีกนัยหนึ่ง..เพื่อตอบโจทย์ปัญหาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ “สยาม แม็คโคร” (ในนามบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด(มหาชน) หรือ MAKRO หลังจาก CPALL ซื้อมาจากกลุ่ม SHV (เนเธอร์แลนด์) มูลค่าประมาณ 6,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ช่วงปี 2013 (ปี 2556) แต่ไม่สามารถสร้างประโยชน์ร่วมกัน (Synergy) ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากนัก ยิ่งไปกว่านั้นยังต้องแบกรับภาระหนี้สินจากการเข้าทำรายการดังกล่าวอีกด้วย
ดังนั้นการได้มาซึ่ง “เทสโก้” น่าจะสามารถผสานประโยชน์ร่วมกัน (Synergy) ระหว่าง “สยามแม็คโครกับเทสโก้โลตัส” ได้มากยิ่งขึ้น แต่ปัญหาอยู่ตรงที่หากกลุ่มซีพี จะเข้าซื้อกิจการในนาม CPALL เฉกเช่นเดียวกับการซื้อ MAKRO อาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนั้นหมายถึงภาระหนี้สิน CPALL จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเลยทีเดียว..!!
ความเป็นไปได้รองลงมาคือ “กลุ่มทีซีซีโฮลดิ้ง” ที่น่าจะเป็นไปในลักษณะยุทธศาสตร์ “ซื้อมาเพื่อฆ่าแบรนด์” เฉกเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับ “คาร์ฟูร์” มาแล้ว นั่นหมายถึงซื้อ “เทสโก้ โลตัส” มาแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “บิ๊กซี” แทน..เนื่องจากที่ผ่านมา “เทสโก้ โลตัส” ถือเป็น “หอกข้างแคร่” กลุ่มบิ๊กซีมาโดยตลอดนั่นเอง
ส่วน “กลุ่มเซ็นทรัลกรุ๊ป” ดูมีความเป็นได้น้อยสุด เนื่องจากที่ผ่านมา ธุรกิจค้าปลีกกลุ่มเซ็นทรัล เน้นให้ความสำคัญกับ “ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์” (ในนามบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC เป็นหลัก ส่วนค้าปลีกแบบ “ดิสเค้าท์สโตร์” มีเพียงการถือหุ้นบิ๊กซี ประเทศเวียดนามเท่านั้น แต่หากกลุ่มเซ็นทรัลฯ ซื้อ “เทสโก้ โลตัส” จริง..ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง..!!??