พาราสาวะถี
ขณะที่ฝ่ายค้านกำลังเตรียมการยื่นญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมด้วยรัฐมนตรีตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปก่อนหน้า โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะซักฟอกกันในประเด็นไหนบ้าง ก็พอจะเห็นแนวทางการต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาลกันแล้ว เมื่อทั้งผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและประธานคณะกรรมการยุทธ์ศาสตร์พรรคสืบทอดอำนาจ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันคือ อย่าไปยกเอารัฐบาลคสช.มาอภิปราย
อรชุน
ขณะที่ฝ่ายค้านกำลังเตรียมการยื่นญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมด้วยรัฐมนตรีตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปก่อนหน้า โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะซักฟอกกันในประเด็นไหนบ้าง ก็พอจะเห็นแนวทางการต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาลกันแล้ว เมื่อทั้งผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและประธานคณะกรรมการยุทธ์ศาสตร์พรรคสืบทอดอำนาจ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันคือ อย่าไปยกเอารัฐบาลคสช.มาอภิปราย
ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้นขู่ฟ่อด ๆ ขออย่าเพิ่งบอกว่ารัฐบาลมีปัญหาในการทำงาน เพราะรัฐบาลชุดนี้ทำงานมาได้แค่ 5 เดือนเท่านั้น ขอให้จำไว้ด้วย ส่วนรัฐบาลที่แล้วก็เป็นเรื่องของรัฐบาลที่แล้ว การอภิปรายครั้งนี้เป็นรัฐมนตรีชุดนี้ จึงอย่านำมาพันกันให้เสียหายทั้งหมดทำให้สิ่งที่ทำดี ๆ ไว้เสียหายไปด้วย และทำให้ไม่เข้าใจกันต่อไป อย่าเอาความไม่ชอบส่วนตัวมาว่ากันเรื่องประเทศชาติ ใครที่ถูกอภิปรายก็ให้ชี้แจงกันไป ถ้าตอบได้ก็ฟังกันบ้าง อย่าถามอย่างเดียวแล้วไม่ฟังคำตอบ ฝากประชาชนฟังคำตอบด้วย
ทั้งขู่ทั้งกระโชกเสร็จสรรพ ขณะที่พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ก็ไม่ต่างกัน ถ้าการอภิปรายฯ อยู่ในช่วง 5 เดือนของรัฐบาลชุดนี้ก็โอเค ส่วนที่แล้วมาก็จบไปแล้ว ขอให้ยึดหลักการทำงานในช่วง 5 เดือนกว่าที่ผ่านมา ขอให้ฝ่ายค้านยึดหลักการนี้ อ้างหลักการกันเลยทีเดียว คงอยู่ที่ฝ่ายค้านแล้วว่าจะใช้วิธีการอย่างไร เพื่อไม่ให้ถูกฝ่ายสืบทอดอำนาจตีรวนในสภา เพราะมองรูปการณ์อย่างนี้หากไปแตะรัฐบาลเผด็จการรับรองได้เลยว่า สภาลุกเป็นไฟแน่นอน
ขนาดจำแลงแปลงกายอุตส่าห์ไปโพนทะนาร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำแล้วว่า ข้าเป็นผู้นำประเทศที่มาจากการเลือกตั้ง ยังไม่ยอมให้ความร่วมมือกับสภาผู้แทนราษฎรในการตรวจสอบผ่านกลไกของคณะกรรมาธิการสามัญ ของพรรค์นี้มันชี้เจตนาได้ว่าขบวนการสืบทอดอำนาจนั้น ยอมรับกระบวนการในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ สิ่งที่คิดและดำเนินการกันมานั้นเป็นเพียงแค่การสร้างภาพหรือเปลือกครอบให้คนเห็นว่าเป็นประชาธิปไตยแล้วเท่านั้น
ไส้ในและวิธีการที่ใช้มันล้วนแล้วแต่เป็นวิถีของเผด็จการทั้งสิ้น อาจจะต่างออกไปเพียงแค่การไม่ได้ใช้ปลายกระบอกปืนจี้หัวข่มขู่ประชาชนหรือฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น แต่กลไก กับดับที่วางไว้ผ่านข้อกฎหมายที่ชงเองกินเองเป็นสิ่งที่ทำให้คนส่วนใหญ่กังขามาโดยตลอด แต่พูดอะไรและทำไม่ได้ เพราะใช้อำนาจเผด็จการปิดปากประชาชนจนกระทั่งถึงวันเลือกตั้ง ไม่ต้องอ้างเรื่องรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติเพราะหาได้มีความสง่างามในช่วงการรณรงค์ก่อนการทำประชามติไม่
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางการเมืองในปีหนูทองนั้น เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์ 10 ปัจจัยที่จะทำให้การเมืองระอุในปีนี้อย่างน่าสนใจทีเดียว โดยเฉพาะกรณีการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแบบรายบุคคลของพรรคฝ่ายค้านในเดือนกุมภาพันธ์นี้ หากสามารถเปิดแผลการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลได้ หรือมีใบเสร็จแสดงหลักฐานการทุจริตได้ชัดเจน ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแน่นอน
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้น ในมุมของเทพไทคาดเดาไว้ว่า จะเป็นการปรับครม. โดยจะมี 2 แนวทางนั่นก็คือ การปรับก่อนศึกซักฟอกจะเริ่มขึ้น เพื่อลดกระแสหรือตัดหน้าการอภิปรายดังกล่าว ซึ่งแนวทางนี้คงจะไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนเป็นแน่แท้ เพราะนั่นเท่ากับว่าผู้นำเผด็จการและคณะยอมรับไปครึ่งค่อนตัวว่าคนที่ถูกปรับออกหรือเปลี่ยนเก้าอี้ซึ่งอยู่ในลิสต์การซักฟอกของฝ่ายค้าน มีกลิ่นไม่สู้ดีจึงต้องชิ่งหนีการตรวจสอบ ซึ่งนั่นน่าจะเป็นผลลบมากกว่าผลดี
ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่อาจจะปรับหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อใช้โอกาสนี้ปรับรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายออกไปบ้าง แต่ทางการเมืองถ้ารัฐบาลชุดใดมีการปรับคณะรัฐมนตรีก็จะเป็นสัญญาณการนับถอยหลังทางการเมืองทันที ปัจจัยข้อนี้คงมีข้อแม้ว่าถ้าเป็นรัฐมนตรีในโควตาของพรรคสืบทอดอำนาจคงไร้ปัญหาเรื่องแรงกระเพื่อม หากเป็นรัฐมนตรีในซีกของพรรคร่วมตรงนี้ต้องตอบคำถามหนักมากหน่อย ดีไม่ดีอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการแตกหักทางการเมืองได้
จนถึงนาทีนี้ถ้ารายชื่อเป็นไปตามที่ปรากฏเป็นข่าว ก็ไม่น่าจะส่งผลในแง่ของการปรับคณะรัฐมนตรี แต่จะกระเทือนต่อความน่าเชื่อถือของท่านผู้นำโดยตรง เพราะแต่ละรายชื่อถือเป็นคนใกล้ชิดและมีผลประโยชน์ร่วมกันมาตั้งแต่รัฐบาลเผด็จการทั้งสิ้น ในภาวะที่ความน่าเชื่อถือถดถอย หากฝ่ายค้านเล็งเป้าหมายชัดและจัดเตรียมข้อมูลแน่นหนา ก็เชื่อได้ว่าหลังเสร็จศึกอภิปรายย่อมทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลมีปัญหาอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่จะกลับมาสร้างปัญหาให้กับรัฐบาล คงหนีไม่พ้นการต่อรองของบรรดาพรรคเล็กพรรคน้อย ซึ่งเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ และ พิเชษฐ์ สถิรชวาล จะเลิกเป็นฝ่ายค้านอิสระหันกลับมาซบตักรัฐบาลกินกล้วยเหมือนเดิม แต่ที่เพิ่มเติมมาก็คือ การรวบรวมเสียงส.ส.ให้เป็นปึกแผ่น หากอยู่ในจำนวนที่สามารถเจรจาเรื่องเก้าอี้รัฐมนตรีได้ คนเหล่านี้ไม่มีทางที่จะย่อมอ่อนข้อเหมือนที่ผ่านมาแน่
แต่หากพิจารณาจากคำพูดที่ผู้นำเผด็จการสื่อสารกับมงคลกิตติ์เมื่อคราวมีตติ้งแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ที่บอกว่าเต้จะกลับมาเป็นคนดีเหมือนเดิมนั้น ตรงนี้มีนัยทางการเมืองไม่น้อย ต้องอย่าลืมว่าอาชีพของหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์นั้น เกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับการอนุญาตจากภาครัฐ นั่นย่อมเป็นจุดที่ฝ่ายกุมอำนาจถือความได้เปรียบ ไม่ต้องอ้างว่าเป็นฝ่ายตรวจสอบที่เข้มแข็ง คนที่เคยอ้างตัวว่าเป็นฝ่ายค้านอิสระนั้น ต้องอธิบายให้ได้ว่าคำว่าตรวจสอบกับล็อบบี้เพื่อผลประโยชน์นั้นมันต่างกันอย่างไร
การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาแล้วนั้น ได้ฟัง ไพบูลย์ นิติตะวัน อ้างเหตุผลของการค้านการตั้งส.ส.ร.เพื่อมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็พอจะเห็นแล้วว่าการทำงานของคณะกรรมาธิการชุดนี้แนวโน้มจะออกมาอย่างไร ยังไม่นับรวมเรื่องข้อเสนอเขี่ยผบ.เหล่าทัพพ้นส.ว.โดยตำแหน่งที่ฝ่ายสอพลอเผด็จการออกโรงค้านกันตั้งแต่ไก่โห่ บางทีการปิดเกมทางการเมืองอาจมีจุดเริ่มต้นจากเรื่องนี้ก่อนที่รัฐบาลสืบทอดจะมีปัญหาเสียด้วยซ้ำไป