หุ้น IPO 2562 ‘ใครรอด – ใครร่วง’

สถิติหุ้นน้องใหม่  IPO ในปี 2562 เข้าจดทะเบียนครั้งแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาด เอ็ม เอ ไอ (mai) มีจำนวนทั้งสิ้น 28 หลักทรัพย์รอง 


เส้นทางนักลงทุน

สถิติหุ้นน้องใหม่  IPO ในปี 2562 เข้าจดทะเบียนครั้งแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาด เอ็ม เอ ไอ (mai) มีจำนวนทั้งสิ้น 28 หลักทรัพย์…เพื่อเข้ามาซื้อขายในตลาดรอง

โดยแยกเป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จำนวน 11 หลักทรัพย์ ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) จำนวน 17 หลักทรัพย์

ผลปรากฏว่า หลักทรัพย์เข้าซื้อขายวันแรกราคายืนเหนือราคาจอง ได้แก่ ACE, RBF, CPW, AWC, DOHOME, ILM, VRANDA, ZEN, KUN, APP, IP, INSET, KUMWEL, ACG, MITSIB และ GSC

ส่วนหลักทรัพย์ที่ราคาซื้อขายวันแรกต่ำกว่าราคาจอง ได้แก่ SFLEX, SHR, IMH, STC, TPS, BC, ARIN, ALL และ SAAM

นอกจากนั้นก็มีหลักทรัพย์เข้าซื้อขายวันแรกราคาหุ้นเสมอราคาจอง ได้แก่ BAM, VL และ CAZ

อย่างไรก็ตามภาพลักษณ์ของหุ้น IPO ดูเหมือนว่าจะเปลี่ยนแปลงไปที่เริ่มมีหุ้นปิดต่ำจองมากขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2562 ไม่ว่าด้วยสภาวะดัชนีตลาดหุ้นตกต่ำ จนส่งผลต่อความเชื่อมั่นในหุ้น

เนื่องด้วยเมื่อเข้ามาซื้อขายตลาดรองจนถึงสิ้นปี 2562 จะเห็นว่ามีเพียง 4 หลักทรัพย์เท่านั้นที่สามารถรักษาราคาเหนือราคาเสนอขาย IPO ของตัวเองเอาไว้ได้ อย่าง BAM ราคายังยืนเหนือราคาจองอยู่ 3%, RBF ราคายังยืนเหนือราคาจองอยู่ 33.33%, DOHOME ราคายังยืนเหนือราคาจอง 25% และ ZEN ราคายังยืนเหนือราคาจองอยู่ 12.31% ส่วนที่เหลือกลับมีราคาดิ่งลงกว่าราคาเสนอขาย IPO ทั้งสิ้น !!!

กระทั่งเกิดเป็นข้อสงสัยว่าเสน่ห์ของหุ้น IPO ที่เคยมีก่อนหน้าอย่างปี 2560 ที่มีความเฟื่องฟู แถมยังทำผลงานได้ดีเกินราคาจองแทบทุกตัว บางตัวทำกำไรให้กับคนจองเป็น 100% หรือ 200% ก็มีมาแล้ว !!!  แต่ปัจจุบันกลับทำให้การจองหุ้น IPO มีกำไรในวันซื้อขายวันแรกไม่เกิน 50% เลยสักตัว

ดังนั้นเสน่ห์ของหุ้น IPO อาจจะไม่กลับมาในอนาคตอันใกล้นี้แน่ !!!

คำถาม คือ นักลงทุนยังควรจองหุ้น IPO และคาดหวังกับผลตอบแทนอันร้อนแรงได้อยู่หรือไม่ ?

งานนี้ต้องฝากทางที่ปรึกษาการเงิน FA ทบทวนในการคำนวณตั้งราคาเสนอขาย IPO ให้เหมาะสม ! เพราะไม่อย่างนั้นการที่จะเห็นหุ้น IPO ทำกำไรงดงามตั้งแต่วันแรก คงเป็นได้ยาก…

ด้วยผลลัพธ์ที่ออกมาสะท้อนแล้วว่าภาพรวมราคาหุ้น IPO ในปี 2562 ต่างหลุดจองไปทั่วหน้า

แล้วอย่างนี้อาจเห็นหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ลดน้อยลงได้ในอนาคต เพราะเชื่อว่าแผนจะนำเข้า IPO ก็อาจต้องเลื่อนกำหนดออกไปก่อน และคงต้องใช้เวลาอีกหลายปี กว่าจะสามารถเรียกศรัทธาและกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งหนึ่งได้

แม้ว่าการนำหลักทรัพย์จดทะเบียนเข้าใหม่ในปี 2562 จะมีมูลค่าการระดมทุนผ่านตลาดหุ้น IPO เสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปในครั้งแรกก่อนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมทั้งในตลาด SET, mai และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ โดยคิดเป็นมูลค่าระดมทุนรวม 90,838.73 ล้านบาท

แยกเป็นการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จำนวน 68,712.57 ล้านบาท โดยการระดมทุนสูงสุด AWC จำนวน 41,742 ล้านบาท ขณะที่ระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) จำนวน 4,981.30 ล้านบาท

อีกทั้งมีการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานจำนวน 5,150 ล้านบาท คือ SUPEREIF และระดมทุนผ่านกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์จำนวน 11,994.86 ล้านบาท มี BKER จำนวน 4,647.36 ล้านบาท, AIMCG จำนวน 2,880 ล้านบาท, SPRIME จำนวน 4,467 ล้านบาท

สรุปได้ว่าในปี 2562 บริษัทเข้าระดมทุนผ่านตลาดทุน IPO ตลาดแรกมีความคึกคัก แต่เมื่อผ่านตลาดรองการซื้อขายกลับหมดพลัง และสุดท้ายราคาหุ้นหลุดจองกันระนาว

บาดแผลหุ้น IPO ในปี 2562 อาจทำให้นักลงทุนหมดศรัทธาไปอีกยาวนาน !!!

Back to top button