แผนน้ำอยู่หนไหน
มองไปทางไหนตอนนี้ เศร้าใจเหลือเกิน ผืนดินแยกแตกระแหง ผืนน้ำแห้งขอด มีแต่ผืนดินโผล่กลางแม่น้ำลำคลอง อย่าว่าแต่น้ำใช้เพื่อการเพาะปลูกเลย แม้แต่น้ำกินใช้เพื่อการบริโภค ก็ยังสุดแสนจะอัตคัด กรุงเทพฯ ยังเจอภาวะน้ำทะเลหนุนสูงเข้าให้อีก
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
มองไปทางไหนตอนนี้ เศร้าใจเหลือเกิน ผืนดินแยกแตกระแหง ผืนน้ำแห้งขอด มีแต่ผืนดินโผล่กลางแม่น้ำลำคลอง อย่าว่าแต่น้ำใช้เพื่อการเพาะปลูกเลย แม้แต่น้ำกินใช้เพื่อการบริโภค ก็ยังสุดแสนจะอัตคัด กรุงเทพฯ ยังเจอภาวะน้ำทะเลหนุนสูงเข้าให้อีก
ไม่เข้าใจในระดับความรู้ของผู้นำประเทศจริง ๆ ที่ปล่อยระกาว่าด้วยวิสัยทัศน์น้ำท่วม-น้ำแล้งออกมาเป็นชุด ๆ อันได้แก่ “น้ำแล้งให้ขุดบ่อดิน เพื่อเอาดินไปขาย”, ให้เอาน้ำกร่อยไปต้ม เพื่อลดกร่อยลดเค็ม และให้ประหยัดน้ำวันละ 1 นาที คนกรุงมี 10 ล้านคน วันหนึ่งก็จะประหยัดได้ 10 ล้านลิตร
ผมฟังตอนแรก ก็ยังเอะใจว่า เดี๋ยวนี้เขาวัดการประหยัดน้ำกันเป็นหน่วยนาที ไม่ใช่หน่วยเป็นลิตรกันแล้วหรือไง แต่ที่ไหนได้ เป็นการจินตนาการเอาเองของท่านผู้นำว่า คนกรุงแปรงฟันโดยไม่ปิดน้ำก๊อก ซึ่งถ้าท่านบอกว่าอย่าเปิดก๊อกทิ้งตอนแปรงฟันซะก็หมดเรื่อง
ว่าแต่นี่มันเป็นปัญหาของคนส่วนใหญ่ไหมเนี่ย ที่เปิดก๊อกแปรงฟันอ้าซ่าจนแปรงเสร็จ หรือท่านผู้นำเองมีหรือเคยมีนิสัยอย่างนั้น ก็เลยทึกทักเอาเองว่า คนอื่นจะมีนิสัยเช่นนั้น
เมื่อคราวน้ำท่วมหลัด ๆ ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ท่านก็ยังเคยแนะนำให้พลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วยการเลี้ยงปลามันซะเลย ผมเช็กจากนักข่าวภาคสนามดูแล้วว่าท่านพูดเล่นหรือพูดจริง นักข่าวยังคงยืนยันว่าท่านพูดจริงจัง ก็เลยเป็นอย่างฮาเช่นที่เห็น
นี่ก็ยังไม่นับรวมคำแนะนำเช่นให้เกษตรกรปลูก “หมามุ่ย” แทนพืชราคาต่ำอีกนะ
ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วม แท้จริงมันก็ไอ้น้ำตัวเดียวกันนั่นแหละ หากไม่มีการบริหารจัดการ ยามฤดูฝนน้ำก็เยอะก็ท่วมและก็ปล่อยน้ำลงทะเลไปฟรี ๆ แต่หากมีการจัดการ ยามหน้าฝนก็เก็บน้ำส่วนเกินไว้ที่อ่างเก็บน้ำ เพื่อเก็บไว้ใช้ดื่มกินบริโภคและการเพาะปลูก
บางทีอาจต้องคิดเติมน้ำข้ามแหล่งโดยใช้อุโมงค์ช่วยเช่นโครงการโขง-ชี-มูล หรือสร้างแม่น้ำสายใหม่ขึ้นมาด้วยซ้ำ
ผมจำได้ว่า ในยุครัฐบาลหนึ่ง มีดำริคิดโครงการโครงสร้างพื้นฐานประเทศขึ้นมาทั้งระบบรางและระบบบริหารจัดการน้ำแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อจะแก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วมทั่วประเทศขึ้นมา รวมมูลค่าโครงการประมาณ 2 ล้านล้านบาท
เสนอขึ้นมาในรูปของร่างพ.ร.บ.กู้เงินฯ เพื่อทำเป็นโครงการระยะยาว 7 ปี (2557-2563) แยกเป็นโครงการในระบบรางประมาณร้อยละ 80 อื่น ๆ เช่น ท่าเรือ สนามบินฯลฯ และลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท
ช่วงนั้น “สงครามสี” เชี่ยวกราก การจะทำอะไรหรือไม่ได้ทำอะไร ยึดหลักตามขั้วอำนาจการเมือง หาได้ยึดหลักการผลประโยชน์ส่วนรวมแต่อย่างใดไม่ ในที่สุดเรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญโดยพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้ร้อง
โครงการรถไฟความเร็วสูง ทำไม่ได้เพราะ “ถนนลูกรังยังไม่หมดไป” และโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ทำไม่ได้ ก็เพราะวิตกจริตว่าจะมีการโกงกิน
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างพ.ร.บ.กู้เงินฯ ฉบับนี้ ขัดรัฐธรรมนูญ เป็นผลให้ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นอันตกไป รัฐบาลคสช.ต่อมาทำโครงการรถไฟความเร็วสูงได้ แม้ “ถนนลูกรังยังไม่หมด”
แต่โครงการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ 3.5 แสนล้านบาท ไม่มีการดำเนินงานสานต่อแต่อย่างใด ตลอดระยะเวลาเกือบ 6 ปีมานี้
ประเทศไทยในวันนี้ ต้องประสบวิกฤตขาดแคลนน้ำแสนสาหัสอย่างไม่เคยประสบพบเห็นมาก่อนจนได้ ทั้ง ๆ ที่เป็นประเทศอู่ข้าวอู่น้ำ แต่ขาดแคลนระบบบริหารจัดการ ก็เลยต้องเผชิญชะตากรรรมอับจน..
ถึงขั้นจะต้องต้มน้ำกร่อย ขุดบ่อดินเพื่อเอาดินไปขาย หรือเลี้ยงปลาขายยามน้ำท่วม
ความคิดส่อระดับสติปัญญาได้ดีจริง ๆ ขอทวงแผนบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการและยั่งยืนหน่อยเถอะ