Game of Drones: จุดเริ่มต้นของสงครามหุ่นยนต์
การใช้หุ่นยนต์ในสงครามเป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้นในข้ามคืนเมื่อปรากฏข่าวผู้นำสหรัฐฯ สั่งให้ใช้อากาศยานไร้คนขับในการสังหารผู้นำทางทหารอิหร่าน
Cap & Corp Forum
การใช้หุ่นยนต์ในสงครามเป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้นในข้ามคืนเมื่อปรากฏข่าวผู้นำสหรัฐฯ สั่งให้ใช้อากาศยานไร้คนขับ (unmanned aerial vehicle, UAV) ในการสังหารผู้นำทางทหารของประเทศอิหร่าน โดยเฉพาะประเด็นของเทคโนโลยีทางการทหารและยุทธวิธีในการรบที่คนส่วนใหญ่เริ่มเห็นว่าน่าจะเปลี่ยนไปอย่างมากจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี โดยอากาศยานไร้คนขับที่ปรากฏเป็นข่าวในครั้งนี้ คือ MQ-9 Reaper โดย MQ-9 ถือว่าเป็น hunter-killer รุ่นแรกของสหรัฐอเมริกาถูกพัฒนาขึ้นเพื่อทำหน้าที่โจมตีและสังหารเป้าหมายที่กำหนด (targeted killing) เริ่มพัฒนาในช่วงปี 2006 ภายหลังสงครามอิรักและเป็นจุดเริ่มต้นที่สหรัฐฯ พัฒนาอากาศยานไร้คนขับเพื่อวัตถุประสงค์ในการสังหารโดยเฉพาะแทนการใช้ในด้านการลาดตระเวนหรือด้านการเฝ้าระวังภัย
อานุภาพของ “โดรนสังหาร” มีมากน้อยเพียงใด ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านทุกท่านคงได้ประจักษ์ด้วยตนเองจากสำนักข่าวต่าง ๆ ที่นำเสนออย่างต่อเนื่อง โดรนสังหารเป็นหนึ่งในเครื่องมือเพื่อการสังหารเป้าหมายซึ่งสหรัฐอเมริกานำมาใช้หลังเหตุการณ์วินาศภัย 11 กันยายน (9/11) โดยในช่วงปี 2000 สหรัฐฯ มีจำนวนโดรนเพื่อการทหารจำนวนน้อยกว่า 50 ลำแต่ในปี 2012 ได้เพิ่มจำนวนเป็น 19,600 ลำ และจากข้อมูลในปี 2014 มีรายงานด้วยว่าสหรัฐฯ มีโดรนแบบ MQ-9 Reaper จำนวน 126 ลำ โดยโดรนสังหารส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ อยู่ในการควบคุมของหน่วยสืบราชการลับหรือสำนักข่าวกรองกลาง (Central Intelligence Agency, CIA) ซึ่งก่อนปฏิบัติการในอิหร่านครั้งนี้ สหรัฐฯ ก็เคยใช้โดรนเพื่อการทำลายเป้าหมายและสังหารมาแล้วหลายครั้ง อาทิ ในปากีสถาน โซมาเลีย และเยเมน
กฎหมายว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้กำลังทหารเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย (The Authorization for Use of Military Force) ของสหรัฐอเมริกาซึ่งตราขึ้นภายหลังเหตุการณ์วินาศภัย 11 กันยายน ได้ให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในการใช้กำลังทหารและการรบที่จำเป็นและเหมาะสมเพื่อป้องกันการก่อวินาศภัยและการก่อการร้ายที่จะเกิดขึ้นแก่ประเทศ ดังนั้น การสังหารเป้าหมายที่กำหนด (targeted killing) ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นทหาร อาทิ กลุ่มผู้ก่อการร้ายต่าง ๆ จึงกลายเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมายภายใต้กฎหมายภายในของสหรัฐอเมริกา และโดรนสังหารได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อกำจัดเป้าหมายสังหารที่กำหนด โดยตั้งแต่ภายหลังเหตุการณ์วินาศภัย 11 กันยายนเป็นต้นมาพบว่าการสังหารเป้าหมายที่กำหนดกว่าร้อยละ 95 ล้วนดำเนินการด้วยโดรนสังหารทั้งสิ้น
ในปี 2017 สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งสมาคมทนายความระหว่างประเทศ (International Bar Association’s Human Rights Institute) ได้จัดทำรายงานสรุปการใช้โดรนเพื่อการโจมตีและสังหารโดยรัฐบาลสหรัฐฯ และพันธมิตรขึ้น โดยรายงานดังกล่าวแสดงถึงจำนวนครั้งของการเข้าจู่โจม (number of strikes) จำนวนผู้ที่ถูกสังหาร (ทหารและพลเรือน) และจำนวนขั้นต่ำและขั้นสูงของจำนวนพลเรือนที่อาจเสียชีวิตจากการโจมตี (ประมาณการ) ซึ่งจำนวนผู้ที่ถูกสังหารอาจมีจำนวนมากถึง 4,020 คนในปากีสถาน 3,718 คนในอัฟกานิสถาน และ 1,128 คนในเยเมน โดยปฏิบัติการในปากีสถานอาจมีพลเรือนเสียชีวิตสูงถึง 969 คนเลยทีเดียว
เมื่อพิจารณาประกอบกับแนวโน้มในปัจจุบันที่มหาอำนาจทางการทหารหลาย ๆ ประเทศต่างมีโดรนสังหารเป็นของตนเองและมีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาศักยภาพในการเข้าโจมตีเป้าหมาย โดยข้อมูลจาก New America ได้แสดงให้เห็นถึงประเทศต่าง ๆ ที่มีกองกำลังหรือกองทัพโดรนไว้ในครอบครอง โดยในอาเซียนมีเพียงสิงคโปร์และอินโดนีเซียที่ได้เริ่มก่อสร้างกองทัพโดรนของตนเองขึ้นในปี 2019 ในขณะที่จีนได้พัฒนาเทคโนโลยีและกองทัพโดรนของตนเองขึ้นสำเร็จในปี 2013 และเกาหลีเหนือในปี 2012 เป็นต้น และจากสถานการณ์ในอิหร่านครั้งนี้น่าจะทำให้หลาย ๆ ประเทศเพิ่มกำลังรบของโดรนหรือเริ่มสร้างกองทัพโดรนอย่างแน่นอน
ความสามารถของโดรนสังหารนี้ได้นำมาซึ่งประเด็นทางกฎหมายและจริยธรรมหลายประการของการใช้อากาศยานไร้คนขับ หุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์ในสงครามที่น่าจะมีมากขึ้น ๆ ในอนาคตเนื่องจากกฎหมายและกติการะหว่างประเทศที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น กฎบัตรสหประชาชาติ (Charter of the United Nations) อนุสัญญาเจนีวา (Geneva Conventions) และกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law) ล้วนจัดทำขึ้นในสมัยที่การรบยังกระทำโดยมนุษย์และทหารที่เข้าไปในพื้นที่รบเป็นมนุษย์ หรือการสั่งการ/การตัดสินใจเป็นของมนุษย์เท่านั้น แต่ในอนาคตอันใกล้เมื่อโดรนหรือหุ่นยนต์รบถูกควบคุมโดยปัญญาประดิษฐ์มากขึ้นหรือถูกควบคุมทั้งหมดโดยปัญญาประดิษฐ์ ข้อคำนึงด้านศีลธรรม หลักความจำเป็นทางการทหารและหลักความได้สัดส่วนตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาเจนีวาและกฎหมายระหว่างประเทศอื่น ๆ ก็อาจไม่เพียงพอต่อการคุ้มครองชีวิตของพลเรือนและจริยธรรมในการทำสงครามอีกต่อไป
เราอาจได้เห็นสงครามเพื่อชิงการนำในด้านการรบด้วยโดรนในเร็ว ๆ นี้ พร้อมทั้งเม็ดเงินที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมและเจ้าของเทคโนโลยีพร้อม ๆ กับการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์เพื่อการสงครามอย่างเต็มรูปแบบ
…
ศุภวัชร์ มาลานนท์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
Fulbright Hubert H. Humphrey Fellowship
American University Washington College of Law