NOK แผนออกจากไอซียู
การเพิ่มทุนครั้งล่าสุดของ สายการบินนกแอร์ หรือ NOK ซึ่งถือเป็นการเพิ่มทุนครั้งที่ 4 ในรอบ 4 ปี (2 ครั้งในปัจจุบัน2560 หนึ่งครั้งเมื่อปี 2562 และล่าสุดปีนี้อีกครั้ง) นอกจากสะท้อนความยากลำบากของธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์แล้ว ยังสะท้อนถึงความอดทนของกลุ่มจุฬางกูรที่ตกกระไดพลอยโจน กลายเป็นทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่และ (ว่าที่) เจ้าหนี้รายใหญ่
พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล
การเพิ่มทุนครั้งล่าสุดของ สายการบินนกแอร์ หรือ NOK ซึ่งถือเป็นการเพิ่มทุนครั้งที่ 4 ในรอบ 4 ปี (2 ครั้งในปัจจุบัน2560 หนึ่งครั้งเมื่อปี 2562 และล่าสุดปีนี้อีกครั้ง) นอกจากสะท้อนความยากลำบากของธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์แล้ว ยังสะท้อนถึงความอดทนของกลุ่มจุฬางกูรที่ตกกระไดพลอยโจน กลายเป็นทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่และ (ว่าที่) เจ้าหนี้รายใหญ่
ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น NOK อนุมัติให้ลดทุนจดทะเบียนจาก 3,408.05 ล้านบาท เป็น 3,309.02 ล้านบาท จากนั้นให้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 4,197.17 ล้านบาท โดยออกหุ้นสามัญ 888,147,358 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาทจัดสรรทั้งจำนวนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering) ในอัตราส่วน 3.5 หุ้นสามัญเดิม ต่อ 1 หุ้นสามัญใหม่ ที่ราคาเสนอขายหุ้นละ 2.50 บาท มูลค่ารวมไม่เกิน 2,220.37 ล้านบาท และกำหนดระยะเวลาเสนอขายวันที่ 3-7 ก.พ. 63
ข้อดีของการเพิ่มทุนที่ขายหุ้นเพิ่มทุนใหม่ ได้ในราคาเกินจริง (เนื่องจากมูลค่าตามบุ๊กแวลูของบริษัทติดลบอยู่) เป็นไปตามที่ นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NOK กล่าวว่า การเพิ่มทุนครั้งนี้คาดว่าจะสามารถระดมทุนได้ 2.2 พันล้านบาท ซึ่งจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้น NOK กลับมาเป็นบวก จากที่ติดลบ 659 ล้านบาท (ณ สิ้นเดือน ก.ย. 62)
ข้อดีนี้ นอกจากคาดว่าจะสามารถปลดเครื่องหมาย C ได้ และทำให้หุ้นNOK สามารถเทรดได้ตามปกติแล้ว ไม่ถือว่าเป็นข่าวดีอะไร เนื่องจากยืนยันว่าปัญหา “เลือดตกใน” ยังดำรงอยู่ต่อไป และตัวเลขขาดทุนสะสมยังคงเพิ่มขึ้นเกิน 1 หมื่นล้านบาท ไม่มีโอกาสจ่ายปันผลอีกหลายปี (ยกเว้นใช้วิศวกรรมการเงินประเภทลดทุนมาช่วย)
ในการเพิ่มทุนของ NOK ครั้งนี้ มีคำถามว่า การบินไทย (THAI) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน NOK สัดส่วน 15.94% นั้น จะยินยอมเพิ่มทุน ตามที่ผู้บริหาร NOK ได้นำเสนอแผนเพิ่มทุนไปยัง THAI แล้ว หรือไม่
ถ้าหาก THAI ไม่ยอมเพิ่มทุนใหม่ กลุ่มจุฬางกูรผู้ถือหุ้นใหญ่ NOK 3 อันดับแรก ได้แก่ นางหทัยรัตน์ จุฬางกูร ถือ 24.37% รองลงมาเป็นนายณัฐพล จุฬางกูร ถือ 24.32% และนายทวีฉัตร จุฬางกูร ถือ 20.98% คงต้องแบกภาระซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นหากต้องการเพิ่มทุนให้บรรลุเป้าหมาย
หากมองข้ามข้ออ้างที่ดูดี แต่ไร้ความหมายของ นายรัช ตันตนันตา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NOK ที่กล่าวว่าการเพิ่มทุนครั้งนี้จะทำให้บริษัทสามารถปรับโครงสร้างทางการเงินให้แข็งแรง เป็นการเพิ่มสภาพคล่อง และทำให้มีศักยภาพและขยายธุรกิจ รวมทั้งเพิ่มความมั่นใจกับคู่ค้ามากขึ้นแล้ว การเพิ่มทุนคราวนี้เป็นแค่เพียงความพยายามซื้อเวลาเพื่อความอยู่รอดตามปกติ
จะบอกว่าเป็นความพยายามออกจากห้องไอซียู มาสู่ห้องผู้ป่วยสามัญ ก็คงไม่ผิดอะไร
สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ แผนธุรกิจภายหลังเพิ่มทุนว่าจะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
ผู้บริหาร NOK มั่นใจว่าปี 2563 ผลประกอบการของบริษัทจะขาดทุนลดลงจากปี 2562 หลังเห็นทิศทางธุรกิจดีขึ้นโดยจะเสนอแผนธุรกิจและแผนปรับฝูงบินให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทพิจารณาในช่วงกลางเดือน ก.พ.นี้ เบื้องต้นบริษัทมีแผนรับมอบเครื่องบินในปีนี้ไม่เกิน 3 ลำ พร้อมทยอยเปิดจุดบินใหม่ในต่างประเทศ
แผนธุรกิจและแผนฝูงบิน คาดว่าปีนี้จะรับมอบเครื่องบินใหม่ เป็นเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 จำนวนไม่เกิน 3 ลำจากปัจจุบันที่มีอยู่ 24 ลำ (โบอิ้ง 737-800 จำนวน 16 ลำ Q400 จำนวน 8 ลำ) รองรับจุดบินใหม่ในต่างประเทศแถบอาเซียน ซึ่งจะเปิดใหม่ 2 จุดบินในกลางปี 2563 พร้อมทั้งเพิ่มความถี่จุดบินเดิม รวมทั้งจะพิจารณาเส้นทางบินในประเทศที่สอดคล้องกับใช้เครื่องใบพัด Q400 ที่ปัจจุบันบินระยะสั้นเกินไป เพราะต้องการเพิ่มการใช้เครื่องบินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนั้นยังมีแผน Turnaround เฟส 2 พร้อมตั้งเป้า 1) เป็นสายการบินที่ตรงเวลา ซึ่งได้เริ่มทำในช่วงครึ่งหลังปีก่อน 2) ควบคุมต้นทุน หรือบริหารต้นทุนให้ดีขึ้นโดยใช้ซอฟต์แวร์เข้ามาบริหาร ส่วนน้ำมันได้ซื้อผ่าน THAI ทำให้ได้ราคาที่ดี โดยต้นทุนน้ำมันมีสัดส่วน 30% ของต้นทุนรวม 3) แผนปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ ได้แก่ นกไลท์, นกเอ็กซตร้า และ นกแมกซ์
ความพยายามออกจากห้องไอซียูดังกล่าวทำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่ชัดเจน ดังจะเห็นว่าแม้ที่ผ่านมาการแข่งขันสายการบินรุนแรง แต่ NOK ยังสามารถมีรายได้ต่อกำลังการผลิต (RASK) ดีขึ้น โดย NOK ถือว่ารายได้อยู่ในระดับสูง อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) สูงกว่าสายการบินอื่น ขณะเดียวกันก็พยายามแก้ปัญหาต้นทุน โดยเฉพาะต้นทุนการเช่าเครื่องบิน ต้นทุนการซ่อมบำรุงเครื่องบินที่ติดสัญญาระยะยาว นอกจากนี้ เงินบาทแข็งค่าส่งผลกระทบนักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย แต่ NOK มีเที่ยวบินไปจีนกว่า 17 เส้นทางเป็นแบบเช่าเหมาลำ จึงกระทบไม่มาก
บนความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวช่วยให้นักลงทุนและผู้ถือหุ้น มั่นใจว่าจะเกิดเหตุซ้ำรอยเมื่อกลางปีที่แล้ว ที่ทำให้NOK เกือบตกเป็นเหยื่อของวิศวกรรมการเงินมาแล้ว ดีที่ว่าดีลที่จะเปิดทางให้บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV เข้าซื้อหุ้นบริษัท NOK จากกลุ่มจุฬางกูร ล้มลงไปเสียก่อน
นอกจากนั้นยังไม่ต้องเผชิญข่าวร้ายจากการตั้งคำถามของเจ้าหน้าที่รัฐ แบบที่นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่ว่าได้จับตาการดำเนินธุรกิจของ NOK อย่างใกล้ชิด ยังมีปัญหาทั้งด้านสถานะทางการเงินและกระแสเงินสด ซึ่งเป็นท่าที “ถามนำ” เพื่อให้มีคำตอบอันไม่น่ายินดี
เส้นทางต้องลุ้นเพื่อออกจากไอซียูของ NOK จึงเปรียบได้กับการวิ่งมาราธอนที่ต้องติดตามดูในระยะยาว