KTC ท้าทาย ‘ระเฑียร’.?
ก่อนหน้านี้บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ถูกท้าทายว่าอัตรากำไรจะลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี...ทำให้ผลประกอบการสร้างความกังวลต่อนักลงทุนว่าจะไม่ค่อยสู้ดีนักทั้งงบไตรมาส 4/2562 และงบปี 2562
สำนักข่าวรัชดา
ก่อนหน้านี้บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ถูกท้าทายว่าอัตรากำไรจะลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี…ทำให้ผลประกอบการสร้างความกังวลต่อนักลงทุนว่าจะไม่ค่อยสู้ดีนักทั้งงบไตรมาส 4/2562 และงบปี 2562
แต่ปรากฏว่างบที่เพิ่งประกาศออกมายังดูดี แม้ตัวเลขจะโตต่ำกว่าสองหลักก็ตาม…
โดยงบปี 2562 ฟาดกำไรสุทธิ 5,524 ล้านบาท เพิ่ม 7.5% จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 5,140 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 4/2562 โชว์กำไรสุทธิ 1,319 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.4%
ถ้าไปดูไส้ในงบปี 2562 จะเห็นว่า ตัวเลขหลาย ๆ ตัวของ KTC ยังเติบโต…เริ่มจากรายได้รวมอยู่ที่ 22,625 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.7% แบ่งเป็น รายได้ดอกเบี้ยบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 7.5% รายได้ดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้น 7.9% และรายได้ค่าธรรมเนียม (ไม่รวมค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงิน) เพิ่มขึ้น 4.9%
ในส่วนของต้นทุนถือว่าสามารถบริหารจัดการได้ค่อนข้างดี…ค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวม (Cost to Income Ratio) ลดลงจาก 35.5% ในปี 2561 มาอยู่ที่ 34.1% ในปี 2562 ทั้ง ๆ ที่มีการเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านการตลาดเพิ่มขึ้น
ส่วนพอร์ตลูกหนี้รวมอยู่ที่ 85,834 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.8% แบ่งเป็นลูกหนี้บัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 10.9% และลูกค้าสินเชื่อเพิ่มขึ้น 7.9% โดยปริมาณใช้จ่ายบัตรเพิ่มขึ้น 10.6% สูงกว่าอุตสาหกรรมที่โตแค่ 8.7%
ตัวเลขอีกตัวที่น่าสนใจ คือ หนี้สูญได้รับคืนเพิ่มขึ้น 4.6% มาอยู่ที่ 3,496 ล้านบาท แม้ตัวเลขอาจไม่สูง แต่เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าความสามารถในการติดตามทวงหนี้ทำได้ดีขึ้น
สอดคล้องกับตัวเลข NPL ที่ปรับลดลงจาก 1.14% ในปี 2561 มาอยู่ที่ 1.06% ในปี 2562
แต่สิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกต จะเห็นว่าอัตราการเติบโตของตัวเลขต่าง ๆ ไม่ร้อนแรงเหมือนก่อน
นั่นเท่ากับว่า ต่อจากนี้อาจไม่เห็นการโตแบบก้าวกระโดด 30-40% เหมือนในอดีตอีกแล้ว
แต่อัตราการเติบโตที่ระดับ 10% กว่า ๆ ยังคงมีให้เห็นอีกต่อไป…
สิ่งสำคัญต้องจับตา 3 ธุรกิจใหม่ที่ KTC หวังจะให้เป็นเรือธงลำใหม่ ได้แก่ ธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ และธุรกิจสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ จะมาช่วยหนุนการเติบโตได้มากน้อยแค่ไหน..?
ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะกว่าจะเห็นผล…เนื่องจากยังอยู่ในช่วงของการเริ่มต้น
ขณะที่ในปี 2563 นี้ น่าสนใจตรงที่มาตรฐานทางบัญชีใหม่ TFRS 9 มีผลเชิงลบกับ KTC อย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลข NPL ที่ปรับสูงขึ้น และ Coverage Ratio จะลดลง…
เบื้องต้นนักวิเคราะห์คาดว่า จะทำให้ NPL พุ่งไปถึง 9% และ Coverage Ratio จากเดิมสูงถึง 600% ลดลงเหลือ 100–200%
ก็จะเป็นบทพิสูจน์ฝีมือ “ระเฑียร ศรีมงคล” อีกครั้งว่า จะฝ่าวิกฤติทางบัญชีครั้งนี้อย่างไร..?
ที่แน่ ๆ ไตรมาส 1/2563 เป็นปฐมภูมิ ที่จะได้เห็นแนวโน้มว่า KTC จะรุ่งหรือร่วงกันแน่…
แต่เชื่อว่าฝีมืออย่างเฮียระเฑียร คงไม่ทำให้นักลงทุนผิดหวัง…ใช่มั้ยคะเฮีย…
…อิ อิ อิ…