กม.ยุบพรรค รธน.วิบัติ

พรรคอนาคตใหม่จะถูกยุบจากคดี “อิลลูมินาติ” หรือไม่ มองในแง่กระบวนการทางกฎหมาย หลายคนเชื่อว่าไม่น่าถูกยุบ


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

พรรคอนาคตใหม่จะถูกยุบจากคดี “อิลลูมินาติ” หรือไม่ มองในแง่กระบวนการทางกฎหมาย หลายคนเชื่อว่าไม่น่าถูกยุบ

กระบวนการที่ว่าคือ ศาลนัดอ่านคำวินิจฉัยโดยไม่ต้องไต่สวน ซึ่งถ้าเป็นศาลยุติธรรม คดีที่ศาลสั่งให้จำเลยงดยื่นคำให้การ งดสืบพยาน ส่วนใหญ่จะยกฟ้อง

แม้เอามาตรฐานนั้นมาใช้กับศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ ก็งดไต่สวน แต่รู้กันคดีนั้นมีประเด็นอ่อนไหว ทั้งยังเป็นคดีที่ กกต.ยื่นคำร้องเอง ต่างจากคดีนี้ ที่ผู้ร้องเป็นบุคคลธรรมดา แม้พ่วงประวัติ อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน

อันที่จริง คอการเมืองส่วนใหญ่ก็มองว่า อนาคตใหม่น่าจะโดนคดีที่ กกต.ยื่นยุบพรรค ฐานกู้เงินธนาธร มากกว่า แต่พออดีต กกต.สมชัยแฉว่า 32 พรรคกู้เหมือนกัน ก็มองว่าถ้าอย่างนั้นจะพัวพันพรรคอื่นวุ่นวาย ยุบเสียตั้งแต่คดีอิลลูมินาติก่อนไหม

คิดอย่างนี้ไม่ถูกนะ เท่ากับคิดว่าอนาคตใหม่โดนยุบแหง ๆ มีการตั้งธงไว้แล้ว ซึ่งเท่ากับหมิ่นศาล คิดเงียบ ๆ ได้แต่อย่าคิดดัง ๆ เดี๋ยวติดคุกหัวโต เวลาคิดดัง ๆ ต้องเชื่อมั่นว่าศาลมีความยุติธรรม ผลออกได้ทั้งสองอย่าง ยุบไม่ยุบ

อนาคตใหม่อาจไม่ถูกยุบ อยู่จนเป็นพรรคใหญ่ ธนาธรชนะถล่มทลาย กลับมาเป็นนายกฯสมัยหน้าก็ได้ (ฮา)

แต่ไม่ว่าจะยุบไม่ยุบ การยื่นคำร้องยุบพรรค ตามมาตรา 49 รัฐธรรมนูญ 2560 ก็น่าศึกษา ในแง่ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย

มาตรา 49 บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้

ทราบหรือไม่ มาตรานี้มีที่มาจากมาตรา 65 ในรัฐธรรมนูญ 2540 บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้

รัฐธรรมนูญ 2540 มีที่มาจากพฤษภา 35 ซึ่งประชาชนนองเลือดต้านรัฐประหารสืบทอดอำนาจ จึงเกิดแนวคิดว่า ประชาชนมีสิทธิต่อต้านรัฐประหารล้มล้างประชาธิปไตย จนเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างนั้น

เรื่องตลกคือ มาตรานี้ไม่เคยใช้ได้จริง รัฐธรรมนูญ 2540 ถูกฉีก แล้วรัฐธรรมนูญ 2550 ก็เขียนมาตรา 68 ใหม่ว่า

บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้มิได้

 แล้วในวรรคสองก็บอกว่า ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการเช่นว่า ผู้ทราบการกระทำมีสิทธิเสนอให้อัยการสูงสุดตรวจสอบ และยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำ โดยหากเป็นพรรคการเมือง ศาลอาจยุบพรรคตัดสิทธิได้

มาตรานี้ได้ใช้ตอนไหนน่าจะจำกันได้อยู่ ก็ตอนที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์พรรคเพื่อไทยเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แล้ว ส.ว.ลากตั้งกับ ส.ส.ปชป.ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งระงับ ซึ่งศาลก็รับโดยไม่ต้องรออัยการสูงสุดยื่น ทำให้รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จ

ครั้งนั้นวิพากษ์วิจารณ์กันอื้ออึงว่า ตัดขั้นตอนอัยการสูงสุดไปได้อย่างไร รัฐธรรมนูญ 2560 จึงเขียนให้ชัดขึ้น ถ้ายื่นอัยการสูงสุดแล้วไม่รับหรือไม่ดำเนินการใน 15 วัน ก็ยื่นศาลได้เลย

ย้อนดูตั้งแต่ต้นแล้วประหลาดใจไหม 28 ปีหลังพฤษภาทมิฬ 23 ปีหลังรัฐธรรมนูญ 2540 มาตราที่เขียนไว้ให้ประชาชนมีสิทธิต้านรัฐประหาร กลายเป็นมาตราที่เขียนให้ศาลมีอำนาจยุบพรรคที่ต่อต้านรัฐประหารสืบทอดอำนาจ

Back to top button