มาตรฐาน VS กำไรลด
เริ่มต้นปี 2563 ไม่เพียงมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน (TFRS 9) ธนาคารพาณิชย์ไทย ต้องเผชิญกับเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมฉบับใหม่ จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ถือเป็นปัจจัยเชิงลบรายได้และกำไรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง
เริ่มต้นปี 2563 ไม่เพียงมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน (TFRS 9) ธนาคารพาณิชย์ไทย ต้องเผชิญกับเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมฉบับใหม่ จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ถือเป็นปัจจัยเชิงลบรายได้และกำไรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กรณีแรก มาตรฐาน TFRS 9 ทำให้ค่าใช้จ่ายในการกันสำรองฯ มีการเปลี่ยนตามการจัดชั้นของสินทรัพย์ที่ปรับเป็น 3 สถานะ (Stage) คือ Stage1 เป็นกลุ่มที่ความเสี่ยงเชิงเครดิตไม่เปลี่ยนแปลง จากวันแรกของการให้สินเชื่อ Stage 2 เป็นกลุ่มที่ความเสี่ยงเชิงเครดิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และ Stage 3 เป็นกลุ่ม NPLs
ขณะที่หลักเกณฑ์การดำรงเงินสำรองขั้นต่ำ ที่กำหนดให้เงินสำรองฯ ตามมาตรฐาน TFRS 9 ต้องไม่ต่ำกว่าเงินสำรองขั้นต่ำ (Provision Floor) ที่อยู่ระดับ 1% ของสินทรัพย์และรายการนอกงบดุลที่ไม่ด้อยคุณภาพ
กรณีที่สอง การปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อดูแลผู้บริโภค จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมีการปรับปรุงวิธีคิดค่าปรับ ค่าธรรมเนียม และดอกเบี้ย 3 เรื่องด้วยกัน
-ค่าปรับไถ่ถอนก่อนกำหนด กำหนดให้มีช่วงที่จะไม่คิดค่าปรับไถ่ถอนก่อนกำหนด และมีการคำนวณจากยอดเงินต้นคงเหลือ แทนที่จะเป็นการคำนวณจากยอดวงเงินกู้ทั้งก้อน ครอบคลุมสินเชื่อ SME (มีการเก็บค่าธรรมเนียมส่วนนี้ไม่เกิน 3%) และสินเชื่อส่วนบุคคล
-ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ กำหนดให้ต้องมีช่วงระยะเวลาที่จะไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (Grace Period) มีการคำนวณค่างวดค้างชำระส่วนที่เป็นเงินต้น (ไม่รวมดอกเบี้ย) เท่านั้น จากเดิมที่คำนวณจากยอดเงินต้นคงเหลือทั้งหมด) รวมถึงให้พิจารณาปรับลดหรือยกเว้นค่าปรับให้ลูกหนี้เดิมตามสมควร การปรับวิธีคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ส่วนนี้จะกระทบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อ SME ในส่วนที่เป็น Term Loans และสินเชื่อส่วนบุคคล
-การปรับปรุงค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตและเอทีเอ็ม กำหนดไว้ว่าหากมีการยกเลิกบัตร ลูกค้าจะได้รับค่าธรรมเนียมคืนตามสัดส่วนทันที รวมถึงการออกบัตรใหม่และรหัสทดแทน ที่จะไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม (ยกเว้นบัตรที่ต้นทุนสูง ที่อาจเรียกเก็บได้ตามเหมาะสม)
ทั้ง 2 กรณี..ถือเป็นการสร้างมาตรฐานให้ธนาคารพาณิชย์ไทย อย่าง TFRS 9 มาช่วยส่งเสริมให้การแสดงฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง มีเงินสำรองเพียงพอเพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และงบการเงินธนาคารพาณิชย์ไทยจะสอดคล้องตามสากล ช่วยให้ระบบสถาบันการเงินมีความโปร่งใส น่าเชื่อถือมากขึ้น แต่ต้องแลกกับผลกระทบต่อฐานะทางการเงิน ผลการดำเนินงานด้วยเช่นกัน
ส่วนการปรับปรุงวิธีคิดค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ย ถือเป็นการสร้างแนวปฏิบัติที่ชัดเจน และเป็นมาตรฐานระหว่างธนาคารพาณิชย์ (เน้นประโยชน์ให้ผู้บริโภคมากขึ้น) และกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใสและชัดเจนให้ผู้บริโภคเป็นหลัก โดยเฉพาะวิธีคิดค่าธรรมเนียมหรือดอกเบี้ยนั่นเอง
แต่ต้องแลกกับผลกระทบเชิงลบต่อตัวเลขงบการเงินธนาคารพาณิชย์ไทย อาทิ การปรับวิธีคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ที่จะกระทบรายได้ดอกเบี้ย ส่วนเรื่องค่าปรับไถ่ถอนก่อนกำหนด และการปรับปรุงค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตและเอทีเอ็ม อาจมีผลกระทบในวงจำกัด ตัวอย่างกรณีค่าปรับไถ่ถอนก่อนกำหนด ธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง มีการผ่อนปรนให้ลูกค้าด้วยการไม่เรียกเก็บค่าปรับและคำนวณจากยอดเงินกู้คงเหลืออยู่แล้ว
ส่วนกรณีการปรับปรุงค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตและเอทีเอ็ม ธนาคารพาณิชย์ไทย บางส่วนมีการดำเนินการคืนค่าธรรมเนียม เมื่อลูกค้ามีการยกเลิกบัตรเดบิตและเอทีเอ็มก่อนหน้านี้ไปแล้ว จึงมีผลกระทบไม่มากนัก
เรียกได้ว่า การสร้างมาตรฐานใหม่ครั้งนี้ ระยะสั้น ๆ ธนาคารพาณิชย์ไทย อาจต้องแลกกับตัวเลขกำไรที่ตกหล่น อย่างปฏิเสธไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าตัวเลขกำไรธนาคารพาณิชย์ใด จะตกหล่นไปมากหรือน้อยก็ว่ากันไป
แต่ระยะยาว..นี่คือการสร้างมาตรฐานรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับธนาคารพาณิชย์ไทย..นั่นเอง