มาตรการทางกฎหมายเพื่อการจัดการข่าวปลอม
Anti-fake news legislation หรือกฎหมายเพื่อการจัดการกับข่าวปลอมที่อาจเป็นภัยต่อสาธารณะหรือความมั่นคงของรัฐมีให้เห็นมากๆ ขึ้น
Cap & Corp Forum
Anti-fake news legislation หรือกฎหมายเพื่อการจัดการกับข่าวปลอมที่อาจเป็นภัยต่อสาธารณะหรือความมั่นคงของรัฐมีให้เห็นมากๆ ขึ้น และการใช้ข่าวอันเป็นเท็จเพื่อหวังผลในทางการเมืองดูจะเป็นประเด็นหนึ่งที่มีความอ่อนไหวที่สุด แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาพร้อมกับสังคมดิจิทัลแต่อย่างใด ในอดีต Adolf Hitler ก็ใช้ยุทธการข่าวลวง ข่าวปลอม ในการสร้างความชอบธรรมในการทำลายฝ่ายอื่น ๆ จนเป็นชนวนความเกลียดชังและนำไปสู่สงครามโลก ในประเทศไทยเองก็มีการใช้ข่าวปลอมในการทำลายผู้เห็นต่างทางการเมืองมาโดยตลอด
แต่เหมือนว่าเทคโนโลยีสารสนเทศและความนิยมในการสื่อสารผ่านสังคมออนไลน์ทั้งระบบเปิดอย่าง Facebook Twitter Instagram และระบบปิดอย่างแอปพลิเคชันเพื่อการสื่อสารเฉพาะอย่าง Line หรือ WhatsApp จะทำให้การแพร่กระจายของข่าวปลอมที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยสาธารณะและความมั่นคงของรัฐเป็นเรื่องอันตรายและเป็นภัยคุกคามที่ประเทศต่าง ๆ เห็นว่าต้องมีการตรากฎหมายเฉพาะเพื่อการจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบ ตัวอย่างเช่น
1.ประเทศเยอรมนีมีการตรากฎหมาย Network Enforcement Act in 2017 ขึ้น ซึ่งแม้กฎหมายฉบับนี้จะไม่ได้เพิ่มภาระหน้าที่ให้กับเจ้าของแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ แต่ได้เพิ่มมาตรการในการมีคำสั่งปรับเป็นจำนวนเงินที่สูงในกรณีของการไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของกฎหมายที่มีอยู่เดิม และกำหนดมาตรการในการสอบสวนและนำข้อมูลอันเป็นเท็จออกไปจากระบบ
โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวกำหนดให้เจ้าของแพลตฟอร์มต้องนำข้อมูลที่ผิดกฎหมายอย่างชัดแจ้งออกไปจากแพลตฟอร์มภายใน 24 ชั่วโมงเมื่อได้รับคำร้อง แต่ถ้าเจ้าของแพลตฟอร์มเห็นว่าเนื้อหาดังกล่าวยังไม่ชัดเจนว่าจะขัดต่อกฎหมายหรือไม่ก็มีเวลา 7 วันในการสอบสวนและลบออก โดยในการพิจารณาว่าเนื้อหาข้อมูลนั้นผิดกฎหมายหรือไม่ Network Enforcement Act ให้พิจารณาจากความผิดที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งในส่วนของค่าปรับนั้นกฎหมายกำหนดไว้สูงสุดถึง 50 ล้านยูโร โดยเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งปรับ
2.ประเทศมาเลเซียมีการตรากฎหมาย Anti-Fake News Act 2018 ขึ้นเพื่อใช้ในการจัดการข่าวปลอมโดยเฉพาะเช่นกัน อย่างไรก็ตามกฎหมายฉบับนี้ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางจากกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนทั้งในแง่ของเนื้อหาที่กำหนดนิยามความหมายของ “ข่าวปลอม” ไว้อย่างกว้างขวาง และการตรากฎหมายขึ้นมานั้นก็เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของผู้มีอำนาจรัฐที่ไม่ต้องการถูกตรวจสอบเท่านั้น
3.ประเทศสิงคโปร์มีการตรากฎหมาย Protection from Online Falsehoods and Manipulation Act 2019 (“POFMA”) เพื่อจัดการกับปัญหาของข่าวปลอมในสื่อสังคมออนไลน์โดยเฉพาะเช่นกัน โดยกฎหมายมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมาและมีหลักการที่สำคัญ ดังนี้
(1) เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อป้องกันการสื่อสารข้อความอันเป็นเท็จในสิงคโปร์และเพื่อให้รัฐสามารถใช้มาตรการในการต่อต้านผลกระทบของการสื่อสารดังกล่าวได้
(2) การบังคับใช้กฎหมายครอบคลุมถึงการใช้บริการอินเทอร์เน็ตดังต่อไปนี้ด้วย ได้แก่ แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ (Facebook, Twitter, Instagram) บริการ search engine (Google Search) การให้บริการสื่อสารข้อความผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (WhatsApp, Line) และการให้บริการแชร์วีดิโอ (YouTube) เป็นต้น
(3) กฎหมายห้ามมิให้บุคคลไม่ว่าจะอยู่ในประเทศสิงคโปร์หรือไม่สื่อสารข้อความอันเป็นเท็จผ่านระบบสื่อสารตามข้อ (2) ข้างต้นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประเทศสิงคโปร์ในด้านความมั่นคงการสาธารณสุข ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยความมั่นคงด้านการเงิน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือมีผลเป็นการชักจูงหรือโน้มน้าวผลการเลือกตั้งหรือสร้างความเป็นปฏิปักษ์หรือขัดแย้งกันของคนในชาติหรือทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลและหน่วยงานรัฐ
(4) บุคคลธรมดาที่กระทำการฝ่าฝืนอาจได้รับโทษปรับไม่เกิน 50,000 ดอลลาร์สิงคโปร์หรือจำคุกไม่เกิน 5 ปีและหากผู้กระทำผิดเป็นนิติบุคคลอาจต้องโทษปรับสูงถึง 500,000 ดอลลาร์สิงคโปร์
(5) หากการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จกระทำโดยใช้ระบบโปรแกรมอัตโนมัติหรือ Bot ในการช่วยกระทำความผิดกรณีนี้ผู้กระทำผิดจะต้องรับโทษสูงขึ้นไปอีกเป็นโทษปรับไม่เกิน 100,000 ดอลลาร์สิงคโปร์หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปีในกรณีของบุคคลธรรมดาและในกรณีของนิตุบุคคลโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000,000 ดอลลาร์สิงคโปร์
(6) กฎหมายกำหนดให้ Info-Communication Media Development Authority (“IMDA”) เป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย นอกจากนี้ IMDA เป็นหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลหลายฉบับ อาทิ Broadcasting Act (Cap. 28), The Electronic Transactions Act, Films Act (Cap. 107), Newspaper and Printing Presses Act (Cap. 206), Personal Data Protection Act, Postal Services Act (Cap. 237A), และ Telecommunications Act (Cap. 323) จะเห็นว่า IMDA ก็จะคล้าย ๆ กสทช. ของไทย แต่กำกับดูแลเรื่องกิจการไปรษณีย์ สื่อสิ่งพิมพ์ ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้วย เรียกว่าคณะกรรมการชุดเดียวทำงานคุ้มมาก ๆ
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกฎหมายของของประเทศสิงคโปร์ได้ให้ความมั่นใจต่อประชาชนและยืนยันต่อสาธารณะว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ได้ห้ามการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือการล้อเลียนทางการเมืองแต่อย่างใด แต่ห้ามเฉพาะการเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้น อาทิ ธนาคารสูญเสียเงินไปกว่าสองหมื่นล้าน หรือประเทศประกาศสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น โดยต้องเป็นความเห็นหรือข้อมูลที่ไม่ได้มีข้อเท็จจริงประกอบแต่อย่างใด
ปัญหาสำคัญที่สุดในการให้อำนาจแก่รัฐในการจัดการกับข่าวปลอมและดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดในเรื่องการเผยแพร่ข่าวปลอม คือ การชั่งประโยชน์สาธารณะระหว่างสิทธิของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นโดยเฉพาะความคิดเห็นทางการเมืองหรือความเชื่อต่าง ๆ รวมถึงสิทธิของสื่อมวลชนในการเผยแพร่ข่าวสารต่าง ๆ เหล่านั้นด้วย ซึ่งทั้ง Freedom of speech และ Freedom of press ต่างเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่กฎหมายระหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญในหลาย ๆ ประเทศให้ความรับรองและคุ้มครอง และเป็นสิทธิที่ช่วยค้ำยันความคงอยู่ของระบอบประชาธิปไตยที่ต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและสามารถตรวจสอบการกระทำของรัฐได้
ดังนั้น การมีกฎหมายเพื่อการจัดการกับข่าวปลอมจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการที่มีการถ่วงดุล โปร่งใส และตรวจสอบได้ และกระทำเพียงเท่าที่จำเป็นด้วยมาตรการขั้นต่ำเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องให้มีองค์กรศาลที่เป็นอิสระสามารถเข้ามาตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายและความเหมาะสมของการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐด้วย
…
ศุภวัชร์ มาลานนท์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
Fulbright Hubert H. Humphrey Fellowship
American University Washington College of Law