‘สตาร์บัคส์’ กาแฟหอมกรุ่นการเงิน
กำลังเป็นแรงกดดันธุรกิจธนาคารเกาหลีใต้ เมื่อ “สตาร์บัคส์” ร้านกาแฟชื่อดังระดับโลก กลายเป็นภัยคุกคามตลาดการเงินอย่างน่าเป็นห่วง! เพราะนอกเหนือจะเป็นร้านกาแฟระดับโลกแล้ว “สตาร์บัคส์” กำลังจะกลายเป็นผู้ให้บริการการเงินรายใหญ่ของโลกไปด้วย
พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง
กำลังเป็นแรงกดดันธุรกิจธนาคารเกาหลีใต้ เมื่อ “สตาร์บัคส์” ร้านกาแฟชื่อดังระดับโลก กลายเป็นภัยคุกคามตลาดการเงินอย่างน่าเป็นห่วง! เพราะนอกเหนือจะเป็นร้านกาแฟระดับโลกแล้ว “สตาร์บัคส์” กำลังจะกลายเป็นผู้ให้บริการการเงินรายใหญ่ของโลกไปด้วย
มีรายงานจาก The Korea Times ระบุว่า ร้านสตาร์บัคส์ เป็นภัยคุกคามต่อตลาดการเงิน เนื่องจากลูกค้านำเงินสดจำนวนมาก มาเติมลงในบัตรเติมเงินสตาร์บัคส์ ทำให้แอปชำระเงินบนมือถือ ที่ได้รับความนิยมใช้มากสุดในสหรัฐฯ คือแอป Starbucks ไม่ใช่ Google หรือ Apple Pay เหมือนดั่งอดีตที่ผ่านมา
จากข้อมูล MarketWatch พบว่า ลูกค้าสตาร์บัคส์ในสหรัฐฯ มีการใช้จ่ายเงินกว่า 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ผ่านบัตรของขวัญและแอปมือถือมากกว่า ธนาคารรายใหญ่ในสหรัฐฯ แม้จำนวนเงินสดที่อยู่ในหน่วยสกุลเงินวอนของเกาหลี ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ประเมินกันว่า น่าจะมีมากกว่า 70,000 ล้านวอนหรือประมาณ 602 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดยรายงานประจำปี 2018 พบว่า สตาร์บัคส์ มีเงินจำนวนกว่า 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่อยู่ในบัตรเติมเงินของผู้บริโภคที่ชื่นชอบการดื่มกาแฟ จากจำนวนเงินสดจำนวนนี้ ทำให้สตาร์บัคส์ก้าวเข้าสู่ธุรกิจการบริหารสินทรัพย์ระดับโลกที่อาจขยายบริการไปสู่การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ, สินเชื่อและตลาดประกันภัย
จึงทำให้บรรดานักการธนาคารเกาหลีใต้ เกิดความกังวลกันว่า ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ จะเป็นตัวเร่งผลักดันให้ร้านกาแฟสตาร์บัคส์ก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งธุรกิจการเงิน..นั่นหมายถึงเสมือนเป็นธนาคารที่ไม่มีการกำกับหรือควบคุมและไม่ ใช่ร้านกาแฟเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป
สิ่งที่น่าสนใจคือการลงทุนของร้านกาแฟ ในส่วน Crypto คือแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัล ที่คาดว่าจะเริ่มเปิดตัวแอปพลิเคชัน สำหรับผู้บริโภคในการชำระเงินด้วย Bitcoin กับร้านสตาร์บัคส์ช่วงครึ่งแรกปี 2020 เป็นผลทำให้ร้านกาแฟสตาร์บัคส์ อาจกระตุ้นให้เกิดตลาดการเงินทางเลือกจากระบบเดิม
ทำให้เกิดการเรียกร้องให้หน่วยงานที่กำกับดูแลธุรกรรมการเงิน มีการออกกฎระเบียบเพิ่มขึ้น
โดย Kim Sang-bong จากมหาวิทยาลัย Hansung ระบุว่า มีความจำเป็นจะต้องมีกฎระเบียบสำหรับผู้ให้บริการระ บบเติมเงิน เพื่อรักษาอัตราส่วนความเพียงพอของทุน (Capital Adequacy Ratio) ให้อยู่ในระดับปกติ
นี่คือ “พลวัตทางเทคโนโลยี” ที่ทำให้ธุรกรรมการเงินไม่จำเป็นต้องยึดติดกับธนาคารอีกต่อไปแล้ว
นั่นจึงเป็นได้ทั้ง “โอกาสและวิกฤติ” คราวเดียวกันในที่นี้หมายถึงเป็นโอกาสของร้านสตาร์บัคส์ ที่อาศัยบิ๊กดาต้าจากฐานลูกค้าที่มีอยู่ทั่วโลก เพื่อขยายบริการทางการเงิน ด้วยแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบต่าง ๆ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “คอฟฟี่&มันนี่” นั่นเอง
ในทางกลับกันมันคือ “วิกฤติของธนาคาร” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้..มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าธนาคารไหนจะมีการปรับตัวและปรับแผนรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร.!!
ที่สำคัญนี่คือ “ความท้าทาย” ของหน่วยงานกำกับดูแล..ที่ต้องวิ่งไล่ตามเทคโนโลยีและสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ได้อย่างเท่าทันและเท่าเทียมด้วยเช่นกัน