ธนาคารไทยในยุคดิ้นรนหนีอนาคต

งบสิ้นงวดปี 2562 ของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย ที่มีมาร์เก็ตแคปใหญ่มากกลุ่มหนึ่ง ประกาศออกมากันหมดแล้ว ถือว่ามีผลกำไรสุทธิที่ไม่เลวร้ายมากนัก เพราะขนาดธนาคารที่เคยมีปัญหามากสุดอย่าง CIMBT ยังดูพ้นขีดอันตรายแล้ว แม้ว่าการพ้นอันตรายกลับมามีกำไรที่เติบโตดูดีจะมาจากผลพวงของการเพิ่มทุนครั้งใหญ่ก็ตาม


พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล

งบสิ้นงวดปี 2562 ของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย ที่มีมาร์เก็ตแคปใหญ่มากกลุ่มหนึ่ง ประกาศออกมากันหมดแล้ว ถือว่ามีผลกำไรสุทธิที่ไม่เลวร้ายมากนัก เพราะขนาดธนาคารที่เคยมีปัญหามากสุดอย่าง CIMBT ยังดูพ้นขีดอันตรายแล้ว แม้ว่าการพ้นอันตรายกลับมามีกำไรที่เติบโตดูดีจะมาจากผลพวงของการเพิ่มทุนครั้งใหญ่ก็ตาม

กำไรสุทธิที่มีทั้ง ดีกว่าคาด หรือ ตามคาด หรือ แย่กว่าคาด ไม่สามารถปฏิเสธข้อเท็จจริงได้ว่า ยุคทองของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ครั้งหนึ่งเคยถูกกล่าวหาว่า เสือนอนกิน หรือ ปลิงดูดเลือดสังคม ในช่วงก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งได้ผ่านพ้นไปแล้วและจะไม่หวนกลับมา

นับตั้งแต่ยุคของการฟื้นตัวหลังวิกฤตต้มยำกุ้งที่กลับมาทำกำไรต่อเนื่องกันทั่วหน้า มาสู่ยุคของการปรับตัวครั้งล่าสุดที่ยังเพิ่งจะเริ่มต้นมาไม่เกิน 5 ปี ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ไทยต้องยอมรับว่า อาชีพนายธนาคารพาณิชย์นั้นเปรียบได้กับการนั่งบน อาสน์พระอินทร์” ที่ กระด้างดุจศิลา กันเลยทีเดียว

เหตุผลเพราะต้องตอบโจทย์ที่เป็นการบ้านอันท้าทายว่า จะสามารถหนีการไล่ล่าของอนาคตได้หรือไม่ และอย่างไร

หากมองย้อนกลับไปถึงผลประกอบการงวดสิ้นปี 2561 ของธนาคารแม้จะเติบโตขึ้น แต่กำไรของธนาคารโดยรวมเติบโตในอัตราที่ลดลง นั่นหมายความว่ามีธนาคารบางรายมีกำไรลดลงเกินค่าเฉลี่ยของกลุ่ม ฉุดรั้งให้ตัวเลขไม่สวยไปด้วย แถมยังมีปัจจัยเสริมพ่วงเช่น ธนาคารขนาดเล็กอย่างน้อยหนึ่งราย จำต้องเพิ่มทุน ก่อนที่จะไม่สามารถปล่อยกู้เพิ่มได้ ส่วนธนาคารขนาดเล็กอีกรายหนึ่งเพิ่มทุนขายพันธมิตรต่างชาติไปแล้วในราคาสูงกว่ากระดาน แต่งบกำไรและกำไรสุทธิต่อหุ้นกลับไม่โดดเด่น และธนาคารขนาดกลาง 2 แห่ง กำลังเจรจาหาทางควบรวมกิจการโดยสมัครใจ  แล้วก็ธนาคารพาณิชย์ระดับหัวแถว ยังเดินหน้ารีดไขมัน ลดสาขา ปรับโครงสร้างเพื่อรองรับอนาคตของธนาคารยุคดิจิทัล พร้อมกับหาเครื่องมือควบคุมความเสี่ยงรุ่นใหม่ ๆ มารองรับพร้อมกัน ทำให้กำไรสุทธิและรายได้ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของยุคสมัยไม่สดใสชั่วคราว

ปีที่ผ่านมา สถานการณ์รีดไขมันของธนาคารใหญ่ยังดำเนินต่อไป และดีลเจรจาควบรวมของธนาคารขนาดกลางคือ TMB กับ TBANK ก็บรรลุเป้าหมาย ในขณะที่ธนาคารขนาดใหญ่อย่าง BBL ก็ทำข้อตกลงเคลื่อนย้ายฐานไปลงทุนในอินโดนีเซียตามโมเดล อาเซียนแบงก์ อันถือเป็นก้าวใหญ่ก้าวใหม่ที่ต้องรอบรรลุผลในปีนี้

พลวัตของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่เกิดขึ้น แตกต่างจากอดีตก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง ยุคที่ธนาคารพาณิชย์ไทยเติบโตปีละเกิน 10% และมีอัตรากำไรสุทธิเกินกว่า 20% ต่อปี ซึ่งถือเป็นยุคทอง และต่างจากยุคของการฟื้นตัวที่ทำให้มีกำไรต่อเนื่องกันเกือบ 1 ทศวรรษ

เหตุผลรองรับข้อเท็จจริงคือ สภาพแวดล้อมใหม่ภายใต้กฎเหล็กของ BIS ที่มีกติกา stress test กำกับคุณภาพและสุขภาพของธนาคาร หรือกติกาใหม่ว่าด้วยระบบบันทึกบัญชีใหม่ IFRS ตลอดจนสภาพการแข่งขันในเทคโนโลยีดิจิทัลลดบทบาทลงสู่ฐานะใหม่ ที่เป็นทั้งผู้เล่น (แข่งขันเอาตัวรอดเอง) และพี่เลี้ยง (ที่ปรึกษาให้ธุรกิจอื่น ๆ)

ที่ผ่านมา รายได้จากอัตราดอกเบี้ยและกำไรจากส่วนต่างของดอกเบี้ย เริ่มลดบทบาทและสัดส่วนลง ในขณะที่รายได้ส่วนอื่น ๆ (ค่าธรรมเนียมจากการให้บริการทางการเงินทางตรงกับอ้อม และผลตอบแทนการลงทุนอื่น ๆ) มีความสำคัญมากขึ้น แต่รายได้จากส่วนหลังนี้ยังต้องเผชิญกับส่วนต่างที่แคบลงเพราะลงทุนทางเทคโนโลยีในระยะเปลี่ยนผ่าน และต้นทุนการจ่ายชดเชยให้พนักงานที่ต้องปรับลดลง

อัตรากำไรสุทธิที่ลดลงจากรายได้ปกติของธนาคารพาณิชย์ มีแนวโน้มถดถอยลงทั้งจากการแข่งขันและจากต้นทุนดำเนินงานเพื่อควบคุมคุณภาพขององค์กร จำต้องหากำไรจากธุรกิจเสริมอื่น ๆ ทำให้ธุรกิจนี้ซับซ้อน และลดเสน่ห์ลงแม้หากพิจารณาจากธุรกิจในระบบทุนนิยมแล้วยังสามารถมีอนาคตอีกยาวไกล

การปรับตัวเข้าสู่ยุคใหม่เข้าสู่ธนาคารดิจิทัลจะเป็นอนาคต แต่ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธได้ยากก็คือ แหล่งทำกำไรในปัจจุบันของธนาคารพาณิชย์ยังต้องพึ่งพากำไรจากแหล่งเดิมคือส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีกนานหลายปี

ดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากของธนาคารที่ยังคงต่ำเตี้ยเป็นของคู่กัน เพราะ ขึ้นกับ 2 ปัจจัยสำคัญคือ ปริมาณเงินในท้องตลาด และความต้องการเงินกู้ของลูกค้าในแต่ละช่วงของเศรษฐกิจ

ปรากฏการณ์ที่ไม่ใช่ มือที่มองเห็น อะไร แต่เป็นกลไกปกติของธนาคาร สิ่งที่คนถือหุ้นธนาคารหรือนักลงทุนทั่วไปควรต่อสู้เพื่อ รักษาปัจจุบัน และ ป้องกันการไล่ล่าของอนาคต

ราคาหุ้นธนาคารในตลาดยามนี้ที่ส่วนใหญ่ต่ำกว่าบุ๊ก และมีส่วนกดดันให้อาชีพนายธนาคารที่เคยเป็นอาชีพอันทรงเกียรติหรือ Noblesse oblige ถูกลดค่าลง จากเหตุผลหลักทางเศรษฐศาสตร์ของห้วงเวลาที่การลงทุนต่ำกว่าการออมเพราะคนที่จะกู้เงินเพื่อลงทุนซึ่งต้องอาศัยเงินระยะยาวนั้นมีน้อยลง

ห้วงเวลาเช่นนี้คือบททดสอบครั้งสำคัญว่า ธนาคารแบบไหนที่จะรอดพ้นจากการไล่ล่าของอนาคตได้ดีกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็นไปตามกฎของดาร์วิน หรือกฎแห่งป่าของเมาคลี

Back to top button