หุ้นรับอานิสงส์ภัยแล้ง

จากสถานการณ์ภัยแล้งที่บ่งบอกถึงความรุ่นแรงมากขึ้น ซึ่งทำให้ได้รับผลกระทบไปทุกภาคส่วน แต่กลับกันก็ยังมีกลุ่มธุรกิจหนึ่งได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์ภัยแล้ง


เส้นทางนักลงทุน

ภัยแล้งในฤดูกาลปี 2563 ถือว่าเกิดขึ้นเร็วกว่าปีก่อนหน้า และส่อเค้าความรุนแรงยาวนานมากขึ้นไปอีก จากปริมาณน้ำในเขื่อนที่ลดลง 33.1% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการลดลงในแทบทุกภาคของประเทศ และยังเป็นระดับน้ำที่วิกฤติกว่าในปี 2558 ที่เกิดภัยแล้งรุนแรง

ดูได้จากข้อมูลสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ  (สทนช.) ปัจจุบันแหล่งน้ำต่าง ๆ ทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 49,349 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เป็นปริมาณน้ำที่ใช้การได้เพียง 25,273 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ 14 เขื่อนใหญ่ทั่วประเทศระดับน้ำอยู่ในภาวะวิกฤติ

เช่น เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก เหลือน้ำใช้การได้ 18% ของความจุเขื่อน, เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เหลือน้ำ 29%, เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี เหลือน้ำ 23% แต่ที่น่าห่วงเป็นพิเศษ คือ ในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งน้ำในเขื่อนเหลือน้อยมาก อย่างเขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ปัจจุบันเหลือน้ำในเขื่อนใช้การได้แค่ 6% ส่วนเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ปริมาณน้ำล่าสุดไม่เพียงพอแล้ว ต้องนำน้ำก้นอ่างมาใช้

ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้ว 16 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ และอุตรดิตถ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่ นครพนม มหาสารคาม บึงกาฬ หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ และนครราชสีมา และภาคกลาง 5 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา อุทัยธานี ชัยนาท และนครสวรรค์

สำหรับภัยแล้งสร้างความเสียหายต่อพืชฤดูแล้งสำคัญ คือ ข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย ทำให้ราคาปรับตัวขึ้นได้ในระยะสั้น แต่ด้วยแรงฉุดด้านผลผลิตที่ลดลงจะเป็นปัจจัยฉุดรายได้เกษตรกรในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 ให้หดตัวในกรอบ 0.5-1.0% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

ผลกระทบจากภัยแล้งที่เร็วและมีโอกาสยาวนานกว่าปกติ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า จะกระทบต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจอาจอยู่ที่ราว 17,000-19,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.10-0.11% ของ GDP

ทั้งนี้ต้องติดตามระดับความรุนแรงของภัยแล้งอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 2563

จากสถานการณ์ภัยแล้งที่บ่งบอกถึงความรุ่นแรงมากขึ้น ซึ่งทำให้ได้รับผลกระทบไปทุกภาคส่วน แต่กลับกันก็ยังมีกลุ่มธุรกิจหนึ่งได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์ภัยแล้ง อย่างกลุ่มแรก คือผู้ผลิตน้ำประปาจำหน่ายไปยังครัวเรือน และตามโรงงานอุตสาหกรรม  และต่อมาเป็นกลุ่มจำหน่ายน้ำดื่มประเภทต่าง ๆ เป็นต้น

โดยในกลุ่มน้ำประปา อาทิเช่น บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EASTW, TTW และ WHAUP เป็นต้น

บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EASTW เป็นผู้พัฒนาและบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก โดยจำหน่ายน้ำดิบให้แก่นิคมอุตสาหกรรม โรงงานทั่วไป และกิจการประปา ซึ่งลูกค้าหลัก 80% อยู่ในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี

คาดว่าเมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าแล้งลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมหรือตามโรงงานต่าง ๆ จะหันมาซื้อน้ำจากบริษัทมากขึ้น เนื่องจากแหล่งน้ำของตัวเองมีปริมาณลดลง ประกอบกับปีนี้บริษัทได้มีการปรับขึ้นราคาขาย อย่างไรก็ตาม ในแง่การผลิตอาจได้รับผลกระทบเนื่องจากแหล่งน้ำดิบที่บริษัทนำมาใช้ผลิตน้ำประปามีปริมาณลดลง อย่างที่อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จังหวัดระยอง ปัจจุบันมีน้ำใช้การได้เพียงแค่ 26% เท่านั้น

บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) หรือ TTW เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำประปาให้กับการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) โดยบริษัทดำเนินการครอบคลุมพื้นที่ อ.นครชัยศรี อ.สามพราน อ.พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และ อ.เมืองสมุทรสาคร อ.กระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร สำหรับบริษัทย่อยดำเนินการในเขต จ.ปทุมธานี โดยมีแหล่งน้ำสำคัญมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน ซึ่งระดับน้ำยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ จึงไม่น่ากังวลเรื่องกระบวนการผลิต

บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP เป็นอีกหนึ่งบริษัท ประกอบธุรกิจหลักในธุรกิจสาธารณูปโภค โดยจำหน่ายน้ำดิบ ผลิตและจำหน่ายน้ำเพื่ออุตสาหกรรม และบริหารจัดการน้ำเสีย ให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอุตสาหกรรมต่าง ๆ

อีกหนึ่งกลุ่มที่น่าสนใจ คือ กลุ่มจำหน่ายน้ำดื่ม  เพราะเชื่อว่าเมื่ออากาศร้อนมาก ๆ ความกระหายน้ำจะเกิดขึ้น ผลลัพธ์ต่อมา คือ ส่งผลต่อยอดขายน้ำเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มน้ำหวาน อย่างเช่น เป๊ปซี่ น้ำชาเขียว เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำหวานต่าง ๆ และน้ำเปล่า เป็นต้น

ผลดังกล่าวจะทำให้บริษัทที่เกี่ยวข้องที่จัดจำหน่าย อาทิเช่น OSP, CBG, HTC, ICHI, SAPPE และ OISHI ซึ่งจะได้อานิสงส์จากภัยแล้งที่รุนแรงและยาวนานจนถึงกลางปี 

บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยมีกลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มบำรุงกำลังภายใต้ตราสินค้า เช่น เอ็ม-150 ลิโพฯ เป็นต้น เครื่องดื่มเกลือแร่ และกาแฟพร้อมดื่ม

บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ซึ่งมีการลงทุนหลักในบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจ ผลิต ทำการตลาด จำหน่าย และบริหารจัดการการจัดจำหน่ายเครื่องดื่มบำรุงกำลังและเครื่องดื่มอื่น ๆ อย่างครบวงจร

บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) หรือ HTC เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มน้ำอัดลม ซึ่งได้รับลิขสิทธิ์จากโคคา-โคล่า คัมปะนี (ประเทศสหรัฐอเมริกา) เมืองแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจียร์ ให้ผลิตและจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้า โคคา-โคล่า แฟนต้า สไปรท์ และผลิตภัณฑ์อื่นที่โคคา-โคล่า คัมปะนี เป็นเจ้าของ ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้มินิท เมด เครื่องดื่มอควาเรียส และน้ำดื่มน้ำทิพย์

บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI ประกอบธุรกิจเครื่องดื่ม เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มชาเขียวพร้อมดื่ม อิชิตัน กรีนที, เครื่องดื่มสมุนไพร เย็นเย็น โดยอิชิตัน และเครื่องดื่มน้ำผลไม้ไม่อัดลม “ไบเล่”

บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ OISHI ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารญี่ปุ่น และเครื่องดื่มภายใต้เครื่องหมายการค้า “โออิชิ”

บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและความงาม โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก ภายใต้ 16 ตราสินค้าทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วย 1) ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและความงาม ได้แก่ เซ็ปเป้ บิวติ ดริ้งค์, เซ็ปเป้ บิวติ ชอท และ เซนต์ แอนนา 2) ผลิตภัณฑ์ประเภทน้ำผลไม้ เครื่องดื่มแต่งกลิ่นผลไม้ ได้แก่ เซ็ปเป้ อโลเวร่า, เซ็ปเป้ ฟอร์ วัน เดย์, โมกุ โมกุ, กุมิ กุมิ by โมกุ โมกุ และ เซ็ปเป้ จูซมี 3) ผลิตภัณฑ์ประเภทผงพร้อมชง เพื่อสุขภาพ และ ความงาม ได้แก่ เพรียว คอฟฟี่ และ สริมฟิต คอฟฟี่ ซึ่งเป็นกาแฟควบคุมน้ำหนัก และ เพรียว คลอโรฟิลล์ มีคุณสมบัติในการช่วยดีท็อกซ์ขับล้างสารพิษ และเซ็ปเป้ บิวติ พาวเดอร์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดผง 4) ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องดื่มปรุงสำเร็จพร้อมดื่มอื่น ๆ ได้แก่ เพรียว คอฟฟี่ แบบกระป๋อง 5) ผลิตภัณฑ์ขนมเพื่อสุขภาพ ได้แก่ เซ็ปเป้ บิวติ เจลลี่ ซีแมกซ์ ชิมดิ แม็กซ์ทีฟ

สรุปได้ว่าจากกรณีภัยแล้งและอากาศร้อนจัดจะก่อให้เกิดผลประโยชน์สู่บริษัทที่เกี่ยวข้องกับน้ำดังตัวอย่างที่เสนอข้างต้น !!!

Back to top button