‘ซื้อหุ้นคืน’ ยาสามัญประจำตลาดหุ้น
จากปรากฏการณ์ “ราคาหุ้นปรับลงต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน” ของหลายบริษัท นั่นจึงทำให้ “การซื้อหุ้นคืน” (Treasury-Stock) ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาหุ้น เรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนและบริหารสภาพคล่องทางการเงินในคราวเดียวกัน
พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง
จากปรากฏการณ์ “ราคาหุ้นปรับลงต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน” ของหลายบริษัท นั่นจึงทำให้ “การซื้อหุ้นคืน” (Treasury-Stock) ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาหุ้น เรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนและบริหารสภาพคล่องทางการเงินในคราวเดียวกัน
จึงเสมือนเป็น “ยาสามัญประจำตลาดหุ้น” ที่ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน หยิบยกมาใช้เพื่อบรรเทาอาการ “ราคาหุ้นร่วงเกินเหตุ” ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา
สำหรับ “การซื้อหุ้นคืน” ของบริษัทจดทะเบียนช่วยปรับโครงสร้างทางการเงินบริษัทและแก้ไขความขัดแย้งระหว่างผู้ถือหุ้น เมื่อเสร็จสิ้นการซื้อหุ้นคืนแต่ละครั้งแล้วจะมีระยะเวลาของการจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืนภายใน 3 ปี โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ“กรณีเพื่อบริหารทางการเงิน เมื่อบริษัทมีกำไรสะสมและสภาพคล่องส่วนเกิน” เป็นสำคัญ..
บริบทการซื้อหุ้นคืน จึงถือเป็นมาตรการหนึ่งในการเพิ่มผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้น กล่าวคือการที่บริษัทนำเงินสดของกิจการมาซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้น มีผลในทางบัญชี คือ ฝั่งสินทรัพย์จะมีเงินสดลดลงจากการนำเงินไปซื้อหุ้นและฝั่งส่วนของทุนจะลดลงจากรายการหุ้นทุนซื้อคืน ส่วนใหญ่บริษัทจะซื้อหุ้นคืนในตลาด พร้อมรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ และผู้ถือหุ้นรับทราบทุกวัน
โดยสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือจำนวนหุ้นช่วงที่มีการซื้อหุ้นคืนจะลดลง กำไรต่อหุ้นจะเพิ่มขึ้น และ เมื่อกำไรต่อหุ้นมากขึ้นผู้ถือหุ้นได้รับปันผลเพิ่มขึ้น (จำนวนหุ้นที่ซื้อหุ้นจะไม่นำไปคำนวณในการคิดกำไรต่อหุ้นและปันผลต่อหุ้น) และส่วนทุนลดลง ทำให้อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดีผลเสียที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ “การเสียโอกาส” ในการนำเงินสดไปลงทุนโครงการอื่น ๆ ที่อาจได้รับผลตอบแทนให้บริษัทและผู้ถือหุ้น มากกว่านำเงินสดมาซื้อหุ้นคืน และเมื่อส่วนทุนส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
จากสถิติการซื้อหุ้นคืนรอบ 10 ปีที่ผ่านมา รวบรวมโดยบล.เอเซีย พลัส พบว่า มีบริษัทดำเนินการซื้อหุ้นคืนเกือบทั้งหมดประมาณ 42 บริษัท ส่วนใหญ่จะประกาศซื้อหุ้นคืนช่วงปีที่ตลาดหุ้นปรับฐานแรงเสมอ เริ่มจากปี 2558 SET Index ปรับฐานลง 14% (ลดลงมากสุดรอบ 10 ปี) มีบริษัทดำเนินการซื้อหุ้นคืน 5 บริษัท ต่อเนื่องจนถึงช่วงต้นปี 2559 อีก 4 บริษัท จากนั้นปี 2559 SET Index ฟื้นตัวกว่า 19.8%
ช่วงปี 2561 SET Index ปรับลดลง 10.8% (ลดลงมากสุดเป็นอันดับ 2 รอบ 10 ปี) มีบริษัทดำเนินการซื้อหุ้นคืนถึง 13 บริษัท หลังจากนั้นประมาณ 6 เดือน SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้น 10.06% ช่วงครึ่งแรกปี 2562 แต่ว่าช่วงครึ่งหลังปี 2562 SET Index ปรับฐานลงมาก จึงทำให้บริษัทดำเนินการซื้อหุ้นคืนประมาณ 15 บริษัท
ล่าสุดปี 2563 SET Index ปรับตัวลงกว่า 6% ทำให้มีบริษัทประกาศซื้อหุ้นคืน 4 บริษัท โดยเริ่มจากบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI, ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK และ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และ บริษัท ทีพีโอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPL
ด้วยเงื่อนไขและปัจจัยเชิงลบทั้งภายในและภายนอกที่เกิดขึ้นระหว่างนี้ ทำให้ SET Index มีแรงกดดันและโอกาสปรับตัวลงได้อีก จึงเป็นไปได้สูงว่าบริษัทต่าง ๆ จะหยิบ “ยาสามัญประจำตลาดหุ้น” ขนานนี้มาใช้เพื่อบรรเทาอาการ “หุ้นต่ำพื้นฐาน”เพิ่มขึ้นได้เช่นกัน..!!