แสงสว่างปลายอุโมงค์
ดัชนีตลาด หรือ SET Index ลงไปทดสอบแนวรับสำคัญที่ระดับ 1,500 จุด แล้วเด้งกลับมาอยู่ที่ระดับเหนือ 1,540 จุดในอีก 3 วันรวด จนเกิดเครื่องหมาย 3 ทหารเสือ ขึ้นมา มีคำถามว่ารอบนี้เกิดแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้วหรืออย่างไร
พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล
ดัชนีตลาด หรือ SET Index ลงไปทดสอบแนวรับสำคัญที่ระดับ 1,500 จุด แล้วเด้งกลับมาอยู่ที่ระดับเหนือ 1,540 จุดในอีก 3 วันรวด จนเกิดเครื่องหมาย 3 ทหารเสือ ขึ้นมา มีคำถามว่ารอบนี้เกิดแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้วหรืออย่างไร
เป็นที่รู้กันดีว่า ตราบใดที่ไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ แรงซื้อในตลาดเก็งกำไรย่อมยากที่จะเกิด
คำพูดของ กอร์ดอน เก็กโก้ ตัวละครเอกในภาพยนตร์ Wall Street อันโด่งดังเมื่อ 30 ปีก่อน ที่เตือนสติถึงการใช้กลยุทธ์บริหารความโลภและความกลัวไว้ว่า “ความโลภดีเสมอ ถูกต้องเสมอ และทำงานได้ผลดีเสมอ เพราะมันแผ้วถางทางสว่าง ตัดตอน และฉวยจังหวะที่เป็นสาระสำคัญของจิตวิญญาณผู้คนได้มากที่สุด ความโลภมีหลากรูปแบบ มันดำรงอยู่เพื่อชีวิต เพื่อความรัก เพื่อความรู้ และยกระดับคุณค่าของมนุษย์ และมันก็มีส่วนสร้างสหรัฐอเมริกาให้ยิ่งใหญ่”
คำถามคือใครบ้างที่อาจจะตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ยามนี้ไปด้วย หากแรงขายอย่างตื่นตระหนกตามมาจากการรีบาวด์ช่วงสั้น ๆ คำตอบคือไม่มีอะไรการันตีได้
ปรากฏการณ์ของความผันผวนที่ผ่านมา ไม่ใช่ครั้งแรกของตลาดหุ้นไทย เพียงแต่ข่าวร้ายที่ไร้ข่าวดีมาทวนกระแส ทำให้แรงขายออกมามากกว่าแรงซื้อ
ว่ากันโดยพื้นฐานแล้ว เศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากการเคลื่อนย้ายทรัพยากรจากธุรกิจจารีต มาสู่ธุรกิจดิจิทัลกำลังรุนแรง และรากฐานของเศรษฐกิจไทยที่เคยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักไม่ทำงานดีเหมือนเดิม ต้องเปลี่ยนมาพึ่งการบริโภคจากภายในแต่ไม่มีการสร้างกระบวนการรอรับได้เพียงพอ แล้วในช่วงนี้ได้ถูกชนชั้นนำในอำนาจรัฐไทยและกลุ่มทุนตีความผิดเพี้ยนเป็นกระบวนการทางการเมืองของสงครามเสื้อสี และกระจุกอำนาจครั้งใหม่ โดยไม่สามารถตอบโจทย์สำหรับสร้างโครงสร้างใหม่ให้ธุรกิจไทยได้ ผลลัพธ์คือการจมปลักกับปัญหาที่ซับซ้อนยิ่งกว่า “ลิงแก้แห” และส่งผลต่อค่าพี/อีของตลาดหุ้นไทยที่ไร้เสน่ห์สำหรับกองทุนและต่างชาติ เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นที่โดดเด่นกว่า
ตราบใดที่รัฐบาล และ คสช. ยังคงใช้นโยบาย “เหนือการเมือง” หรือนัยหนึ่งคือ การทหารนำการเมือง ซึ่งพิสูจน์มานับครั้งไม่ถ้วนว่าปลายทางคือล้มเหลวเพราะทำให้เรื่องเล็กเป็นใหญ่ไปเสียหมด ไม่เป็นอันทำการทำงานสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ ยากจะทำให้มีข่าวดีทางเศรษฐกิจกระตุ้นตลาดทุน ทำให้ไม่สามารถพลิกขาลงของตลาด กลับเป็นขาขึ้นได้
ข่าวการปรับลดน้ำหนักของหุ้นบลูชิพจำนวนมากที่ทยอยออกมาจากสถาบันการลงทุนต่างชาติ หรือโบรกเกอร์ต่างชาติที่มีสาขาในไทย ยังเป็นแรงเสริมทางลบที่ดีเยี่ยม ทำให้แรงกดดันต่อดัชนียิ่งเพิ่มน้ำหนักสูงขึ้น
หากย้อนดูเส้นกราฟของดัชนีตลาด แนวรับสำคัญของตลาดรอบนี้ถือว่าดีกว่าหลายครั้งที่ผ่านมา เพราะเทียบกับแนวรับระดับ 1,224 จุด เมื่อต้นปี 2557 อันเป็นช่วงวุ่นวายทางการเมือง ก่อนการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน ก่อนที่จะฟื้นตัวกลับมา หลังการรัฐประหารเดือนพฤษภาคม ทำให้ดัชนีวิ่งแรงขึ้นไปเกือบถึง 1,600 จุด เมื่อสิ้นปี 2558 ถือว่าต่างกันมากเพียงแต่ขาขึ้นรอบนี้ยังไม่มีคนยืนยันว่าจะทะลุแนวต้าน 1,600 จุดได้หรือไม่
คำอธิบายของนักวิเคราะห์หุ้นส่วนใหญ่ระบุว่า ตลาดหุ้นไทยปีนี้ยังคงจะแกว่งตัวผันผวนในกรอบทางลงมากกว่าขึ้น อาจชวนให้นักลงทุนล้างพอร์ตมากกว่าการเข้าลงทุน แต่คนที่มีประสบการณ์ช่ำชองในตลาดหุ้น รู้ดีว่า ความผันผวนช่วงนี้นี่แหละ เป็นโอกาสในวิกฤตที่จะต้องฝึกให้คุ้นเคยกันสำหรับสั่งสมประสบการณ์ในระยะยาว
คำถามใหญ่สำหรับนักลงทุนอยู่ที่ว่า จะปรับกลยุทธ์อย่างใดให้เหมาะสมสถานการณ์ ทั้งป้องกันการขาดทุนมากจนเกินไป และเผื่อว่าอาจจะทำกำไรในช่วงผันผวนกลับคืนได้บ้างยังคงเป็นคำถามหลักต่อไป
แม้ว่าช่วงปีนี้ การลงทุนด้วยกลยุทธ์ “ชาวสวน” (Contrarian Investing) ซึ่งเป็นพฤติกรรมของนักฉวยโอกาสจากหายนะของตลาดเก็งกำไรที่ชวนให้ตั้งคำถาม เพราะกลยุทธ์ชาวสวนนี้จะไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่มักเลือกเกิดในช่วงเวลาที่สบช่องของสถานการณ์พิเศษเท่านั้น โดยเฉพาะในสถานการณ์การเมืองที่มีความรุนแรง แต่ปรัชญาเรื่อง “เจตจำนงที่จะเชื่อ” ของนักปรัชญาอเมริกัน วิลเลียม เจมส์ ต้นกำเนิดสำนัก “Pragmatism”น่าจะถูกยึดถือเป็นสรณะจากบรรดานักลงทุนะระดับ ทหารผ่านศึกมากพอสมควร
เจมส์ระบุว่า การยอมรับความเชื่อโดยไม่ต้องมีหลักฐานความจริงก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อทางศาสนา แต่อ้างถึงเหตุผลของความศรัทธา เป้าหมายคือการปกป้องสิทธิ และตรรกะโดยไม่ถูกบีบบังคับ
แนวคิดของเจมส์ แยกแยะความเชื่อสัมบูรณ์ (อาศัยเหตุผลมากกว่าข้อเท็จจริง) ออกจาก วิธีคิดพึ่งพาประจักษ์พยาน โดยย้ำว่า อย่างแรกที่อาศัยสัญชาตญาณหรือ ฌาน ไม่จำเป็นต้องเป็นความเชื่อที่ไร้สาระเสมอไป และอย่างหลังอาจจะไม่มีความแน่นอนเกี่ยวกับความเชื่อและข้อสรุปของพวกเขามากกว่า
เจมส์ระบุว่า ความถูกต้องและผิดพลาดในความเชื่อ มาจากระดับคุณภาพของความเชื่อเป็นสำคัญ แต่คุณภาพจะเกิดขึ้นมาได้ต้องผ่านประสบการณ์ประกอบอย่างมีนัยสำคัญ ไม่เช่นนั้น วิชาสถิติก็คงไร้คุณค่าในการเรียนและนำไปใช้ เพื่อสร้างผลลัพธ์สุดท้าย
เพียงแต่เจมส์ก็ย้ำเตือนว่า “ความตั้งใจที่จะเชื่อ” ต่างจาก “สิทธิ์ที่จะเชื่อ” และ “หน้าที่ที่จะเชื่อ” แล้วยังมีความไม่สอดคล้องกันระหว่างการแสวงหาความจริง (รวมทั้ง การหลีกเลี่ยงความเท็จ) ที่ทำให้บางครั้ง การระงับความเชื่อมีความจำเป็นในบางครั้ง จนกว่าเราจะมีหลักฐานเพียงพอ จนกว่ามีการยืนยันได้ว่าไม่มีการหลีกเลี่ยงความเท็จโดยเจตนา
ข้อเสนอเจตจำนงที่จะเชื่อของเจมส์ ได้รับการพิสูจน์ในเวลาต่อมาว่า ใช้การได้เฉพาะเรื่องหรือประเด็นนามธรรมมากกว่าเรื่องหรือสาระที่เป็นรูปธรรม เพราะในโลกที่เป็นรูปธรรมนั้น ข้อเท็จจริงเชิงปริมาณมีความสำคัญมากกว่าและเป็นตัวชี้วัดความถนัดถูกต้องของความเชื่อเชิงนามธรรม
บางครั้งหลักการลงทุนในช่วงเวลาที่แสงสว่างปลายอุโมงค์ยังเลอะเลือน อาจจำเป็นต้องพึ่งพาสัญชาตญาณมากกว่า สัญญาณทางเทคนิค