สื่อจีนในวิกฤตไวรัสฯ

ในวันเปิดงานวันแรก ภายหลังการเฉลิมฉลองตรุษจีน เมื่อวันจันทร์ที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นจีนร่วงลงอย่างแรงถึง 8.7% นับเป็นตลาดที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากไวรัสมรณะสายพันธุ์ใหม่ และทำสถิติหุ้นร่วงรุนแรงที่สุดระดับโลก


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

ในวันเปิดงานวันแรก ภายหลังการเฉลิมฉลองตรุษจีน เมื่อวันจันทร์ที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นจีนร่วงลงอย่างแรงถึง 8.7% นับเป็นตลาดที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากไวรัสมรณะสายพันธุ์ใหม่ และทำสถิติหุ้นร่วงรุนแรงที่สุดระดับโลก

สื่อสิ่งพิมพ์ “เซคเคียวริตี้ ไทม์ส” ของจีน ระบุในบทความว่า “การขึ้นลงของตลาดการเงินเมื่อวาน เป็นเรื่องปกติ เช่นเดียวกับการทรุดตัวของตลาดเมื่อครั้งเกิดการระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือโรคซาร์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว และหลังเหตุการณ์ 9/11

เซคเคียวริตี้ ไทม์ส ยังระบุอีกว่า “สถานการณ์ดังกล่าว ตามปกติแล้วจะเป็นผลกระทบเพียงระยะสั้น และจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจระยะยาว”

นับเป็นคอมเม้นต์หนึ่งที่สุขุมคัมภีรภาพยิ่ง และไม่ได้มุ่งเอาแต่ปลอบใจลม ๆ แล้ง ๆ

ไชน่า เซคเคียวริตี้” สื่อสิ่งพิมพ์สายหุ้นอีกฉบับหนึ่ง ระบุในบทความว่า การร่วงลงของตลาดหุ้นจีน เป็นเหตุการณ์ที่คาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งจะไม่เปลี่ยนแปลงปัจจัยพื้นฐานของตลาด

ผลกระทบโรคระบาดดังกล่าวเป็นเพียงระยะสั้น และคาดว่าตลาดหุ้นจะกลับมามีเสถียรภาพอย่างค่อยเป็นค่อยไป” บทความระบุ

นี่ก็เป็นอีกคอมเม้นต์หนึ่งที่สุขุมคัมภีรภาพ และไม่มุ่งปลอบใจลม ๆ แล้ง ๆ

สื่อจีนทำหน้าที่ปกป้องรักษาตลาดหุ้นของเขาได้ดีจริง ๆ ไม่ใช่ว่า “วูบวาบ” ไปตามสถานการณ์ “หน้าเสื่อ” ที่เป็นอยู่ ซึ่งเวลาหุ้นขาขึ้นก็ลิงโลด มองเห็นอะไรสว่างไสวไปหมด แต่เวลาหุ้นขาลง ก็มองอะไรห่อเหี่ยวสุดประมาณ

ผมยังคิดว่า การทำหน้าที่ของสื่อจีน น่าจะเป็นบทเรียนที่ดีแก่ผู้บริหารตลาดหุ้นแห่งใดก็ได้ในโลก นำมาใช้ตอนให้สัมภาษณ์สื่อยามเกิดแพนิกตลาด

ตลาดหุ้นไทยเคยมีประสบการณ์กับผู้บริหารตลาดยามวิกฤตหลายแบบ แบบอาจารย์มารวยก็คือ นักข่าวได้พูดคุยได้สัมภาษณ์ท่านทุกครั้ง ที่ตลาดมีวิกฤต โดยเฉพาะตอนมีแพนิกกระหน่ำขาย อาจารย์มารวยท่านก็จะบอกกล่าวในทำนองว่าตลาดหุ้นมีขึ้นมีลง มีการแยกแยะว่า ผลกระทบอันไหนเป็นระยะสั้นหรือระยะยาว

สรุปว่า ยามวิกฤตก็ได้เจอหน้าอาจารย์มารวยทุกครั้ง หลังเจอแล้วก็ได้สบายใจทุกคน คลายความห่อเหี่ยวใจไปได้เยอะ

แต่ก็ยังมีผู้บริหารตลาดอีกประเภทหนึ่ง ที่ไม่ชอบอยู่ให้เห็นหน้ายามวิกฤต คือ “หลบ” ซึ่งการ “หลบ” นี้ ก็อาจจะเกิดจาก 2 อย่างคือ หลบโดยเจตนา ถึงขนาดไม่ยอมออกประตูใหญ่ หลบไปออกที่จอดรถใต้ดินเป็นปกตินิสัยไปเลย

ส่วนหลบอีกแบบหนึ่งก็คือ ไม่ค่อยจะให้ความสนใจ ขี้เกียจยืนให้นักข่าวซัก โดยเฉพาะห้วงเวลาหุ้นตกหนัก ๆ นักลงทุนต้องว้าเหว่ยิ่งนัก เพราะผู้บริหารเอาแต่หลบเลี่ยง ไม่ยอมออกมาพูดมาจา ทั้งที่ตลาดกำลังลุกเป็นไฟ

ตลาดหุ้นไทย คงไม่โชคร้าย เจอผู้บริหารแบบนี้อีก และก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นในผู้บริหารตลาดชุดปัจจุบันแน่

คุณภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ออกโรงให้สัมภาษณ์สื่อ แสดงความเชื่อมั่นว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา คงส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยเพียงแค่ช่วงสั้นเท่านั้น และตลาดก็สามารถจะฟื้นตัวได้เร็ว จากภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ในระดับสูง ทั้งภาคการคลังที่มีหนี้สาธารณะในระดับต่ำ อัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อต่ำ และภาคธนาคารยังมีความแข็งแรง

ตลท.ยังมีสถิติความตกต่ำของตลาดจากผลกระทบต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศในรอบ 10 ปีว่า อย่างมากนานที่สุดก็แค่ 10 เดือน ช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 ช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ก่อผลกระทบหุ้นไทยลดลง 6 เดือน ไข้หวัดนกปี 2547 กดดันตลาดราว 8.5 เดือน และโรคซาร์สกระทบตลาดแค่ 1.5 เดือน

มีผู้จัดการตลาดที่ห่วงใยตลาดและห่วงใยนักลงทุนอย่างนี้ ก็สบายใจดี สื่อไทยทั้งหลายก็ต้องร่วมด้วยช่วยกัน

 

Back to top button