ซากแพะตายที่เทสโก้
การเปิดประมูลขายทิ้งสินทรัพย์ในไทยและมาเลเซียทั้งหมดของกลุ่มทุนค้าปลีกยักษ์ใหญ่อังกฤษ เทสโก้ กำลังมีคำถามว่า จะกลายเป็นเกม “ทึ้งซากแพะตาย” ครั้งใหม่หรือไม่
พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล
การเปิดประมูลขายทิ้งสินทรัพย์ในไทยและมาเลเซียทั้งหมดของกลุ่มทุนค้าปลีกยักษ์ใหญ่อังกฤษ เทสโก้ กำลังมีคำถามว่า จะกลายเป็นเกม “ทึ้งซากแพะตาย” ครั้งใหม่หรือไม่
ดูจากรายชื่อสามยักษ์ใหญ่ค้าปลีกของไทยที่เข้าข่ายร่วมชิง ‘เทสโก้’ ที่คาดกันว่า จะมีมูลค่าประมูลอยู่ที่ 2.17 แสนล้านบาทหรือ 7 พันล้านปอนด์แล้ว ยิ่งมีคำถามใหญ่ขึ้นว่าใครจะกล้าแบกรับ “ทุกขลาภ” นี้
เหตุผลเพราะว่า ธุรกิจดิสเคาท์สโตร์และโมเดิร์นเทรดที่เทสโก้ดำเนินการมา กำลังย่างเข้าสู่ช่วงขาลง และอาจจะถึงทางตันของห่วงโซ่อุปทานก็ได้
ที่สำคัญ ก่อนหน้านี้ กลุ่ม ปตท. (โดย PTTOR) ซึ่งเป็นกลุ่มที่เงินหนาสุดเท่าที่คาดหมาย ได้ออกมากล่าวว่าไม่สนใจในการซื้อกิจการของ เทสโก้ ในประเทศไทย ซึ่งทำให้กลายเป็นว่าเหลือเพียงผู้เล่นรายใหญ่ไม่กี่รายเท่านั้นที่สนใจในการซื้อกิจการครั้งนี้
ว่ากันตามข้อเท็จจริง นับแต่หลังวิกฤตต้มยำกุ้งที่เทสโก้ และทุนค้าปลีกต่างชาติสบช่องรุกเข้ามาขยายกิจการโมเดิร์นเทรดโดยผ่านการซื้อกิจการที่มีต้นทุนต่ำเมื่อ 20 ปีเศษ ถือว่ายาวนานมากพอที่จะถอนทุนคืนบวกกำไรมหาศาลไปแล้ว และการแข่งขันในธุรกิจมีค่ากว่า 3.6 ล้านล้านบาท การถอนตัวจากไปของทุนข้ามชาติ เพื่อเปิดทางให้ทุนในประเทศกลับเข้ามายึดหัวหาดใหม่ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
ในภาพรวมแล้ว กลุ่มเทสโก้ที่รุกข้ามประเทศ ประสบปัญหาธุรกิจทำกำไรขาลงมานานกว่า 6 ปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแรงกดดันจากคู่แข่งค้าปลีกในทวีปยุโรป รวมทั้งข่าวฉาวเรื่องแจ้งกำไรเกินความเป็นจริง นอกจากนี้หนี้บริษัทที่มีมหาศาลกว่า 17,648 ล้านปอนด์ ทำให้ต้องมีปัญหาสะดุดทางการเงินหลายครั้ง ถอนตัวจากสมรภูมิค้าปลีกหลายประเทศ มีทั้งการปิดสาขา ปลดพนักงานหลายระลอก ขายทิ้งกิจการที่ขาดทุน และขายสินทรัพย์ที่ดีเพื่อแก้สถานการณ์ขาดทุนต่อเนื่อง
การขายทิ้งทรัพย์สินในไทย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยสร้างตำนานว่าทำกำไรสูงสุดในกลุ่มทั่วโลก พ่วงแถมด้วยทรัพย์สินที่ขาดทุนในมาเลเซีย เป็นส่วนหนึ่งของการ “ตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต” เพื่อรักษาอัตรากำไรสุทธิที่ค่อนข้างต่ำมาก (แค่2%) ที่ไม่มีทางเลือกอื่น
ประเด็นคำถามเรื่องใครจะหาญกล้า “ทึ้งซากแพะที่ตาย” ต่อมาจากเทสโก้ จึงเป็นคำถามที่โยงมาถึงนักลงทุนในตลาดหุ้นไทย เพราะท้ายที่สุดกลุ่มยักษ์ค้าปลีกท้องถิ่นที่สนใจจะเข้าซื้อกิจการ ต้องหาทางระดมทุนจากตลาดทุนในรูปออกตราสารหนี้ และเพิ่มทุนครั้งใหม่มูลค่ามหาศาลตามแบบเดิม ๆ อย่างแน่นอน
จะบอกว่าธุรกิจดิสเคาท์สโตร์ไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่ปลายทางของโมเดลห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) อันเป็นแนวคิดหนึ่งที่โด่งดังของ ไมเคิล อี พอร์เตอร์ ที่แสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบอนุกรมของกิจกรรมต่าง ๆ ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เพิ่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน หรือ Cost competitiveness ด้วยการเพิ่มคุณค่าให้กับตัวสินค้า ผลิตภัณฑ์ (Products) และบริการ (Service) ผ่านเครือข่ายช่องทางการกระจายสินค้าที่ทรงพลังและการพิจารณาต้นทุนของกิจกรรมอย่างละเอียด เรียกว่า การวิเคราะห์โซ่คุณค่า (Value chain analysis) ภายใต้ข้ออ้าง “การตลาด 360 องศา” ก็คงไม่ผิด
หากพิจารณาเฉพาะฐานะทางการเงินล่าสุดของ “ผู้ซื้อเป้าหมาย” จะเห็นได้ว่ามีความเหลื่อมล้ำกันไม่มากนัก แม้ถ้าเทียบกันแล้ว กลุ่มเซ็นทรัลที่มี CRC เป็นทัพหน้า และ CPN เป็นแนวหลัง มีความสามารถก่อหนี้เพิ่มมากกว่าเยอะเพราะความแข็งแกร่งทางการเงิน และไม่มีหนี้มากถ่วงรั้ง (มีทั้ง CRC ที่เพิ่งระดมทุนมหาศาลหลายหมื่นล้านบาท และ CPN ซึ่งมีค่า ดี/อี ต่ำแค่ 1.2 เท่า กับกำไรสะสมกว่า 6 หมื่นล้านบาท สนับสนุน)
ในขณะที่กลุ่มเจียรวนนนท์ที่มี CPALL เป็นหัวหอก มีหนี้สินเยอะ จาก ดี/อี 2 เท่า คิดเป็นหนี้ระยะยาว 1.40 แสนล้านบาท (หนี้จากหุ้นกู้ 1.13 แสนล้านบาท) เพราะติดกับดัก makro หลายปีก่อน
ส่วนกลุ่มเสี่ยเจริญที่มี BJC เป็นทัพหน้า มี AWC เป็นกองหลังก็ติดกับดัก BIGC เพราะมีหนี้สินเยอะ และกำไรต่ำโดยค่าดี/อี 1 เท่า มีหนี้ระยะยาว 1.03 แสนล้านบาท (หนี้หุ้นกู้ 9.1 หมื่นล้านบาท)
แม้หนี้ของกลุ่มเจียรวนนท์ และ เสี่ยเจริญจะเป็นหนี้ระยะยาว แต่หากก่อหนี้เพิ่มอีก มหาศาลย่อมไม่ใช่ข่าวดีแน่นอนสำหรับผู้ถือหุ้น หากมองข้อเท็จจริงที่ว่าอัตรากำไรสุทธิของค่อนข้างต่ำ อาจไม่คุ้มสำหรับการก่อหนี้
คำถามสุดท้ายที่จะชี้ขาดว่าใครจะเป็นเจ้าของใหม่ของสินทรัพย์ “ซากแพะที่ตาย” ของเทสโก้ในไทยและมาเลเซียจึงอยู่ใน “ใจ” เป็นสำคัญ
เพราะงานนี้ อาจจะเกิดปรากฏการณ์ “ชัยชนะของคนแพ้” ได้ไม่ยาก