อนาคตขาลงของ ‘น้ำมัน’
ก่อนหน้านี้ ประเทศเกษตรกรรมอย่างบ้านเราอิจฉาตาร้อนประเทศในตะวันออกกลางที่ร่ำรวยอย่างมหาศาลเพราะเป็นเจ้าของบ่อน้ำมันที่ใคร ๆ ก็ต้องง้อ แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศในตะวันออกกลางกำลังจะเจอปัญหาใหญ่เนื่องจากอนาคตของ “น้ำมัน” กำลังจะเป็นขาลง
พลวัต : ฐปนี แก้วแดง(แทน)
ก่อนหน้านี้ ประเทศเกษตรกรรมอย่างบ้านเราอิจฉาตาร้อนประเทศในตะวันออกกลางที่ร่ำรวยอย่างมหาศาลเพราะเป็นเจ้าของบ่อน้ำมันที่ใคร ๆ ก็ต้องง้อ แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศในตะวันออกกลางกำลังจะเจอปัญหาใหญ่เนื่องจากอนาคตของ “น้ำมัน” กำลังจะเป็นขาลง
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้จัดทำรายงานที่มีชื่อว่า อนาคตน้ำมันและความยั่งยืนทางการคลังในภูมิภาค “จีซีซี” (Gulf Cooperation Council) หรือที่เรียกกันว่า กลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิก 6 ประเทศคือ ซาอุดีอาระเบีย, คูเวต, โอมาน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, กาตาร์, บาห์เรน
รายงานฉบับนี้ชี้ว่า ตลาดน้ำมันกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยพื้นฐานเนื่องจากตัวขับเคลื่อนดีมานด์น้ำมันในอดีต กำลังอ่อนแอลง ในขณะเดียวกันการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านพลังงานกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และแนวโน้มเช่นนี้น่าจะทำให้ดีมานด์น้ำมันทั่วโลกพุ่งสูงสุด และจากนั้นจะเริ่มลดลงในช่วง 20 ปีข้างหน้า
นั่นชี้ว่ามีความท้ายทายต่อประเทศผู้ส่งออกน้ำมันในกลุ่มจีซีซี หลังจากที่ได้หาเลี้ยงชีพด้วยการขายเชื้อเพลิงฟอสซิลมานาน ในขณะนี้กลุ่มประเทศเหล่านี้ต้องเตรีมตัวรับอนาคตหลังยุคน้ำมัน
รายงานของไอเอ็มเอฟชี้ว่า ดีมานด์น้ำมันทั่วโลกจะพุ่งสูงสุดในประมาณปี 2583 หรืออาจเร็วกว่านั้น และจากนั้นจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ในการวิเคราะห์พัฒนาการในตลาดน้ำมันในอดีต เผยให้เห็นว่า ดีมานด์น้ำมันโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างยั่งยืนหลังจากที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการเติบโตของรายได้และประชากร
ไอเอ็มเอฟระบุว่า มีหลายปัจจัยที่ทำให้ดีมานด์น้ำมันมีแนวโน้มลดลง เช่น มีการประหยัดพลังงานได้ดีมากขึ้นในระยะยาว และมีการทดแทนน้ำมัน การขยายตัวทางเศรษฐกิจและประชากรได้บดบังแนวโน้มเหล่านี้มานาน แต่มันกำลังจะเริ่มเห็นได้ชัดมากขึ้นในไม่กี่ปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ดีมานด์น้ำมันโลกชะลอตัวอย่างช้า ๆ และลดลงในท้ายที่สุด
ในขณะเดียวกัน ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า ดีมานด์ก๊าซธรรมชาติก็จะลดลงเช่นกันแม้คาดการณ์ว่ายังคงเป็นบวกอีกหลายสิบปี
ไอเอ็มเอฟไม่ได้เป็นรายแรกที่ได้คาดการณ์เกี่ยวกับการลดลงของดีมานด์น้ำมัน เมื่อปลายปี 2562 นีล แอตคินสัน หัวหน้าแผนกตลาดและอุตสาหกรรมน้ำมันของ อินเตอร์เนชันแนล อีเนอร์จี้ เอเจนซี่ ก็มองว่า การเติบโตของประชากรเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อดีมานด์น้ำมัน โดยดีมานด์น้ำมันอาจพุ่งสูงสุดในช่วงปี 2573 หากมีการดำเนินธุรกิจตามปกติมากขึ้น และมีการสนับสนุนด้านนโยบายอย่างจำกัดมากขึ้น ดีมานด์น้ำมันจะโตต่อเนื่อง แต่ถ้าโลกดำเนินนโยบายเข้มงวดมากขึ้นเหมือนที่มีสัญญาณอยู่ในขณะนี้ ดีมานด์น้ำมันอาจถึงจุดสูงสุด ในปลายปี 2563 หรือ 2573
ซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐฯ แต่มากกว่ารัสเซีย เป็นกำลังหลักของซัพพลายน้ำมันในอนาคต แต่ไอเอ็มเอฟตั้งข้อสังเกตว่าผู้ผลิตน้ำมันอย่างซาอุดีอาระเบียกำลังหาทางแยกเศรษฐกิจออกจากการพึ่งพาน้ำมัน โดยภาคที่ไม่ใช่น้ำมันมีความสำคัญมากขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษมานี้
รายได้จากน้ำมันที่เริ่มลดลงนับตั้งแต่ปี 2557 ได้ทำให้เกิดการปฏิรูปอย่างรุนแรง แต่ก็ยังไม่สามารถชดเชยรายได้จากน้ำมันที่ลดลงอย่างต่อเนื่องได้ จนส่งผลให้ขาดดุลงบประมาณ จนทำให้ความมั่งคั่งทางการเงินของภูมิภาคจีซีซีลดลงในช่วงปี 2557-61 หากรายได้จากน้ำมันโตลดลงเป็นเวลานานมากขึ้นจะยิ่งลดความมั่งคั่งและความมั่งคั่งทางการเงินที่มีอยู่ในขณะนี้ อาจจะหมดไปภายในช่วง 15 ปีข้างหน้า
แม้ว่าทุกประเทศในกลุ่มจีซีซีได้ตระหนักถึงความท้าทายและมีแผนปรับงบประมาณอย่างต่อเนื่องในบริบทของวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ในระยะยาว แต่ไอเอ็มเอฟคาดว่าขนาดและความรวดเร็วของการปฏิรูปในประเทศเหล่านี้อาจจะไม่เพียงพอที่จะสร้างเสถียรภาพให้กับความมั่งคั่งได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้เร็วมากกว่านี้และต้องสร้างความยั่งยืนในระยะยาว
ด้วยแนวโน้มเช่นนี้ ไม่ใช่แต่เพียงประเทศผู้ผลิตน้ำมันเท่านั้นที่ต้องปรับตัว แต่ธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันทั้งหมด ต้องตระหนักและเตรียมรับมือเช่นกัน