5G กับหุ้นสื่อสาร
แม้สภาพตลาดหุ้นไทยปีนี้โดยรวมจะไม่โสภาเท่าใดนัก แต่ผลการประมูลคลื่นโทรคมนาคม 5G ที่เพิ่งผ่านไปสด ๆ ร้อน ๆ น่าจะทำให้ชีวิตชีวากลับคืนมาสู่หุ้นกลุ่มสื่อสารระลอกใหม่ และมีผลต่อภาพรวมของตลาดโดยรวมได้ไม่มากก็น้อย
พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล
แม้สภาพตลาดหุ้นไทยปีนี้โดยรวมจะไม่โสภาเท่าใดนัก แต่ผลการประมูลคลื่นโทรคมนาคม 5G ที่เพิ่งผ่านไปสด ๆ ร้อน ๆ น่าจะทำให้ชีวิตชีวากลับคืนมาสู่หุ้นกลุ่มสื่อสารระลอกใหม่ และมีผลต่อภาพรวมของตลาดโดยรวมได้ไม่มากก็น้อย
อย่างน้อยที่สุด เงินที่ผู้ประกอบการจ่ายไปเพื่อลงทุนรับใบอนุญาตกว่า 1 แสนล้านบาท ก็น่าจะสะท้อนความคาดหวังเชิงบวกว่าจะมีตลาดใหม่ที่คึกคักหรือฟู่ฟ่ากว่าครั้งก่อน ๆ ได้ เพราะเทคโนโลยี 5G ที่ได้กันไปนี้ จะทำให้สังคมไทยเคลื่อนตัวเข้าสู่เทคโนโลยีในระดับนำของโลกได้
เหตุผลเพราะ 5G (เครือข่ายโทรศัพท์มือถือรุ่นหรือระบบไร้สายรุ่นที่ 5) เป็นเครือข่ายไร้สายใหม่ที่ถูกพัฒนาและเริ่มใช้ในปีพ.ศ. 2561 เป็นต้นมา โดยที่เทคโนโลยีพื้นฐานได้แก่คลื่นความถี่ (Millimeter wave bands 26, 28, 38, และ
60 GHz) มีประสิทธิภาพสูงสุดถึง 20 จิกะบิตต่อวินาที MIMO (Multiple Input Multiple Output – 64-256 antennas)ประสิทธิภาพสูงซึ่งเร็วกว่า 4G ถึง 10 เท่า 5G ย่านความถี่ต่ำและกลางใช้ความถี่ระหว่าง 600 MHz ถึง 6 GHz โดยเฉพาะระหว่าง 3.5-4.2 GHz
คลื่นความถี่ต่ำ หมายถึงคลื่นที่มีความเข้มข้นสูง และครอบคลุมพื้นที่แคบกว่าคลื่น 800 และ 900 ของรุ่น 3G และ 4G
ความใหม่สดของเทคโนโลยี ทำให้เชื่อว่าสังคมใดที่เข้าถึงเทคโนโลยีนี้ก่อนย่อมมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบสูงกว่าชาติอื่น ๆ
ที่ผ่านมา จากในปีพ.ศ. 2560 มีการเร่งพัฒนาเต็มที่ เชื่อกันว่าแม้ว่า 5G จะครอบคุลมทั่วโลกภายในปี 2563 เพราะที่ผ่านมาปรากฏว่า การสื่อสารไร้สายรุ่นใหม่ ๆ มักปรากฏทุก ๆ 10 ปีนับจากครั้งแรกที่ระบบเครือข่าย 1G โดย Nordic Mobile Telephone ได้เป็นที่รู้จักกันในปี ค.ศ.1961
ในการประมูลเมื่อวันสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กสทช.เปิดเผยว่า การประมูล 5G ใช้เวลาการประมูล 5 ชั่วโมง 35 นาที เริ่มตั้งแต่เวลา 9.30 น.ได้ประมูลคลื่นความถี่ 3 ย่าน ได้แก่ คลื่น 700 MHz คลื่น 2600 MHz คลื่น 26 GHz จำนวน 48 ใบอนุญาต รวมมูลค่าประมูล 100,521.18 ล้านบาท รวมราคากำหนดย่านความถี่ (Assignment) (ที่ 328.18 ล้านบาท) ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม
โดยคลื่น 700 MHz มี 3 ใบอนุญาต ใบละ 5 MHz มีผู้เข้าร่วมประมูล 3 ราย ปรากฏว่า บมจ.กสท โทรคมนาคมประมูลได้ 2 ใบอนุญาต รวมราคา 34,306 ล้านบาท และ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในเครือบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส ประมูลได้ 1 ใบ ด้วยราคา 17,154 ล้านบาท/ใบ จาก ราคาเริ่มต้น 8,792 ล้านบาท/ใบ ส่วนบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ในเครือบมจ. ทรูคอร์ปอเรชั่น (TRUE) ประมูลไม่ได้ ทั้งนี้ รายได้ประมูลรวม 51,460 ล้านบาท
คลื่น 2600 MHz ประมูลได้ทั้งหมดจำนวน 19 ใบอนุญาต ใบละ 10 MHz ราคาประมูลได้รวม 37,433.89 ล้านบาท โดย ADVANC ประมูลได้ 10 ใบอนุญาต เป็นเงิน 19,561 ล้านบาท ได้คลื่นความถี่ในย่าน 2500-2600 MHz ขณะที่ TRUE ประมูลได้ 9 ใบอนุญาต เป็นเงิน 17,872.89 ล้านบาท (ราคาประมูล 17,560 ล้านบาท ค่ากำหนดย่านความถี่268.89 ล้านบาท) ส่วน กสท ประมูลไม่ได้
ส่วนคลื่น 26 GHz มีจำนวน 27 ใบอนุญาต ใบละ 100 MHz ประมูลได้ 26 ใบอนุญาต รวมมูลค่าทั้งหมด11,627.29 ล้านบาท ผู้ที่ประมูลได้ ได้แก่ ADVANC ได้ 12 ใบอนุญาต ราคารวม 5,345 ล้านบาท TRUE ประมูลได้ 8 ใบอนุญาต ราคารวม 3,576.89 ล้านบาท ทีโอที ประมูลได้ 4 ใบอนุญาต รวม 1,795 ล้านบาท และ DTAC ประมูลได้ 2 ใบอนุญาต รวม 910 ล้านบาท
สรุปแล้ว ADVANC ประมูลคลื่นได้มากที่สุด 23 ใบอนุญาต ใน 3 คลื่นความถี่ (700 MHz, 2600 MHz, 26 GHz) รวมราคา 42,066 ล้านบาท TRUE ประมูลคลื่นได้ 17 ใบอนุญาต 2 คลื่นความถี่ (2600 MHz, 26 GHz ) รวมราคา21,449.78 ล้านบาท DTAC ประมูลได้คลื่น 26 GHz 2 ใบอนุญาต รวมราคา 910 ล้านบาท บมจ.กสท โทรคมนาคม ได้ 2 ใบอนุญาต คลื่น 700 MHz รวมราคา 34,306 ล้านบาท และ ทีโอที ประมูลได้ 4 ใบอนุญาต คลื่น 26 GHz รวมราคา 1,795 ล้านบาท
ทั้งนี้ การชำระเงินคลื่น 700 MHz 10 งวด (ปี) ปีละ 10% ไม่ต้องขยายโครงข่าย ส่วนคลื่น 2600 MHz กำหนดจ่ายงวดที่ 1 เท่ากับ 10% และยกเว้นปีที่ 2-4 และให้จ่ายในปีที่ 5-10 หรืองวดที่ 2-7 งวดละ 15% และในปีที่ 1 ให้ขยายโครงข่าย 50% ของพี้นที่ EEC และ 4 ปี ขยายโครงข่าย 50% ของประชากร Smart City สำหรับคลื่น 26 GHz ชำระ 100% ภายใน 1 ปี ไม่ได้กำหนดการขยายโครงข่าย
ความดุเด็ดเผ็ดมันของการประมูล ที่ได้เงินเข้ารัฐเกินกว่าเป้า 7 หมื่นล้านบาท ไม่สำคัญเท่ากับข้อเท็จจริงที่ว่าคลื่นความถี่ที่ได้ไปแต่ละค่ายนั้น มีความหมายต่างกันคือ
– คลื่นความถี่ 700 MHz ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ต่ำที่ไว้สำหรับในการทำ 5G ทำให้เกิดการส่งสัญญาณได้ไกล จากผู้เข้าประมูล 3 ราย ได้แก่ AIS, Truemove H และ CAT Telecom แต่ผลสุดท้าย AIS ได้รับใบอนุญาต 1 ใบ และ CAT Telecom ได้รับใบอนุญาต 2 ใบ มูลค่า 51,460 ล้านบาท
– คลื่นความถี่ 2600 MHz ซึ่งเป็นคลื่นความถี่หลักที่หลายประเทศนำมาใช้ทำ 5G เช่นเดียวกัน ผลคือ AIS ได้ใบอนุญาต ไป 10 ใบ และ Truemove H ได้ 9 ใบด้วยกัน รวมทั้งหมด 19 ใบอนุญาต มูลค่ารวมกว่า 37,434 ล้านบาท
– คลื่นความถี่ 26 GHz หรือคลื่นแบบ mmWave นั้นทั้งหมดที่ได้เสนอไปก็คว้ากันไปโดยดีแทคเองประกาศออกมาว่าได้ที่ช่วงความถี่กว่า 200 MHz หรือ 2 ใบอนุญาต ส่วน AIS ได้มากสุดที่ 12 ใบอนุญาต รวมคลื่นกว่า 1,200 MHz ถือว่าประมูลได้เยอะที่สุดถ้ารวมกันไปแล้ว และที่เหลือเป็นของ TOT ได้ไปทั้งหมด 4 ใบ และ Truemove H ไปทั้งหมด 8 ใบด้วยกัน
เหตุผลที่คลื่นความถี่ 26 GHz มีผู้ร่วมประมูลสนใจอยากจะได้ครอบครองกันมาก เพราะในคลื่นดังกล่าว เป็นคลื่นที่มีเทคโนโลยี mmWave จุดเด่นคือ เป็นคลื่นความถี่สูงที่มีคุณสมบัติพิเศษ เหมาะสำหรับการใช้งานความเร็วสูงสุดเพื่อรับส่งข้อมูล และสามารถเพิ่มความจุของช่องสัญญาณในปริมาณมหาศาลพร้อมทั้งมีความแม่นยำในการใช้งานเพื่อรองรับนวัตกรรม 5G ต่าง ๆ ในอนาคตได้อย่างแท้จริง โดยสามารถนำมาพัฒนาคอนเทนต์ร่วมกับการใช้ VR หรือ AR รวมถึงออกแบบบริการ 5G เพื่อสาธารณสุขในที่ห่างไกล
ใครที่สนใจว่าระหว่างหุ้นสื่อสารรายไหนจะมีราคาวิ่งดีกว่ากันในอนาคต ต้องรีบตื่นตัวปรับพอร์ต ก่อนสายเกินไป