PAE ปฏิบัติการแย่งซากแพะ

บริษัทจดทะเบียนที่ขาดทุนสะสมอย่างหนักต่อเนื่อง จนมีส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ จำเป็นต้องเพิ่มทุนครั้งใหม่อย่างหนัก อย่าง PAE แต่มีการออกข้อมูลกล่าวหาสาดโคลนกันอย่างรุนแรงผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่อเนื่องเป็นระยะๆ เพื่อขัดขวางการประชุมเพิ่มทุนโดยไม่เปิดเผยเจตนาที่แท้จริงว่าทำเพื่ออะไร เป็นกรณีศึกษาล่าสุด


บริษัทจดทะเบียนที่ขาดทุนสะสมอย่างหนักต่อเนื่อง จนมีส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ จำเป็นต้องเพิ่มทุนครั้งใหม่อย่างหนัก อย่างบริษัท พีเออี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ PAE แต่มีการออกข้อมูลกล่าวหาสาดโคลนกันอย่างรุนแรงผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่อเนื่องเป็นระยะๆ เพื่อขัดขวางการประชุมเพิ่มทุนโดยไม่เปิดเผยเจตนาที่แท้จริงว่าทำเพื่ออะไร เป็นกรณีศึกษาล่าสุด

เป้าหมายที่ตกอยู่ในเรดาร์ของการโจมตี มุ่งไปที่กลุ่มผู้ถือหุ้น กลุ่มนายชนะชัย ลีนะบรรจงโดยตรง ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า นายชนะชัยเป็น “ผู้ร้าย” ในกรณีนี้ได้อย่างไร  ทั้งที่ในรายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ระดับหัวแถวของบริษัทอย่างเป็นทางการในปัจจุบันนั้น ไม่ปรากฏรายชื่อของนายชนะชัยอยู่เลย

หรือว่า นี่คือปฏิบัติการที่เรียกกันว่า “แย่งซากแพะ” ที่แปลกพิสดารของผู้คนในทุ่งหญ้าลี้ยงสัตว์แถบเอเชียกลางและอัฟกานิสถาน

ชายมุสลิมในแถบเอเชียกลาง ที่ใช้ชีวิตกับการเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่ทุ่งหญ้าอันกว้างใหญ่ไพศาล มีกีฬาที่โด่งดัง ซึ่งมีภาพยนตร์นำไปเป็นฉากหลังหลายต่อหลายเรื่อง  เพื่อสะท้อนความดิบเถื่อนของสังคม โดยกีฬาประเภทนี้ จะมีการแบ่งผู้เล่นซึ่งขี่ม้าเป็นสองทีม จำนวนนักกีฬาในแต่ละทีมไม่จำกัด  โดยคนที่นั่งบนหลังม้า จะพยายามแย่งซากแพะที่ตายแล้วบนพื้นตัวหนึ่งให้ได้ แล้วห้อม้าวิ่งไปที่จุดหมายที่กำหนดไว้ ทีมไหนถึงจุดหมายก่อนพร้อมด้วยซากแพะ ถือว่าทีมนั้นชนะ

 

ในกรณีของ PAE ชัยชนะของผู้ถือหุ้นที่ครอบครองอำนาจในกิจการนั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับได้ซากแพะอย่างไร้จุดหมาย เพราะฐานะของบริษัทดังกล่าว อยู่ในระดับที่ต้องเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการมากกว่าจะกลับมาโดดเด่น

 

คำถามก็คือ 1)มีอะไรซ่อนอยู่ในการต่อสู้ครั้งนี้ 2)ทรัพย์สินจำบังที่ซ่อนอยู่ของกิจการนี้คืออะไรที่ทำให้ต้องแย่งชิงกัน หรือว่าเป็นแค่เกมราคาหุ้นธรรมดา ก่อนจะหายหน้าจากไปพร้อมกับซากกิจการที่ไร้ค่าใดๆ

โดยพื้นฐาน PAE ประกอบธุรกิจให้บริการด้าน EPC วิศวกรรมก่อสร้างแก่ลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานโดยเฉพาะด้านน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และปิโตรเคมี จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมถึงการจัดส่งพนักงานที่มีประสบการณ์ในการทำงาน

เดิมทีผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทนี้คือ นางเยาวเรศ ชินวัตร น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยมีบุตรชายรับหน้าที่บริหารกิจการ แต่หลายปีมานี้ บริษัทมีปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง ต้องทำการเพิ่มทุนหลายครั้ง

ไม่มีใครรู้ชัดเจนว่า การขาดทุนของ PAE เกิดจากอะไรชัดเจน รู้แต่ว่าเกิดจากการลงทุนที่ผิดพลาดนับแต่ปี 2551 เป็นต้นมา หลังจากที่เดือนสิงหำคม 2551 บริษัทนี้ ได้มอบให้บริษัท แปซิฟิค รีซอร์สเซส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้เข้าซื้อทรัพย์สินของ บริษัท ดับบลิวเอ็นเอสอาร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจรับเหมางานติดตั้งระบบไฟฟ้า เครื่องมือวัด และให้บริการเครื่องมืออุปกรณ์ในกลุ่มปิโตรเคมี  โรงกลั่นน้ำมัน  โรงผลิตกระแสไฟฟ้า และบริษัทในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งมีมูลค่ารวมของรายการทั้งสิ้น 123.70 ล้านบาท และได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อใหม่เป็น บริษัท ดับบลิวเอ็นเอสอาร์ แปซิฟิค จำกัด โดยวางแผนการเพิ่มทุนบริษัทฯ ได้เพิ่มทุนจำนวน 406.60 ล้านหุ้น โดยมูลค่ำที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท เป็นจำนวน 981.10 ล้านหุ้น เพื่อเสนอขายให้แก่พันธมิตรชื่อ GPS จำนวน 100.53 ล้านหุ้น  หรือ ถือหุ้นคิดเป็นร้อยละ 30

 

แผนการลงทุนดังกล่าว เกิดความผิดพลาดเพราะในเวลาต่อมา เพราะผลของวิกฤตซับไพรม์ของสหรัฐฯที่ลุกลามไปทั่วโลก ทำให้ในปี 2552 พันธมิตรเป้าหมายอย่าง GPS ตัดสินใจไม่ใช้สิทธิซื้อหุ้นบริษัทฯ ตามกำหนด ดังนั้น แผนการขยายงาน และการลงทุนของบริษัทฯ จึงหยุดชะงัก อันเป็นผลมาจากเม็ดเงินที่คาดว่าจะได้รับไม่เป็นไปตามคาด ส่งผลกระทบต่อแผนการทำธุรกิจ ทำให้กำไรลดถอยลง และเริ่มขาดทุนรุนแรงในปี 2555 จนถึงปัจจุบัน

PAE กลายสภาพจากธุรกิจที่มีอนาคตยาวไกล กลายเป็นธุรกิจที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดนับแต่นั้น

มีการเปิดเผยในเวลาต่อมาว่า การขาดทุนรุนแรงมากเกิดขึ้นจากการย้ายไปทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอาคาร ซึ่งเป็นงานที่ไม่ถนัด จนกระทั่งตัวเลขการขาดทุนพุ่ง จนถึงจุดต่ำสุดในปี 2557 ซึ่งมีผลขาดทุนจำนวน 635 ล้านบาท จากการตั้งสำรองโครงการรับเหมาก่อสร้างอาคารที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจำนวนมาก

การขาดทุนสะสมค่อนข้างมาก ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นร่อยหรอลง  ต้องปรับโครงสร้างบริษัทฯ โดยเฉพาะด้านบุคลากรและการบริหารจัดการ โดยการปรับลดจำนวนพนักงานลงให้เหมาะสมกับโครงสร้างใหม่ เพื่อให้การ ดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  ลดการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรที่ไม่จำเป็นเร่งด่วน และมุ่งเน้นธุรกิจที่ก่อให้ผลกำไร  รวมทั้งการเพิ่มทุนอีกหลายครั้ง

      

SAT_3

 

การเพิ่มทุนต่อเนื่องทุกปีนับแต่ ปี 2555-2557 ไม่ได้ทำให้ฐานะการเงินของบริษัทดีขึ้นแม้แต่น้อยเพราะเป็นการเพิ่มทุนในราคาต่ำมาก โดยเสนอขายแบบเฉพาะเจาะจง และผู้ที่เข้ามาซื้อหุ้นก็ให้ความสำคัญกับเกมราคาหุ้นมากกว่าการฟื้นกิจการให้กลับมามีกำไรโดดเด่นอีกครั้ง

ตัวเลขส่วนของผู้ถือหุ้นที่ปริ่มใกล้เคียงกับจะติดลบอย่างง่ายดายเพราะการขาดทุนต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่า การขายหุ้นแบบเฉพาะเจาะจงในราคาต่ำนั้น ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นกับบริษัทที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดแม้แต่น้อย

ไม่เพียงเท่านั้น โครงสร้างของผู้ถือหุ้นของ PAE ที่เคยมีผู้ถือหุ้นใหญ่ของกลุ่มนางเยาเรศ ชินวัตร ก็เปลี่ยนมือไปกับพันธมิตรใหม่ที่เข้ามาอย่างชัดเจน และเข้ามาในลักษณะที่ไม่ได้มีใครเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ชัดเจนมากนัก

การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ แสดงให้เห็นชัดเจน จากโครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ PAE ในปี 2557 ที่มีนานชนะชัย ลีนะบรรจง เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุด ก็มีจำนวนเพียงแค่ 20% ของหุ้นทั้งหมดเท่านั้น

 

SAT_1

 

มาถึงปี 2558 ล่าสุด ก็ปรากฏว่าชื่อของนายชนะชัย หายไปอย่างผิดสังเกต แต่มีชื่อของคนอื่นเข้ามาแทน และเปลี่ยนไปมาก จนกระทั่งผู้ถือหุ้นอันดับสูงสุดมีสัดส่วนถือหุ้นเพียงแค่ 6.71% เท่านั้น

 

SAT_2

 

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ไม่ได้มีผลดีอะไรมากนัก เพราะเท่ากับว่าบริษัทนี้ ขาดโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่จะมีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการเพื่ออนาคต มีลักษณะ “เบี้ยหัวแตก” อย่างชัดเจน แม้จะมีเสียงเล่าลือกันลับๆ ว่า คนที่ถือหุ้นใหญ่เหล่านี้ ล้วนเป็นนอมินีของนายชนะชัยทั้งสิ้น แต่ก็ไม่มีใครยืนยันความถูกต้องดังกล่าว

สถานการณ์ของ PAE ที่ไม่มีเจ้าของชัดเจนดังกล่าว แม้ว่าจะมีตัวเลขขาดทุนน้อยลงในปี 2558 แต่ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะรายได้ของบริษัทฯ ลดฮวบฮาบอย่างเห็นได้ชัด รายได้เฉลี่ยต่อไตรมาสที่ควรจะอยู่ที่ระดับ 300 ล้านบาท เหลือเพียง 166 ล้านบาทเศษในไตรมาสแรก แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือ ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบเสียแล้ว จำเป็นต้องเพิ่มทุนครั้งใหญ่ ก่อนจะที่ถูกย้ายไปสู่กลุ่มบริษัทที่ต้องเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ

 ต้นเดือนกรกฎาคมนี้  คณะกรรมการของ PAE ได้มีมติว่าจะดำเนินการเพิ่มทุนอีก  1,500 ล้านบาท จากการขายหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นเดิม (ROX)  และแบบเฉพาะเจาะจง (PP)

นางอุไรรัตน์ บุญอากาศ ประธานกรรมการบริหาร PAE ชี้แจงแทนคณะกรรมการว่า แผนระดมทุนโดยเสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิม (RO) จำนวน 5,541.48 ล้านหุ้น อัตราส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ ราคา 0.20 บาทต่อหุ้น และเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้บุคคลในวงจำกัด (PP) จำนวน 2,000 ล้านหุ้น มีการตั้งเป้าหมายได้รับเงินระดมทุนในครั้งนี้ประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งจะเสนอขออนุมัติต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 29 ก.ค.นี้

คณะกรรมการระบุว่า วัตถุประสงค์การระดมทุนรอบใหม่นี้มีหลายด้าน นับแต่การขยายธุรกิจเดิมด้านการบริการในอุตสาหกรรมน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และปิโตรเคมี จะต้องมีการปรับปรุงโรงประกอบทั้ง 3 แห่ง ที่ลานกระบือ ระยอง และสงขลา รวมทั้งจัดซื้อจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ เครื่องจักร เพื่อใช้ในกิจการและให้เช่าแก่ลูกค้า ใช้เงินทุนประมาณ 200 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ จะนำเงินไปใช้รองรับการขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ เช่น การบริการสาธารณูปโภคด้านน้ำประปา น้ำดิบเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม ด้านพลังงาน พลังงานทางเลือกทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเบื้องต้นจะลงทุนในระบบผลิตน้ำประปา ระบบท่อส่งน้ำดิบ สถานีสูบน้ำ เพื่อการอุตสาหกรรม จำนวนประมาณ 800 ล้านบาท ใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 2 ปี กรณีที่มีเงินทุนเหลือจากกรณีดังกล่าวบริษัทมีความสนใจจะนำเงินไปลงทุนในโครงการด้านพลังงานและพลังงานทางเลือกอื่นๆ

ส่วนที่เหลือจำนวนประมาณ 500 ล้านบาทจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของกิจการ

ดูจากวัตถุประสงค์ข้างต้น จะเห็นถึงความพยายามที่จะ “ยิงกระสุนนัดเดียว ได้นกหลายตัว” แม้ว่าการระดมทุนจะขายในราคาค่อนข้างต่ำมาก แต่ก็สมเหตุผลเพราะมูลค่าทางบัญชีของหุ้นบริษัทนี้ ติดลบไปแล้ว แต่ก็มีปัญหาจนได้

ประเด็นปัญหาหลักอยู่ที่เรื่องของการขายหุ้นแบบเฉพาะเจาะจงนั่นเอง เพราะเป็นการเปิดทางให้คนที่ซื้อหุ้นแบบนี้ เข้ามามีอิทธิพลครอบงำเหนือบริษัทในอนาคตได้ง่ายมาก โดยใช้เงินจำนวนไม่มาก และไม่ต้องถือครองหุ้นมากมายนักเพราะโครงสร้างผู้ถือหุ้นเดิมที่แตกกระจายกันอย่างมากนั่นเอง

แม้กรรมการบริษัทบางคนจะออกมาแก้ต่างล่วงหน้าว่า ความกังวลเกี่ยวกับการเสนอขาย PP ของบริษัทฯ ให้กับผู้ลงทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่จะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์และสร้างผลกระทบให้กับผู้ถือนั้น บริษัทฯ วางนโยบายการเสนอขายหุ้น PP ครั้งนี้ให้กับผู้ลงทุนที่มีศักยภาพด้านการเงิน มีความต้องการลงทุนเนื่องจากเห็นศักยภาพในการปรับปรุงกิจการด้าน Oil and Gas ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญพิเศษ อีกทั้งสามารถเป็นพันธมิตรที่ต่อยอดทางธุรกิจให้กับบริษัทฯ ได้ในอนาคต ก็ไม่ได้ทำให้ความกังวลลดลงไปแม้แต่น้อย

 

ส่วนหนึ่งของความกังวลนั้น ออกมาในรูปของ “สารจากความมืด” ของคนที่ใช้นามแฝงว่า “อัศวินรัตติกาล” ซึ่งออกมาตั้งเป้าหมายโจมตีคณะกรรมการ ผู้บริหาร และกระบวนการเพิ่มทุนหลายครั้งในอดีตของ PAE โดยเฉพาะปรากฏการณ์ขายหุ้นเพิ่มทุนราคาต่ำกว่ากระดานกว่า 100% ที่เข้าเทรดในวันที่ 25 มิถุนายน 2557 ซึ่งทำกำไร (ที่ได้รับหุ้น PP มหาศาล) ว่าล้วนถูกชักใยจากนายชนะชัยเป็นสำคัญ

รุปแบบการโจมตีก็ใช้ลีลาสำนวนชวนให้เข้าใจถึงบทบาท “ผู้ร้าย” ของผู้มีส่วนเกี่ยวของในปัจจุบันของ PAE ทั้งกรรมการ ผู้บริหาร ผู้มีชื่อถือหุ้นใหญ่บางคน และท้ายุสดโยงใยถึงนายชนะชัยเป็นเป้าหมายอย่างชัดเจน ตามประสาของการสร้างข้อกล่าวหาเท็จทั้งหลายที่ยากจะพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ แม้บางครั้งจะอ้างว่าข้อมูลทั้งหลายพิสูจน์ได้ที่ก.ล.ต. (ซึ่งใครก็ย่อมรู้ดีว่า ยากที่จะมีใครเข้าไปตรวจสอบได้ง่ายๆโดยไม่ได้รับอนุญาต)

สารจากความมืดเกือบสิบฉบับ แพร่หลายไปในโลกออนไลน์ที่บอกเล่าต่อกัน โดยไม่ได้มีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการให้มีการล้มเลิกการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติเพิ่มทุนหรือไม่ หรือว่าเพียงแค่ต้องการจะเปิดโปงถึงเกมราคาหุ้นของ “กลุ่มคนที่มีนายชนะชัยอยู่เบื้องหลัง” อย่างสาแก่ใจธรรมดา เพราะนอกจากการกล่าวโจมตีแล้ว ก็ไม่มีข้อเสนอแนะที่จะบ่งชี้ว่า หากไม่มีการเพิ่มทุนแล้ว PAE จะอยู่รอดได้อย่างไร ภายใต้สถานการณ์ที่ส่วนผู้ถือหุ้นเริ่มติดลบ และยังไม่มีท่าทีว่าจะกลับมาทำกำไรได้ หากปราศจากการเพิ่มทุน

วัตถุประสงค์ชัดเจนจากผู้ใช้นามแฝง “อัศวินรัตติกาล” ดังกล่าว ซึ่งนับวันจะเข้มข้นตามระยะเวลาที่ใกล้จะมีการประชุมผู้ถือหุ้นในวันพุธที่ 29 กรกฎาคมนี้ อาจจะมีคนมองได้ว่า เป็นการสร้างแรงเหวี่ยงเพื่อต่อรองทางอำนาจในการต่อสู้เพื่อครอบงำกิจการของ PAE โดยผ่านเกมราคาหุ้น แต่นั่นก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์ใดชัดเจนว่า เป้าหมายดังกล่าวจะบรรลุได้อย่างไร หากไม่มีการเข้าถือหุ้นจนสามารถได้เสียงข้างมากในการที่จะเข้ามาใช้สิทธิบริหารกิจการได้

 

การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของ PAE ในวันพุธที่จะถึงนี้ จะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดีว่า นอกจากอนาคตของ PAE จะสดใสมากน้อยแค่ไหนแล้ว ยังมีคำถามตามมาว่า

1) นายชนะชัย จะปรากฏตัวเข้ามามีบทบาทเหนือกิจการของ PAE มากน้อยแค่ไหนในอนาคตหลังเพิ่มทุน ตามข้อกล่าวหาของ “สารจากมุมมืด” 

2) คนที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีของ “อัศวินรัตติกาล” ที่มีต่อกลุ่มนายชนะชัย จะกล้าเปิดเผยตัวเองออกมาในที่แจ้ง เพื่อสร้างอำนาจต่อรองอะไรหรือไม่

อดใจรออีกแค่วันเดียวก็จะได้รู้ว่า ปฏิบัติการ “แย่งซากแพะ” ในวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ จะมีอะไรเกิดขึ้น และใครคือผู้ชนะในเกมนี้ 

แล้วไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น คนที่ใช้นามแฝงว่า “อัศวินรัตติกาล” ก็จะหายตัวไปกับสายลม เมื่อรู้ผลลัพธ์ของการแย่งซากแพะเรียบร้อยแล้ว

Back to top button