การถอยร่นของไดโนเสาร์

การถอนตัวจากการลงทุนประกอบรถยนต์ของค่ายยักษ์ใหญ่อเมริกัน เจนเนอรัล มอเตอร์ส หรือ GM โดยให้สาเหตุสวยหรูว่า เป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัท ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แม้ว่าสำหรับคนงานไทยจะหมายถึงการถูกปลดจากงาน ประมาณ 1,500 อัตรา


พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล

การถอนตัวจากการลงทุนประกอบรถยนต์ของค่ายยักษ์ใหญ่อเมริกัน เจนเนอรัล มอเตอร์ส หรือ GM โดยให้สาเหตุสวยหรูว่า เป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัท ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แม้ว่าสำหรับคนงานไทยจะหมายถึงการถูกปลดจากงาน ประมาณ 1,500 อัตรา

นับตั้งแต่การประกาศเข้ามาลงทุนในไทยเมื่อปี 2539 อันครึกโครม ในสมัยรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา ตามมาด้วยการนำเครือข่ายซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนหลักอย่าง เดลไฟเข้ามาทำให้ตลาดแรงงานคึกคักอย่างมากก่อนฟองสบู่เศรษฐกิจไทยจะแตกในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ผลิตภัณฑ์ของ GM สามารถสร้างความฮือฮาให้กับตลาดรถยนต์ไทยในประเทศเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น

ดูเหมือนรายการส่งเสริมการขายด้วยมาตรการ ดอกเบี้ย 0% และผ่อนยาว 6 ปีที่ค่ายนี้ริเริ่มทำให้ยอดขายรถพุ่งกระฉูดชั่วคราวเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากส่วนแบ่งการตลาดที่ต่ำเตี้ยเมื่อเทียบกับค่ายรถจากญี่ปุ่น

สาเหตุสำคัญคือ GM ไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์รถมือสองของค่ายได้เลย และไม่สามารถแก้ไขจุดอ่อนนี้ได้สำเร็จ แม้ว่าจะเลือกส่งแบรนด์ เชฟโรเลต เข้ามาล่อใจตลาดรถแทนที่ โอเปิล ที่ล้มเหลวก่อนหน้าก็ตาม

การถอนตัวในตลาดไทยพร้อมกับทิ้งท้ายด้วยมาตรการ “ลดราคาแหลกลาญในรถบางรุ่นที่จะเริ่มมีผลในสัปดาห์นี้” ไม่ได้บอกอะไรเลยนอกจากความพ่ายแพ้หมดรูปในตลาดหลายแห่งที่จะมีการปรับโครงสร้างการดำเนินการในเกาหลีใต้ และเริ่มยุติ หรือจำกัดการดำเนินการในรัสเซีย ออสเตรเลีย อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และประเทศไทย

แผนการตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิตระลอกนี้ GM ระบุว่า คาดการณ์ว่าจะใช้งบจำนวน 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(34,474 ล้านบาท) ส่วนใหญ่ในไตรมาสแรกจากผลการดำเนินการตามแผนนี้  โดยเป็นเงินสดจำนวน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าไม่มากนัก เมื่อเทียบกับเดิมพันที่ใหญ่กว่ามาก

นางแมรี บาร์รา ประธานและซีอีโอของ GM ระบุว่า แผนการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างทั่วโลกของบริษัท ซึ่งได้มีการประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2558 แล้ว เพื่อเป็นการมุ่งเน้นตลาดที่ทำกำไรและให้ความสำคัญกับการลงทุนและการเติบโตของยานยนต์ในอนาคต โดยเฉพาะรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ

คำประกาศนี้มีขึ้นหลังจาก GM ยุติการผลิตรถยนต์ในออสเตรเลียเมื่อกว่าสองปีก่อน โดยที่ก่อนหน้านั้นในปี 2560 GM ขายกิจการในยุโรปให้ PSA Group บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติฝรั่งเศส และออกจากตลาดแอฟริกาใต้และตลาดประเทศอื่นในแอฟริกา

การถอนตัวจากเมืองไทยของ GM คราวนี้ เท่ากับการเปิดทางให้ตลาดรถยนต์ไทยได้ทดสอบฝีมือของผู้ผลิตและประกอบรถยนต์จากจีน Great Wall Motors หรือ GWM Group ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ SUV รายใหญ่ที่สุดของจีนเพื่อยึดไทยและอินเดียเป็นหัวหาดอาเซียน และอินเดีย

ในเบื้องต้น GWM ระบุว่า จะขายรถยนต์จากฐานการผลิตในไทย ซึ่งมีโรงงานผลิตเครื่องยนต์ด้วย ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และอินเดีย โดยบริษัทเร่งทำยอดขายทั่วโลกเนื่องจากตลาดในจีนชะลอตัวโดยที่การทำธุรกรรมซื้อโรงงานในไทยจะเสร็จสมบูรณ์ภายในสิ้นปี 2563 นี้

ถ้าเป็นไปตามนี้ การจ้างงานในไทยและอินเดีย คงไม่น่าจะได้รับผลกระทบในภาพรวม เพราะบริษัท GWM คงไม่อยากเริ่มต้นนับใหม่สำหรับการเข้าสู่ตลาดที่ไม่คุ้นเคย

การรุกเข้ามาของ GWM  ถือว่าเป็นการตามรอยค่าย กลุ่ม SAIC (ย่อมาจากเซี่ยงไฮ้ ออโตโมบิล อินดัสทรีคอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็น 1 ใน 4 กลุ่มบริษัทผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของจีน คือ SAIC ฉางอันมอเตอร์ FAW Group และตงฟงมอเตอร์ ) ที่ใช้เวลามาแล้วหลายปี แต่ยังไม่สามารถยึดครองส่วนแบ่งการตลาดในไทยมากนัก ด้วยเหตุผลสำคัญคือบริการหลังการขาย แม้ว่าจะมีพันธมิตรสำคัญ เครือซีพี ที่ได้ร่วมทุนกับ เอสเอไอซี จัดตั้ง บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ซีพีขึ้นในไทย โดยเอสเอไอซี ถือหุ้น 51% เครือซีพีถือหุ้น 49% ลงทุนกว่า 9,000 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโรงงานประกอบรถยนต์  MG ในเมืองไทย

การถอยของค่ายรถอเมริกัน และการรุกของค่ายรถจีน สะท้อนปัจจุบันของธุรกิจรถยนต์ระดับโลกได้ดี แต่ยังไม่สามารถบอกอนาคตว่าค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่ยึดครองส่วนแบ่งการตลาดเหนียวแน่นจะเสียที่มั่นสำคัญในอาเซียนได้ในระยะสั้น

ตอนนี้รู้กันแค่ว่ารถยนต์ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICV) ของอเมริกันที่เคยเป็นเจ้าโลกมายาวนานเกือบ 100 ปี กำลังมีสภาพไม่ต่างอะไรกับไดโนเสาร์ที่รอวันสูญพันธุ์ ในขณะที่ยังไม่มีค่ายรถไหนที่ครองความเป็นเจ้าสำหรับรถยนต์ EV เท่านั้นเอง

สอดคล้องกับคำกล่าวอันลือลั่นที่ว่า โลกปัจจุบันกำลังเสื่อมถอย แต่อนาคตยังมาไม่ถึง

Back to top button