กรณีศึกษาควอลคอมม์และการผูกขาดทางการค้า

ต้นทุนที่อาจแฝงอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยี  5G ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ


Cap & Corp Forum

ควอลคอมม์ (Qualcomm) เป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่สัญชาติอเมริกันและเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะการเป็นเจ้าของสิทธิบัตรและเทคโนโลยีจำนวนมากที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยี 5G ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการกำหนดราคาจำหน่ายอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับ 5G ของควอลคอมม์คือต้นทุนสำหรับผู้ผลิตและผู้บริโภคในการเข้าถึงเทคโนโลยี 5G มีการกล่าวกันว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์สื่อสารทุกประเภทที่จะรองรับเทคโนโลยี 5G จะต้องใช้เทคโนโลยีของควอลคอมม์ วันนี้จึงขออนุญาตนำท่านผู้อ่านไปเรียนรู้คดีที่เกี่ยวเนื่องกับการแข่งขันทางการค้าของบริษัทเจ้าของเทคโนโลยีที่สำคัญรายนี้ดูครับ

ควอลคอมม์มีคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการแข่งขันทางการค้าและพฤติกรรมการผูกขาดหลายคดี อาทิ

(1) เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2561 คณะกรรมาธิการยุโรปมีคำสั่งปรับบริษัทเป็นเงินจำนวน 997,439,000 ยูโร อันเนื่องมากจากพฤติกรรมการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบในการขัดขวางไม่ให้คู่แข่งรายอื่นสามารถเข้ามาแข่งขันในตลาด LTE baseband chipsets  โดยการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ Apple เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนว่า Apple จะไม่ใช้ชิปเซตจากผู้ผลิตรายอื่นและจะใช้ชิปเซตของบริษัทใน iPhone และ iPad ทุกรุ่น โดยค่าปรับจำนวนดังกล่าวมีมูลค่าเท่ากับยอดจำหน่าย LTE baseband chipsets ในอัตรา 4.9% จากยอดจำหน่ายทั่วโลกของบริษัทในปี 2560

จากข้อเท็จจริงในคดีนี้ ควอลคอมม์ทำสัญญาผูกขาดการจัดจำหน่ายกับ Apple ในปี 2554 และต่อมาในปี 2556 ได้มีการขยายอายุสัญญาต่อไปจนถึงปี 2559 โดยในช่วงปี 2554-2559 ควอลคอมม์มีส่วนแบ่งตลาดทั่วโลกสูงถึง 90% ในตลาด LTE baseband chipsets โดยในตลาดนี้มีอินเทล (Intel) เป็นคู่แข่งที่สำคัญอีกรายหนึ่ง และจากหลักฐานที่ได้มาจากเอกสารภายในของ Apple ก็ยืนยันได้ว่า Apple มีความต้องการที่จะเปลี่ยนไปใช้ชิปเซตของอินเทล แต่เนื่องจากติดข้อสัญญาและบทลงโทษตามสัญญาที่ทำไว้กับควอลคอมม์จึงไม่สามารถเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ของผู้ผลิตรายอื่นได้ พฤติกรรมของควอลคอมม์ในคดีนี้จึงเป็นการทำลายการแข่งขัน ทำให้ผู้บริโภคและบริษัทคู่แข่งได้รับความเสียหาย ถูกจำกัดโอกาสในการเลือกและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรม

(2) เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2562 คณะกรรมาธิการยุโรปมีคำสั่งปรับควอลคอมม์เป็นเงินจำนวน 242,042,000 ยูโร อันเนื่องมากจากพฤติกรรมการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบโดยการขายชิปเซตสำหรับเทคโนโลยี 3G ตัดราคาโดยมีเจตนาทำลายคู่แข่งในช่วงปี 2552-2554  ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว บริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกสำหรับชิปเซตประเภทนี้ราว 60% (ซึ่งมากกว่าสามเท่าของคู่แข่งอันดับสอง) โดยค่าปรับจำนวนดังกล่าวมีมูลค่าเท่ากับอัตรา 1.27% จากยอดจำหน่ายทั่วโลกของบริษัทในปี 2561

พฤติกรรมการตั้งราคาเพื่อกำจัดคู่แข่งในคดีนี้ สืบเนื่องมาจากการที่บริษัทได้จำหน่าย UMTSchipset ให้แก่ Huawei และ ZTE ในราคาขายที่ต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริงโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำลายคู่แข่งรายสำคัญอันได้แก่ Icera ทำให้ Icera ไม่สามารถเข้าถึงคู่ค้าที่สำคัญอย่าง Huawei และ ZTE ได้ ซึ่งในปี 2554 Nvidia ได้ซื้อกิจการของ Icera เพื่อเข้ามาแข่งขันในตลาดชิปเซตสำหรับอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ แต่ก็ได้ยกเลิกธุรกิจดังกล่าวไปในปี 2558

ช่วงเวลาในการกระทำความผิดของคดีนี้เกิดขึ้นก่อนคดีแรก แต่เนื่องจากคดีนี้ใช้เวลาในการดำเนินการสอบสวนมากกว่า แต่ทั้งสองคดีเริ่มต้นการสอบสวนพร้อมกันเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2558

ทั้งคดีที่ (1) และ (2) อยู่ระหว่างการอุทธรณ์ต่อศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป โดยเมื่อพิจารณาจากค่าปรับจะพบว่าเป็นจำนวนเงินที่สูงมากและยอดจำหน่ายนั้นมิได้จำกัดเฉพาะแต่ในสหภาพยุโรป แต่นำยอดจำหน่ายของบริษัทจากทั่วโลกมาเป็นฐานในการกำหนดค่าปรับ ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรปมีอำนาจปรับสูงสุดได้ไม่เกิน 10% จากยอดจำหน่ายทั่วโลก โดยคำนึงถึงความร้ายแรงและพฤติกรรมแห่งคดีประกอบ และเป็นที่น่าสังเกตว่าในตลาดของเทคโนโลยีนั้นมีลักษณะสำคัญหลายประการที่เป็นองค์ประกอบร่วมกันของทั้ง 2  คดีที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้กล่าวถึงไว้ในคำตัดสิน ดังนี้

๐ ตลาดชิปเซตเป็นตลาดที่มีต้นทุนสูงในการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายอื่น ๆ โดยเฉพาะต้นทุนในการวิจัยและพัฒนา

๐ ตลาดชิปเซตเป็นตลาดที่ได้รับการคุ้มครองด้วยทรัพย์สินทางปัญญาจำนวนมากโดยเฉพาะสิทธิบัตร ซึ่งทำให้เกิดการผูกขาดเหนือเทคโนโลยี ซึ่งในด้านหนึ่งสิทธิบัตรคือระบบในการคุ้มครองการลงทุนจากการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เจ้าของเทคโนโลยีสามารถได้รับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจากการลงทุน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการด้านทรัพย์สินทางปัญญาจำนวนมากถูกใช้เพื่อการจำกัดการแข่งขันและการทำลายคู่แข่ง

๐ คู่ค้าของควอลคอมม์ไม่มีอำนาจเพียงพอในการเจรจาต่อรองเงื่อนไขของสัญญา

(3) ในเดือนธันวาคม 2562 ในรายงานจากเอกสารชี้แจงนักลงทุนของควอลคอมม์ ระบุว่า บริษัทถูกคณะกรรมาธิการยุโรปเริ่มกระบวนการสอบสวนเกี่ยวกับการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยไม่ชอบในส่วนที่เกี่ยวกับโมดูลสายอากาศที่ใช้ตัวรับสัญญาณ (radio frequency front-end (RFFE) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของอุปกรณ์ 5G)

(4) ในปี 2560 Federal Trade Commission หรือ FTC ซึ่งเป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ฟ้องควอลคอมม์ต่อศาลว่าบริษัทกระทำการผูกขาดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยการใช้สิทธิบัตรเป็นเครื่องมือในการจำกัดการแข่งขัน (คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา)

จากตัวอย่างทั้งสี่คดีที่ผู้เขียนยกมาเป็นกรณีศึกษาในครั้งนี้ ต้องย้ำอีกครั้งว่าคดียังไม่ถึงที่สุด และในท้ายที่สุดศาลอาจจะตัดสินไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งก็ได้ และศาลในสหภาพยุโรปก็ไม่จำเป็นต้องตัดสินไปในทิศทางเดียวกันกับศาลในประเทศสหรัฐอเมริกา บทความครั้งนี้เพียงแต่ต้องการนำเสนอถึงต้นทุนที่อาจแฝงอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยี  5G ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น มูลค่าใบอนุญาตที่สูงจึงสะท้อนต้นทุนที่ผู้ประกอบการถืออยู่และอาจมีราคาของการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยไม่ชอบของผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการในห่วงโซ่บริการ/การผลิตรายใดรายหนึ่งหรือหลายรายรวมอยู่ด้วยก็ได้

ศุภวัชร์ มาลานนท์

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

Fulbright Hubert H. Humphrey Fellowship

American University Washington College of Law

Back to top button