เกมเศรษฐีออนไลน์
เวลาพูดถึงเกมทอยลูกเต๋าที่เด็กและคนไทยคุ้นเคยคือ “เกมเศรษฐี” มักจะลืมไปว่าชื่อเดิมในภาษาอังกฤษคือMonopoly Game หรือเกมที่จบลงด้วยการผูกขาด ทำนองเดียวกับหมากล้อมของจีนหรือ “โกะ” ของญี่ปุ่นนั่นเอง
พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล
เวลาพูดถึงเกมทอยลูกเต๋าที่เด็กและคนไทยคุ้นเคยคือ “เกมเศรษฐี” มักจะลืมไปว่าชื่อเดิมในภาษาอังกฤษคือMonopoly Game หรือเกมที่จบลงด้วยการผูกขาด ทำนองเดียวกับหมากล้อมของจีนหรือ “โกะ” ของญี่ปุ่นนั่นเอง
หลักการง่าย ๆ คือท้ายสุดคนชนะจะ “กินรวบ” ทั้งกระดาน
กรณีการควบรวมที่ลงเอยด้วยการเทกโอเวอร์กิจการครั้งใหญ่ ระหว่างซอฟต์แบงก์แห่งญี่ปุ่น กับ ไลน์ คอร์ปอเรชั่นของเกาหลีใต้ ที่เพิ่งประกาศไปไม่นาน เข้าข่ายเกมเศรษฐีเช่นเดียวกัน
เริ่มต้นจากสำนักข่าวใหญ่อย่างนิกเกของญี่ปุ่นออกข่าวว่า SoftBank อยู่ระหว่างเจรจาในขั้นตอนสุดท้ายกับ Naver ผู้ถือหุ้นใหญ่ของฝ่ายหลัง เพื่อควบรวมกิจการระหว่าง Z Holdings ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ SoftBank ผู้ให้บริการ Yahoo! Japan และ LINE ในญี่ปุ่นเข้าด้วยกัน
การควบรวมกิจการทำนองนี้คือการเทกโอเวอร์ทางอ้อมผ่านเครือข่ายเพื่อเลี่ยงหลบข้อหาว่าผูกขาดธุรกิจ แต่สำหรับคนวงในแล้วนี่เป็นปกติธรรมดาของกิจการบริษัทมหาชนในตลาดหุ้นทั่วไป
รายงานข่าวยังระบุว่า ทั้งสองบริษัท วางแผนที่จะบรรลุข้อตกลงดังกล่าวภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ พร้อมกับคาดการณ์ถึงข้อสรุปของดีลนี้ว่า SoftBank และ Naver จะตกลงจัดตั้งบริษัทร่วมทุน โดยแต่ละฝ่ายจะถือหุ้นในสัดส่วน50%
ดูเผิน ๆ แล้วเป็นการควบรวมที่เท่าเทียมกัน แต่ข้อเท็จจริงคือ การที่ Line ต้องเข้ามาอยู่ใต้ร่มธงของซอฟต์แบงก์อย่างเลี่ยงไม่พ้น แม้รายละเอียดจะไม่ออกมาทั้งหมด จนกว่าดีลจะแล้วเสร็จ
สิ่งที่จะติดตามมาคือหลังจากดีลจบ ทางซอฟต์แบงก์จะต้องเปิดธุรกรรมเทนเดอร์ออฟเฟอร์ ซื้อหุ้นคืนกับผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ เพื่อถอนตัว Line ออกจากตลาดหุ้นหลายแห่งทั้งในเกาหลีใต้ โตเกียว และนิวยอร์ก ซึ่งเท่ากับอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารจะอยู่ที่กำมือของซอฟต์แบงก์โดยปริยาย
ปัจจุบัน Line เป็นแอปฯ ส่งข้อความที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นมีผู้ใช้อยู่ราว 80 ล้านราย ขณะที่ Yahoo! Japan ให้บริการทั้งเวบพอร์ทัล อีคอมเมิร์ซและบริการการเงิน มีผู้ใช้ราว 50 ล้านราย ซึ่งเมื่อบริษัทใหม่จัดตั้งเสร็จ จะมีฐานผู้ใช้รวมกันกว่า 100 ล้านราย และจะกลายเป็นหนึ่งใน super app ที่โดดเด่นของเอเชียเช่นเดียวกับ Alipay ของจีน Grab ของสิงคโปร์ และ Gojek ของอินโดนีเซีย
แม้ว่าปีที่ผ่านมา Line จะเติบโตมากขึ้น จากการเปิดธุรกิจหลายด้านในลักษณะ click-and-mortars แบบผสมผสาน แต่กลับมีผลประกอบการย่ำแย่ลงถึงขั้นขาดทุนสุทธิมากถึงหุ้นละ 25 เยน เทียบกับปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิหุ้นละ 15 เยน ทำให้ขาดทุนต่อหุ้นเพิ่มขึ้นมากถึง 40% เนื่องจากยังไม่ใช่ช่วงเวลาผลตอบแทนดีมากจากธุรกิจใหม่ ๆ
นักการเงินทั่วโลก มองว่าการเข้าเทกโอเวอร์ของซอฟต์แบงก์ถือเป็นจังหวะที่ชาญฉลาดอีกครั้ง เพราะเป็นช่วงที่ราคาหุ้นและมูลค่าของบริษัทในกลุ่ม Line ส่วนใหญ่มีกำไรย่ำแย่ แต่ในอนาคตจะต้องมีอนาคตสดใสแน่นอน จะทำให้การเทกโอเวอร์ให้ผลตอบแทนสูงมากในระยะต่อไป ทำนองเดียวกันกับที่ซอฟต์แบงก์เข้าซื้อกิจการที่ขาดทุนหนักอย่างธุรกิจมือถือ (จนกลายเป็นยักษ์ใหญ่อันดับสอง) ของญี่ปุ่น และการเข้าซื้อหุ้นอาลีบาบาในยามยากลำบาก (จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นอันดับสอง มากกว่าหุ้นที่มีของแจ็ก หม่า) และการทุ่มซื้อ Yahoo! Japan ผ่านทาง Z Holdings
การได้ธุรกรรมของ Line เข้ามาในร่มธง จะช่วยให้เดิมพันของซอฟต์แบงก์ในโลกออนไลน์? ครบครันมากขึ้นสามารถแข่งขันในตลาดพอร์ทัล ส่งข้อความ และ ลอจิสติกส์ เทียบกับคู่แข่งในจีน สหรัฐฯ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นอย่างมีพลังมากขึ้น
ทางด้าน Naver ยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตของเกาหลีใต้ การขายกิจการ Line ออกไม่ทั้งหมด ถือว่าเป็นกำไรสองต่อหลังจากที่ขายหุ้นมูลค่ามหาศาลในตลาดหุ้นเมื่อหลายปีก่อน และในครั้งนี้อีกทอด ในขณะที่ภาระทางธุรกิจอย่าง LineMan, Aline Pay, Line Taxi และอื่น ๆ ยังไม่ผลิดอกออกผลเต็มที่ในระยะสั้น
อนาคตของเดิมพันซอฟต์แบงก์ ยังไม่มีใครรู้ว่าเกมเศรษฐีดังกล่าวจะไปได้สวยแค่ไหน รู้แต่ว่าเป็นเส้นทางที่ต้องเกิดขึ้น เลี่ยงไม่พ้น