ทางเลือกของฮ็อบสัน พลวัต2015
มีข้อสรุปที่ผิดพลาด 2 ทางเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างราคาหุ้นกับเศรษฐกิจในภาพรวมที่มักจะทำให้นักลงทุนไขว้เขวเสมอ คือ
มีข้อสรุปที่ผิดพลาด 2 ทางเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างราคาหุ้นกับเศรษฐกิจในภาพรวมที่มักจะทำให้นักลงทุนไขว้เขวเสมอ คือ
– ถ้าเศรษฐกิจเป็นขาขึ้น หุ้นทุกตัวในตลาดจะเป็นขาขึ้น ตรงกันข้าม ถ้าเศรษฐกิจแย่ หุ้นทุกตัวจะเป็นขาลง
– ถ้าราคาหุ้นวิ่งขึ้นแรง แสดงว่าเศรษฐกิจดี ถ้าหุ้นร่วงแรง แสดงว่าเศรษฐกิจย่ำแย่
ข้อผิดพลาดสำคัญของข้อสรุปข้อแรกอยู่ที่การอนุมานเอาเองแบบเหมารวม เพราะข้อเท็จจริงก็คือ หากเศรษฐกิจในภาพรวมเป็นขาขึ้น ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนโดยเฉลี่ยจะสูงขึ้น ทำให้หุ้นส่วนใหญ่ในตลาดราคาสูงขึ้น แต่บางบริษัทที่เป็นส่วนน้อยจะมีผลประกอบการย่ำแย่ได้ เพราะไม่สามารถเก็บเกี่ยวจากเศรษฐกิจขาขึ้นได้
ในทางกลับกัน ในยามเศรษฐกิจขาลง กำไรเฉลี่ยของบริษัทจดทะเบียนจะลดลง ทำให้ราคาหุ้นส่วนใหญ่มีแนวโน้มราคาต่ำลง แต่อาจจะมีบริษัทที่มีปัจจัยโดดเด่นบางรายจำนวนน้อยที่เป็นหุ้นเหนือตลาด มีผลประกอบการสวนทางกับค่าเฉลี่ยของบริษัทในตลาด และอาจจะมีบริษัทบางแห่งที่ถูกกระแสเศรษฐกิจขาลงกระหน่ำ ทำให้ขาดทุนจนถึงขั้นล่มสลาย หรือถูกซื้อกิจการไปสู่มือเจ้าของใหม่
ส่วนความผิดพลาดของข้อสรุปหลังอยู่ที่ว่า เป็นการอุปมานเอาตัวอย่างเพียงไม่กี่บริษัท มาเป็นข้อสรุปภาพรวมของตลาด แล้วก็กลายเป็นข้อสรุปภาพรวมของเศรษฐกิจ ซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจผิดพลาดได้ เพราะมีลักษณะที่พระพุทธเจ้าบอกว่า “มองเห็นแต่ต้นไม้ แต่ไม่เห็นป่าทั้งป่า”
ความผิดพลาดทั้งสองประการดังกล่าว มักจะถูกนำไปใช้อ้างอิงกันอย่างพร่ำเพรื่อ เช่น รัฐมนตรีซีกรัฐบาล มักจะชอบอ้างว่า การที่ดัชนีหุ้นวิ่งแรงเป็นขาขึ้นช่วงหนึ่งๆ เพราะนักลงทุนพึงพอใจและนิยมผลงานของรัฐบาล ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามจะยกกรณีตรงกันข้ามว่า หากดัชนีหุ้นตกแรง เพราะนักลงทุนสิ้นศรัทธาในผลงานของรัฐบาล ควรจะเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีบางกระทรวง หรือ ยกทีมทั้งกระบิ
ข้อสรุปที่ผิดพลาดดังกล่าว ยังเกิดขึ้นได้แม้กระทั่งนักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะคนที่ใส่ใจกับปัจจัยทางเทคนิคมากกว่าพื้นฐาน ดังเช่น ในช่วงนี้ ที่นักวิเคราะห์บางสำนักยังคงให้คำแนะนำว่า ปัจจัยภายในของตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยบวกอีกมาก เพราะมีสัญญาณซื้อจากนักลงทุนต่างชาติ และกองทุนที่ซื้อต่อเนื่องมา 2 วันติดกันในปลายสัปดาห์ก่อน จนดัชนียืนเหนือ 1,425 จุด เป็นสัญญาณฟื้นตัวและบวกทางเทคนิค สามารถเข้าซื้อหุ้นบางตัวได้ ในหุ้นที่มีเงินปันผลสูง และหุ้นที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการ 9 ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในสัปดาห์นี้ หนุนหุ้นให้ช่วงก่อนหน้านี้ปรับตัวลงมาเร็ว มีช่วงรีบาวด์กลับระยะได้
คำชี้แนะดังกล่าว แม้จะไม่ถึงกับเหมารวม แต่ก็บอกใบ้ว่า แม้เศรษฐกิจจะไม่ดี แต่ตลาดหุ้นยังคงสามารถขึ้นได้ต่อไปอีก โดยเฉพาะหุ้นบางรายการ อาจจะทำให้นักลงทุนเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า ตลาดยังคงไปได้สวย ทั้งที่โดยสภาพแวดล้อมภายนอกตลาดยามนี้ มีแต่ข่าวลบเต็มไปหมด
คำชี้แนะดังกล่าว อาจจะส่งผลให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ เพราะข้อเท็จจริงที่ยืนยันว่าเศรษฐกิจเป็นขาลงนั้นออกมาเรื่อยๆ
ล่าสุด ตัวเลขเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ประกาศออกมาแล้วว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือนกรกฎาคม ลดลง 1.05% มากกว่าที่คาดว่าจะติดลบ 1.0% ยังเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ส่งผลให้ CPI ช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค. 58) ลดลง 0.85%
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือนก.ค. 58 อยู่ที่ 105.93 เพิ่มขึ้น 0.94% จากเดือน ก.ค. 57 และเพิ่มขึ้น 0.10% จากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ Core CPI ช่วง 7 เดือนของปี 58 โตขึ้น 1.18% ยิ่งกว่านั้น ยังอยู่ในช่วงพิจารณาปรับเป้าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้จากที่คาดการณ์ที่ 0.6-1.3% ลงไปอีก
เงินเฟ้อต่ำใกล้เคียงระดับ “กับดักสภาพคล่อง” หากเทียบกับกรณีที่แบงก์ชาติออกมาระบุว่า จีดีพีสิ้นปีนี้อาจจะต่ำกว่าที่คาดเดิม 3% ถือว่าเศรษฐกิจไทยหมิ่นเหม่เข้าใกล้ภาวะเงินฝืดไปทุกขณะ แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์จะยั้งความเห็นเอาไว้ เพราะเกรงใจรองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ที่ประเมินไปตรงกันข้ามว่า โดยส่วนตัวไม่รู้สึกกังวลแต่อย่างใด เพราะตัวเหตุสำคัญอยู่ในต่างประเทศ ไม่ใช่ความผิดพลาดของรัฐบาล แต่เกิดจากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงอย่างต่อเนื่องและปัจจัยจากค่าเงินเยนของญี่ปุ่นมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ทั้งจีน เกาหลีและไทย
อีกมุมหนึ่ง สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ ซึ่งรับผิดชอบในการขนสินค้าขาออกและนำเข้า ออกมาระบุเพิ่มเติมโดยปรับลดเป้าส่งออกปีนี้เป็นติดลบ 4.2% จากเดิมคาดติดลบ 2% หลังประเมินความต้องการซื้อตลาดโลกอ่อนแอ และค่าเงินของคู่ค้าและคู่แข่งของไทยอ่อนค่ามากกว่า รวมทั้งการย้ายฐานการผลิตในบางอุตสาหกรรม
คำถามก็คือ สัญญาณร้ายดังกล่าว จะทำให้ราคาหุ้น และดัชนีตลาดหุ้น วิ่งแรงสวนกระแสภาพรวมทางเศรษฐกิจได้อย่างไร คำตอบคือ หากดูหุ้นเป็นรายตัว บริษัทที่ทำได้ดีกว่าตลาด ก็น่าจะไม่แยแสกับภาพรวมของเศรษฐกิจ หรือค่าเฉลี่ยของตลาดมากนัก แต่หุ้นส่วนใหญ่ของตลาดก็คงจะถูกข้อจำกัดของภาพรวมทางเศรษฐกิจถ่วงรั้งอย่างมีนัยสำคัญ ไม่มากก็น้อย
ภาวะเช่นนี้ ทำให้นักลงทุนตัดสินใจยากลำบาก เพราะว่า ความรู้ในช่วงปกติใช้การไม่ได้ในการตัดสินใจลงทุน ครั้นจะถอยก็คาดว่าหุ้นจะขึ้น จะสู้ต่อก็ยังหวาดผวาว่าอาจจะมีแย่กว่าเดิม เสมือนตกอยู่ในฐานะตัวประกันที่ตกอยู่ในสถานการณ์ “ทางเลือกของฮ็อบสัน” คือไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากที่ถูกกำหนดให้กระทำ
สถานการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นสถานการณ์ที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกกันว่าต้นทุนจม ทำให้ผู้คนที่สับสนตัดสินใจไม่ถูกว่าควรจะทำตัวอย่างไรดีถึงจะทำให้ต้นทุนความเสียหายน้อยสุดเท่าที่เป็นไปได้ เสมือนคนหลงทางที่มีสภาพไม่ต่างจาก “ทางเลือกของฮ็อบสัน” เพราะไม่สามารถแยกแยะว่า ความจริงและมายาต่างกันอย่างไร
ต้นทุนจมของนักลงทุนยามนี้ จึงไม่ใช่แค่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป