แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
การลดดอกเบี้ยร่วมกันของธนาคารกลางทั่วโลก อาจช่วยสร้างความเชื่อมั่นในตลาดได้ในขณะนี้ แต่ต้องไม่ลืมว่า ปัญหาไวรัสโคโรนายังคงอยู่และยังยับยั้งไม่ได้
พลวัตปี 2020 : ฐปนี แก้วแดง (แทน)
ตลาดการเงินทั่วโลกเด้งกลับอย่างรุนแรงในวันจันทร์ที่ผ่านมาเพราะมีความหวังว่าธนาคารกลางทั่วโลกจะเข้าแทรกแซงเพื่อปกป้องตลาดจากผลกระทบของไวรัสโคโรนา ความหวังที่จะมีมาตรการกระตุ้นจากธนาคารกลางและรัฐบาลทั่วโลกในยามนี้ เปรียบเสมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ที่ใคร ๆ ก็อยากได้เห็นในยามนี้
ก่อนที่จะเกิดความหวังเช่นนี้ ตลาดหุ้นทั่วโลกได้ปรับตัวลงอย่างรุนแรงนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินปี 2551ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนเป็นกังวลถึงผลกระทบจากไวรัสโคโรนาเมื่อมันแพร่กระจายออกจากจีนและยอดผู้เสียชีวิตนอกประเทศจีนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนน่าตกใจ
ความเห็นจากเจ้าหน้าที่คนสำคัญของธนาคารกลางต่าง ๆ เมื่อวันจันทร์เป็นสัญญาณว่า ธนาคารกลางทั่วโลกน่าจะตระหนักและเป็นกังวลต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจของไวรัสโคโรนาจริง ๆ และการคาดการณ์เรื่องลดดอกเบี้ยจากนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังในสหรัฐฯ ตั้งแต่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เชื่อได้ว่าน่าจะมีการหารือและเตรียมการร่วมกันที่จะจับมือกันสู้ศึกไวรัสในครั้งนี้เหมือนที่เคยสามัคคีกันเมื่อครั้งเกิดวิกฤติการเงินในปี 2551
สังเกตเห็นได้ว่า ความเห็นของธนาคารกลางอังกฤษ ยุโรป และญี่ปุ่น เมื่อวันจันทร์ มีเป้าประสงค์เพื่อสงบความกลัวในตลาดทั้งสิ้น
หลุยส์ เดอ เกวนดอส รองประธานธนาคารกลางยุโรปกล่าวว่า ธนาคารกลางยุโรปจะยังคงเฝ้าระวังและจับตาอย่างใกล้ชิดต่อข้อมูลที่จะออกมาและเตือนถึงผลกระทบต่อการส่งออกในยูโรโซนและการทำลายซัพพลายเชนทั่วโลก และในกรณีใด ๆ ก็ตาม คณะกรรมการบริหารของธนาคารกลางยุโรปพร้อมที่จะปรับเครื่องมือทั้งหมดตามความเหมาะสมเพื่อสร้างความมั่นใจว่าเงินเฟ้อเคลื่อนไหวไปสู่เป้าที่วางไว้อย่างยั่งยืน
ฮารูโกะ คูโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นก็ตั้งข้อสังเกตเมื่อวันจันทร์ว่า ตลาดไร้เสถียรภาพ และมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวโน้มกิจกรรมเศรษฐกิจมากขึ้นเพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะจับตาพัฒนาการในอนาคตอย่างใกล้ชิดและจะพยายามจัดหาสภาพคล่องอย่างเพียงพอและสร้างความมั่นใจว่าจะมีเสถียรภาพในตลาดการเงินผ่านการซื้อสินทรัพย์และปฏิบัติการที่เหมาะสมในตลาด
มาร์ก คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ ได้ออกมาเรียกร้องตั้งแต่วันศุกร์ ให้อังกฤษเตรียมตัวเองให้พร้อมต่อการลดการเติบโตทางเศรษฐกิจและเตือนว่าซัพพลายเชนกำลังตึงตัวเล็กน้อย ต่อมาในวันจันทร์ ธนาคารกลางอังกฤษแถลงว่ากำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงการคลัง หน่วยงานต่าง ๆ และหุ้นส่วนระหว่างประเทศเพื่อดำเนินมาตรการทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อปกป้องเสถียรภาพทางการเงิน
ส่วนเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐได้ย้ำตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมาว่า โคโรนาไวรัสมีความเสี่ยงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจแม้ว่าปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งอยู่ และธนาคารกลางสหรัฐจะใช้เครื่องมือและปฏิบัติการที่เหมาะสมเพื่ออุดหนุนเศรษฐกิจ
ธนาคารกลางจีนเป็นธนาคารใหญ่เพียงแห่งเดียวที่ได้ลดดอกเบี้ยเพื่อตอบโต้โดยตรงต่อไวรัสโคโรนา โดยได้ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดีอายุ 1 ปี และ 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ และเมื่อวานนี้ ธนาคารกลางออสเตรเลียก็ได้นำร่องเป็นแห่งแรก ประกาศลดดอกเบี้ย 0.25% ตามที่มีการคาดการณ์
ความเห็นที่แสดงความพร้อมที่จะดำเนินการเพื่อต่อสู้กับผลกระทบของไวรัสจากธนาคารกลางเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากที่กลุ่มเศรษฐกิจหลาย ๆ กลุ่มได้ปรับลดประมาณการเติบโตเพราะไวรัสโคโรนา
องค์การเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ได้คาดการณ์เมื่อวันจันทร์ว่า ในปีนี้เศรษฐกิจโลกจะโตเพียง 2.4% ลดลงจาก 2.9% ที่ได้คาดการณ์ในเดือนพฤศจิกายน และยังเตือนว่า การระบาดที่รุนแรงมากขึ้นอาจทำให้การเติบโตทั่วโลกเหลือเพียง 1.5%
การลดประมาณการเศรษฐกิจลงมากเช่นนี้ ย้ำให้เห็นถึงความรุนแรงของผลกระทบไวรัสโคโรนาที่ผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกคงไม่อาจนั่งเฉยได้อีกต่อไป แต่จะลงมือปฏิบัติร่วมกันเมื่อไหร่เป็นสิ่งที่ต้องรอดูและจับตาไว้ให้ดี
ในช่วงที่มีความหวังว่าจะมีมาตรการกระตุ้นร่วมกันทั่วโลกเช่นนี้ ตลาดหุ้นอาจจะคึกคักเป็นพิเศษจนกว่าจะมีปฏิบัติการจริง ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อนักลงทุนที่อาจถลำตัวเข้าไปโดยไม่ทันคิดว่า ผลที่ตามมาจากการลดดอกเบี้ยร่วมกันจะได้ผลแค่ไหน ซึ่งเราไม่มีวันจะรู้ได้จนกว่าเมื่อเวลานั้นจะมาถึง
โมฮัมหมัด เอล อีเรียน หัวหน้าที่ปรึกษาของอัลลิแอนซ์ ได้เตือนว่า การแพร่กระจายของไวรัสโคโรนา จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกโดยเป็นความท้าทายที่ธนาคารกลางและผู้กำหนดนโยบายอื่น ๆ จะพบว่า ยากที่จะแก้ไขด้วยเครื่องมือแบบดั้งเดิม เช่นการลดอัตราดอกเบี้ยและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และพลวัตที่เปลี่ยนแปลงนี้จะคุกคามการทำงานของกลยุทธ์ “ซื้อเมื่อหุ้นดิ่ง” ที่นักลงทุนเคยทำไว้ หลังจากที่เศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยในปี 2551-2552
การลดดอกเบี้ยร่วมกันของธนาคารกลางทั่วโลก อาจช่วยสร้างความเชื่อมั่นในตลาดได้ในขณะนี้ แต่ต้องไม่ลืมว่า ปัญหาไวรัสโคโรนายังคงอยู่และยังยับยั้งไม่ได้