ลดดอกเบี้ย-ฟื้น LTF
หลายประเทศทั่วโลกกำลังใช้ “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ”
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
หลายประเทศทั่วโลกกำลังใช้ “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ”
หลังต้องเผชิญกับพิษไวรัสโควิค-19 อย่างหนัก
ส่วนใหญ่แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศไม่ได้แตกต่างกันมากนัก
นั่นคือการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมา
เริ่มจากธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ที่ประชุมนัดพิเศษเมื่อคืนวันก่อน ด้วยการลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาแบบ “ฉุกเฉิน” 0.50% และคาดว่าจะมีมาตรการอื่น ๆ ตามมาอีกชุดใหญ่
เช่นเดียวกับธนาคารกลางทั่วโลกต่างเริ่มลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาเช่นกัน
ของประเทศไทยเองนั้น
ล่าสุดจากการให้สัมภาษณ์ของ “อุตตม” รมว.คลัง ผู้บริหารแบงก์ชาติ และสำนักวิจัยของสถาบันการเงินต่าง ๆ
มีนัยสำคัญว่า วันที่ 25 มี.ค.นี้ ที่จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.
มีโอกาสมากกว่า 50% ที่จะลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาอีก 0.25%
หรือปรับลงมาเหลือ 0.75%
แม้ว่า กนง.จะเพิ่งลดดอกเบี้ยลงมา 0.25% เมื่อช่วงต้นเดือนก.พ. (5 ก.พ.) ที่ผ่านมา
หากจำกันได้
ผู้ว่าการ ธปท. “วิรไท สันติประภพ” เคยให้สัมภาษณ์ขณะนั้นแบบมีนัยสำคัญว่า ธปท.ยังพอจะมี “รูม” การปรับลดดอกเบี้ยลงมาได้อีก
หากเผชิญกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
แน่นอนว่า การปรับลดดอกเบี้ย
นั่นเท่ากับว่า จะช่วยหนุนเม็ดเงินเข้าไปยังสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น
โดยเฉพาะตลาดหุ้น
อย่างวานนี้ “พี่กอง” หรือกลุ่มนักลงทุนสถาบัน และต่างชาติ ต่างซื้อสุทธิ (รวมถึงรายย่อย)
เช่นเดียวกับตลาดหุ้นฝั่งยุโรป และดาวโจนส์ฟิวเจอร์ส ต่างอยู่ในแดนบวกด้วยกันทั้งหมด
แม้ว่าขณะนี้ แต่ละประเทศยังไม่สามารถประเมินความเสี่ยงจากไวรัสโควิด-19 ได้
ทว่า ไม่มีใครสามารถรอได้ว่าจุดต่ำสุดจะไปสิ้นสุดตรงไหน
ในทางกลับกัน
จำเป็นต้องออกมาตรการ “ฉุกเฉิน” แบบนี้แหละ เพื่อที่จะช่วยบรรเทา หรือชะลอความเสียหายให้ลดน้อยลงมากที่สุด
และเชื่อว่า มาตรการที่แต่ละประเทศออกมานั้น
เป็นเพียงชุดแรกเท่านั้น
และน่าจะมีมาตรการชุดอื่น ๆ ตามกันออกมาอีก ขึ้นอยู่กับนโยบายการเงิน การคลังของแต่ละประเทศ
นอกจากเรื่องของดอกเบี้ยที่คาดว่าจะปรับลงแล้ว
ของไทยเองยังมีมาตรการการคลัง เช่น มาตรการทางภาษี และการแจกเงินไปยังกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเสริมสภาพคล่องในระบบให้กลับคืนมาโดยเร็ว
และที่สำคัญคือการปรับเกณฑ์กองทุน SSF ให้เหมือนกับกองทุน LTF
เรื่องนี้หากทางคลังไม่ยืนกระต่ายขาเดียว
หรือฟังภาคเอกชนมาก ๆ หน่อย ตอนที่จะไม่ต่ออายุกองทุน LTF
ปัญหาของตลาดหุ้นไทยอาจจะไม่หนักขนาดนี้ก็ได้
เพราะจะเห็นว่า ในช่วงวิกฤตินั้น
เรื่องของกองทุน LTF จะเข้ามาช่วยในหลายด้านมาก ๆ
โดยเฉพาะในช่วงที่หุ้นลงหนัก ๆ หลายคนมักจะเข้ามาซื้อกองทุน LTF (หวังทั้งผลตอบแทน ลดหย่อนภาษีและการออมเงินระยะยาว) ทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาต่อเนื่อง
และเงินเหล่านี้จะเข้าไปสู่ระบบการซื้อขายของตลาดหุ้นแทบจะทันที