เวียดนามแซงส่งออกไทยแล้วจ้ะ
“ดร.โกร่ง” วีรพงษ์ รามางกูร ท่านไม่ได้เอาแต่ตำหนิรัฐบาลและแบงก์ชาติอย่างเดียว แต่ยังเสนอทางออกการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเสมอมาเป็นระยะ ๆ
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
“ดร.โกร่ง” วีรพงษ์ รามางกูร ท่านไม่ได้เอาแต่ตำหนิรัฐบาลและแบงก์ชาติอย่างเดียว แต่ยังเสนอทางออกการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเสมอมาเป็นระยะ ๆ
ข้อเสนอหนึ่ง ที่อาจารย์โกร่งเสนอมาตลอดก็คือ อัตราแลกเปลี่ยนเพื่อการส่งออก หากมิใช่ “การบริหารกรอบเงินเฟ้อ” เพื่ออะไรก็มิทราบของแบงก์ชาติ
ในการปาฐกถา “มหาวิกฤตทางเศรษฐกิจใหญ่” เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร.วีรพงษ์ ก็ยังย้ำความสำคัญของการส่งออก ที่เป็นเครื่องจักรใหญ่หมุนเศรษฐกิจ (จีดีพี) ถึงร้อยละ 70 ซึ่งพัฒนาการเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ ยังไม่สามารถจะปรับเปลี่ยนการพึ่งพาการส่งออกไปเป็นการบริโภคและการลงทุนในประเทศได้หรอก
“รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจของรัฐบาลบอกว่า การส่งออกไม่สำคัญ เราสามารถสร้างความต้องการภายในรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งเป็นคำพูดที่โง่เขลา เพราะถ้าหากหากประเทศไทยไม่ส่งออก และไม่มีนักท่องเที่ยว รายได้ประชาชาติจะเหลือแค่ 30% ของรายได้ประชาชาติขณะนี้”
ดร.โกร่งเสนอสูตรอัตราแลกเปลี่ยนบาทกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจไว้น่าคิด!
ถ้าหากจะให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 4% ค่าเงินบาทต้องอยู่ที่ 33 บาท/ดอลลาร์ ถ้าหากจะให้เศรษฐกิจขยายตัว 5% เงินบาทต้องอยู่ในระดับ 35บาท/ดอลลาร์ แต่ถ้าเงินบาทอยู่ที่ 30 บาท/ดอลลาร์ อัตราขยายตัวจะเท่ากับศูนย์ “ดังนั้นจึงเป็นห่วงความไม่รู้ของทางการมากกว่า”
ครับ จีดีพี ปี 62 ของไทยเราก็ต่ำเตี้ยเรี่ยดินในระดับ 2.4% อยู่แล้ว เมื่อตอนที่ไวรัสโคโรนาที่มาเป็นโควิด-19 เวลานี้ ยังไม่แผลงฤทธิ์เต็มที่ แบงก์ชาติก็ยังปรับประมาณการอัตราขยายตัวจีดีพี ปี 63 ลงมาอยู่ที่ 1.5-2.5% เลย
ตอนนี้ กกร.อันเป็นสถาบันร่วมภาคเอกชน ปรับประมาณการขยายตัวมาอยู่ที่ 1.5-2% แล้ว แนวโน้มก็มีโอกาสสูงจะต้องปรับประมาณการลงไปเรื่อย ๆ
โชคไม่ดีเลย เมื่อการประชุมครม.วันอังคารที่ผ่านมา ที่ประชุมได้รับทราบ ทางการสหรัฐฯ ประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ต่อสินค้าไทยจำนวน 573 รายการ เนื่องจากไทยยังไม่สามารถคุ้มครองแรงงานตามมาตรฐานสากลได้
อาการส่งออกของไทยยิ่งจะทรุดหนักลงอีก เพราะการจะไปหาตลาดใหม่ทดแทนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ตามคำแถลงของรองโฆษกรัฐบาล คงไม่ใช่เรื่องทำได้ง่ายดายในระยะเวลาอันสั้น
มองอนาคตการส่งออกไทย แล้วหันไปมองการส่งออกเวียดนาม ก็ดูจะต่างกันราวฟ้ากับเหว เพราะที่นั่น ยอดส่งออกปีที่แล้วอยู่ในระดับ 2.63 แสนล้านดอลลาร์ ขยายตัวในระดับ 8.1%
แต่ที่นี่ ประเทศไทย การส่งออกมีมูลค่า 2.46 แสนล้านดอลลาร์ ขยายตัวติดลบในระดับ 2.65% แนวโน้มจะถดถอย
ส่วนเวียดนาม สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยมูลค่าสินค้าส่งออกและนำเข้าในรอบ 2 เดือนแรกของปี (ม.ค.-ก.พ.) มีมูลค่าการส่งออกรวม 36,900 ล้านดอลลาร์ และนำเข้า 37,100 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวในระดับ 2.4% ด้วยกันทั้งคู่
สินค้าส่งออกอันดับ 1 คือ อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน26.7%, รองลงมาคือโทรศัพท์และชิ้นส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น 2.3% และรองเท้า ถุงเท้า มูลค่า 2.7 พันล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 3%
ลูกค้าส่งออกอันดับ 1 ของเวียดนาม คือสหรัฐอเมริกา มูลค่า 9.8 พันล้านเหรียญ ประชาคมยุโรป หรือ อียู 5 พันล้านเหรียญ และสาธารณรัฐประชาชนจีน 4.8 พันล้านเหรียญ
เวียดนามแซงไทยไปแล้วด้านการส่งออก ประเทศไทยย่างก้าวช้าไปเสียทุกอย่าง ช้าทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และการปรับลดค่าเงินบาท