ราคาน้ำมันถึงราคาหุ้น
นับเป็น “เซอร์ไพรส์เชิงลบ” เมื่อการประชุมนโยบายด้านการผลิตน้ำมันระหว่างโอเปกและพันธมิตรที่นำโดยรัสเซีย เสร็จสิ้นลงเมื่อ 6 มี.ค. 63 ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ทั้ง 2 ฝ่าย ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการปรับลดกำลังการผลิต หลังจากฝ่ายโอเปก เสนอให้ปรับลดการผลิตน้ำมันลงอีก 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย. 63 จนถึง 31 ธ.ค. 63โดยแถลงการณ์ ระบุว่า โอเปกและชาติพันธมิตร เห็นพ้องให้มีการจัดการประชุมกันอีกครั้ง
พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง
นับเป็น “เซอร์ไพรส์เชิงลบ” เมื่อการประชุมนโยบายด้านการผลิตน้ำมันระหว่างโอเปกและพันธมิตรที่นำโดยรัสเซีย เสร็จสิ้นลงเมื่อ 6 มี.ค. 63 ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ทั้ง 2 ฝ่าย ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการปรับลดกำลังการผลิต หลังจากฝ่ายโอเปก เสนอให้ปรับลดการผลิตน้ำมันลงอีก 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย. 63 จนถึง 31 ธ.ค. 63โดยแถลงการณ์ ระบุว่า โอเปกและชาติพันธมิตร เห็นพ้องให้มีการจัดการประชุมกันอีกครั้ง
“อเล็กซานเดอร์ โนวัค” รัฐมนตรีพลังงานของรัสเซีย ระบุหลังการประชุมว่า เมื่อพิจารณาผลการประชุมนั้น นับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 63 ทั้งรัสเซียหรือโอเปก หรือประเทศนอกกลุ่มโอเปก ไม่มีความจำเป็นต้องปรับลดกำลังผลิตน้ำมันอีกต่อไป อย่างไรก็ดีรัสเซีย, ชาติพันธมิตรและโอเปก จะยังจับตาสถานการณ์ในตลาดน้ำมันต่อไป
ผลพวง “ความไม่บรรลุข้อตกลง” ดังกล่าว ทำให้ตลาดน้ำมันดิบโลกสะท้อนเชิงลบทันที สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. 63 ปรับตัวลง 4.62 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือ 10.07% มาปิดตลาดที่ 41.28 ดอลลาร์สหรัฐบาร์เรล เช่นเดียวกับสัญญาน้ำมันดิบ Brent ส่งมอบเดือนพ.ค. 63 ปรับตัวลง 4.72 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือ 9.44% มาปิดตลาดที่ 45.27 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
นั่นทำให้สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงเฉลี่ย 7.8% และสัญญาน้ำมันดิบ Brent ปรับตัวลงเฉลี่ย 8.9% ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
ที่สำคัญ “ผลกระทบเชิงลบต่อเนื่อง” นำมาสู่หุ้นที่เกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากภาวะอุปทานส่วนเกิน (Oversupply) ของน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ต้องใช้เวลาอีกนาน จึงส่งผลกระทบต่อ ความต้องการ (Demand) การใช้น้ำมันโลกเจอภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง
นั่นทำให้มีการประเมินกันว่า ทิศทางราคาน้ำมันดิบโลกจะผันผวนทิศทางขาลง และหากพิจารณาค่าเฉลี่ยทั้งปี มีโอกาสต่ำกว่าสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบปี 2563 ที่กําหนดไว้ระดับประมาณ 65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 47 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
สำหรับหุ้นที่เผชิญผลเชิงลบครั้งนี้ คือบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT มีการประเมินว่าการเปลี่ยนแปลงทุก 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จะมีผลต่อมูลค่าหุ้น PTTEP ประมาณ 10-14 บาท และมูลค่าหุ้น PTT ประมาณ 2-3 บาท
จึงมีความเป็นได้ว่าราคาหุ้นทั้ง 2 ตัว จะเกิดแรงเทขายช่วงระยะสั้น เพื่อสะท้อนกับเรื่องดังกล่าว แต่ระยะกลางถึงยาวด้วยปัจจัยพื้นฐาน จะทำให้เกิดการฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ
ที่สำคัญ ด้วยแถลงการณ์จากการประชุมนโยบายด้านการผลิตน้ำมันระหว่างโอเปกและพันธมิตร ที่ระบุว่า โอเปกและชาติพันธมิตร เห็นพ้องให้มีการจัดการประชุมกันอีกครั้ง..แม้ว่าไม่ได้ระบุช่วงเวลาที่แน่นอนก็ตาม
แต่เชื่อว่าด้วยสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เป็นอยู่ขณะนี้ เชื่อว่าการประชุมครั้งถัดไป ไม่น่าทอดเวลานานและนั่นหมายถึงข้อเสนอจากกลุ่มโอเปกอาจสัมฤทธิผลก็เป็นได้..!!!