อย่าให้ผู้พิพากษาตายฟรี

ผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ยิงตัวตายอีกครั้ง สื่อยักษ์ใหญ่พาดหัวทำนอง “ตายสมใจ” ราวกับเขาอยากตายเอง ไม่ได้เป็นความผิดของระบบ ที่เขาประท้วงว่า “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษาคืนความยุติธรรมให้ประชาชน”


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

ผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ยิงตัวตายอีกครั้ง สื่อยักษ์ใหญ่พาดหัวทำนอง ตายสมใจราวกับเขาอยากตายเอง ไม่ได้เป็นความผิดของระบบ ที่เขาประท้วงว่า คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษาคืนความยุติธรรมให้ประชาชน

แน่ละ คนที่ประท้วงความไม่ยุติธรรมแล้วฆ่าตัวตาย ย่อมมีลักษณะเฉพาะ แต่ถ้าไม่มีเหตุมีหรือจะฆ่าตัว พวกที่โยนให้เป็นปัญหาส่วนบุคคล เท่ากับลบหลู่เจตนารมณ์ โดยยังไม่นับพวกไร้ศีลธรรม อ้างศาสนาทับถม

ต่อให้เชื่อว่าผู้พิพากษาเป็นโรคซึมเศร้า ก็ลองคิดดูว่าเขารู้สึกอย่างไร เมื่อครั้งแรกยิงตัวตายแล้วไม่ตาย กลับฟื้นขึ้นมาเห็นคนให้ร้าย เช่นหาว่าตกเป็นเครื่องมือพรรคการเมืองทำลายศาล บิดเบือนกันไปต่าง ๆ ขณะประเด็นที่เขาต้องการแก้ไข คืออิสระของผู้พิพากษา กลับเงียบหายไป

ยังไม่ต้องพูดถึงปัญหาในศาล ก็เห็นความอยุติธรรมในสังคม เห็นฝูงคนหน้ามืดตามัว ปกป้องศาลทำอะไรถูกไปหมด เพราะเชื่อว่าศาลเป็นเครื่องมือของพวกตน มีไว้ทำลายฝ่ายตรงข้าม

ปัญหาที่ผู้พิพากษาคณากรสะท้อน ลองไปถามผู้พิพากษาทั่วไปก็จะรู้ ว่าเป็นความจริง เพียงขึ้นกับระดับหนักเบา ปัญหาท่าที แรงกดดัน

นั่นคือในปัจจุบัน การตัดสินคดีของผู้พิพากษา แม้รัฐธรรมนูญรับรองความเป็นอิสระ แต่ก็มีพระธรรมนูญศาลยุติธรรม 2551 ให้อธิบดีศาล มีอำนาจทำความเห็นแย้ง ให้คำแนะนำ ทั้งยังมีระเบียบปี 2562 ผู้พิพากษาต้องส่งสำนวนและร่างคำพิพากษา ให้อธิบดีตรวจก่อน ในคดีสำคัญ เช่น คดีความมั่นคง คดีก่อการร้าย คดีที่มีโทษจำคุกเกิน 10 ปีขึ้นไป คดียาเสพติด คดีที่ประชาชนสนใจ คดีที่เกี่ยวกับคนมีชื่อเสียง ฯลฯ รวมถึงคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยยังให้ศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์รายงานคดีสำคัญเหล่านี้ต่อประธานศาลฎีกาด้วย

แน่ละ กฎหมายและระเบียบยังเปิดช่องให้ อิสระถ้าไม่เห็นด้วยกับอธิบดีรองอธิบดี ผู้พิพากษาก็ยังยืนยันความเห็นของตนได้

แต่เมื่อคำนึงถึงความเป็นจริง การที่อธิบดีรองอธิบดีทำความเห็นสวนทาง เช่นจากยกฟ้อง ให้ตัดสินจำคุก ก็ย่อมเกิดแรงกดดัน แม้อธิบดีศาลไม่มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้าย แต่ในศาลก็ยังมีวัฒนธรรมอาวุโส ความเคารพเชื่อฟัง

บางคดีหากความเห็นต่างไม่มาก ก็คงยอมกันได้ แต่บางคดี เช่นคดีที่ทำให้ผู้พิพากษาคณากรยิงตัวตาย ตามเอกสารที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์ มีการตรวจแก้คำพิพากษา ขีดฆ่า ราวกับครูตรวจการบ้าน ต้องถามว่านี่เป็นมาตรฐานของศาลหรือไม่ ก.ต.สอบสวนแล้วมีความเห็นอย่างไร จะแก้ไขระเบียบไหม เพราะท่านสอบแล้วเงียบหายไป จนผู้พิพากษาคณากรยิงตัวตายอีกครั้ง

ทั้งที่นี่ไม่ใช่เรื่องระหว่างผู้พิพากษากับอธิบดี แต่เป็นเรื่องความยุติธรรมของประชาชน

อย่าให้ประชาชนคิดว่า อธิบดีศาลสั่งแก้คำพิพากษาทุกคดีได้ ประธานศาลฎีกาสั่งทุกคดีได้ มันจะทำลายความเชื่อถือระบบยุติธรรม

ปัญหานี้เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยปฏิเสธไม่ได้ เพราะหลังรัฐประหาร 2549 ฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 เขียนรัฐธรรมนูญ 2550 ก็แก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการศาลยุติธรรม รื้อสัดส่วน ก.ต. จากศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้น เดิมมี 4 คนเท่ากัน แก้เป็น 6:4:2 ให้ผู้พิพากษาผู้ใหญ่กลับมานั่งอธิบดีศาลชั้นต้น แก้พระธรรมนูญศาลยุติธรรมให้อธิบดีทำความเห็นแย้ง ขยายอายุเกษียณจาก 60 เป็น 70 ปี (ปัจจุบันแก้กลับไป 65)

ทัศนะชี้นำของตุลาการที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับรัฐประหาร 2549 คือไม่เชื่อถือผู้พิพากษารุ่นใหม่ หาว่าตัดสินกันมั่ว ต้องให้ผู้ใหญ่มาคุม

การปฏิรูประบบศาล จึงเป็นเป้าหมายสำคัญ เช่นเดียวกับนำประเทศคืนสู่ประชาธิปไตย โดยหวังว่าความสูญเสียจะช่วยผลักดัน ไม่ปล่อยให้ผู้พิพากษาคณากรตายฟรี

Back to top button