CP-โลตัส รักเก่าที่บ้านเกิด

ฮือฮาป่าช้าแตกกับอภิมหาดีล 3.38 แสนล้านบาท ซื้อเทสโก้ โลตัส (Tesco Lotus) ในประเทศไทยและมาเลเซีย ที่สุดท้ายกลุ่มซีพี ของ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ก็คว้าชัยชนะ จากเดิมมีสองคู่แข่งสำคัญ คือ กลุ่ม BJC ของ “เสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี” และกลุ่มเซ็นทรัล ของตระกูล “จิราธิวัฒน์”...


สำนักข่าวรัชดา

ฮือฮาป่าช้าแตกกับอภิมหาดีล 3.38 แสนล้านบาท ซื้อเทสโก้ โลตัส (Tesco Lotus) ในประเทศไทยและมาเลเซีย ที่สุดท้ายกลุ่มซีพี ของ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ก็คว้าชัยชนะ จากเดิมมีสองคู่แข่งสำคัญ คือ กลุ่ม BJC ของ “เสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี” และกลุ่มเซ็นทรัล ของตระกูล “จิราธิวัฒน์”

แต่ดูไปดูมา ภูมิหลัง เทสโก้ โลตัสในไทย เคยเป็นแอสเสทของกลุ่มซีพีมาก่อน โดยในปี 2537 บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ภายใต้การบริหารของกลุ่มซีพี ได้ริเริ่มธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบไฮเปอร์มาร์ท ตั้งชื่อว่า “โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์” ตั้งอยู่ที่ซีคอนสแควร์ ถนนศรีนครินทร์

ทำได้ไม่กี่ปี ก็เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ในที่สุดกลุ่มซีพี ก็ต้องตัดใจขายโลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ให้กับ “เทสโก้” กลุ่มค้าปลีกชั้นนำของอังกฤษ ในปี 2541 ด้วยมูลค่าประมาณ 365 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 12,000 ล้านบาท และได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “เทสโก โลตัส” ในปัจจุบัน

ภายใต้การบริหารของกลุ่มเทสโก้ ทำให้เทสโก้ โลตัส เติบใหญ่ จนก้าวสู่ผู้นำตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตของไทย ครองมาร์เก็ตแชร์ 70.4% ตามด้วยบิ๊กซี 28.3% และท็อปส์ 1.3%

ปัจจุบันเทสโก้ โลตัส ให้บริการลูกค้ากว่า 15 ล้านคนต่อสัปดาห์ ผ่านทั้งช่องทางที่เป็นออฟไลน์ (สาขา) และออนไลน์ โดยมีสาขาประมาณ 2,000 แห่งทั่วประเทศ ภายใต้ 5 รูปแบบร้านค้า ได้แก่ 1) เอ็กซ์ตร้า 2) ไฮเปอร์มาร์เก็ต 3) ดีพาร์ตเมนต์สโตร์ 4) ตลาด และ 5) โลตัส เอ็กซ์เพรส

แม้เทสโก้ โลตัสจะประสบความสำเร็จอย่างมากในประเทศไทย แต่อีกหลาย ๆ ประเทศกลับล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ตุรกี ญี่ปุ่น จีน จนต้องประกาศขายกิจการทิ้งไป และล่าสุดก็เป็นคิวของ เทสโก้ โลตัส ในประเทศไทยและมาเลเซีย ซึ่งซีพีก็กลับมาซื้อ เทสโก้ โลตัส อีกครั้ง…

เจ้าสัวธนิท์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ความจริงเทสโก้ โลตัสเป็นลูกของผม ตอนวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ผมขายไป ฝากให้คนอื่นเลี้ยง ในครั้งนี้เจ้าของที่เคยเลี้ยงลูกผมจะขายลูกกลับคืนมา ผมก็ต้องซื้อ”

แต่เมื่อลูกคนนี้โตขึ้น ดูได้จากผลประกอบการของ บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจเทสโก้ โลตัส ในประเทศไทย ที่ถือว่าอยู่ระดับสูง…โดยปี 2560 มีรายได้รวม 218,163 ล้านบาท กำไรสุทธิ 9,117 ล้านบาท ปี 2561 มีรายได้รวม 198,558 ล้านบาท กำไรสุทธิ 9,628 ล้านบาท และปี 2562 มีรายได้รวม 188,628 ล้านบาท กำไรสุทธิ 7,819 ล้านบาท

ซีพีจึงต้องแลกมาด้วยเงินมหาศาล เพื่อให้ได้ลูกคนเดิมกลับมาสู่อ้อมอก..!!

โดยเจ้าสัวธนินท์ ตั้งใจให้เทสโก้ โลตัสเป็นที่กระจายสินค้าของสดของกลุ่มซีพี…

เบื้องต้นนักวิเคราะห์คาดว่า จะเห็นการ Synergy ธุรกิจระหว่างบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF กับเทสโก้ โลตัส เกิดขึ้นก่อน โดยจะช่วยให้ CPF มีช่องทางกระจายสินค้าได้มากขึ้น ส่วนการ Synergy ธุรกิจกับบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL จะเกิดขึ้นในระยะถัดไป…

การซื้อเทสโก้ โลตัส ของซีพีครั้งนี้ จึงไม่ต่างอะไรกับตำนานรักเก่าที่บ้านเกิด…ที่ถูกใจเจ้าสัวธนินท แต่อาจไม่ถูกใจนักลงทุน เพราะกังวลว่า CPF และ CPALL จะมีภาระต้นทุนทางการเงินที่สูงเกินไป…

…อิ อิ อิ…

Back to top button