พาราสาวะถีอรชุน
ยังดีที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตระหนักรู้ว่าบทบาทของตัวเองเวลานี้คือ กรรมการที่จะต้องทำหน้าที่อย่างเป็นธรรม หลังจากตอบคำถามนักข่าวประเด็นความเคลื่อนไหวของมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย โดยที่บิ๊กตู่ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการช่วยรัฐบาล แต่ก็เอ่ยปากขอบคุณ สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ประกาศสนับสนุนรัฐบาล
ยังดีที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตระหนักรู้ว่าบทบาทของตัวเองเวลานี้คือ กรรมการที่จะต้องทำหน้าที่อย่างเป็นธรรม หลังจากตอบคำถามนักข่าวประเด็นความเคลื่อนไหวของมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย โดยที่บิ๊กตู่ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการช่วยรัฐบาล แต่ก็เอ่ยปากขอบคุณ สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ประกาศสนับสนุนรัฐบาล
ไม่เพียงเท่านั้น นายกฯและหัวหน้าคสช. ยังขอร้องเทพเทือกอย่าให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีก ก่อนที่จะออกปากเตือนกลุ่มต่างๆ ถ้าจะออกมาเคลื่อนไหวขอให้ปฏิบัติตามกติกาทางกฎหมาย ให้ทุกฝ่ายช่วยกันทำให้บ้านเมืองมีความสงบ และช่วยกันไตร่ตรองศึกษารัฐธรรมนูญให้เกิดเป็นความเห็นชอบร่วมกัน เพื่อให้รัฐบาลมีเวลาแก้ปัญหาที่มีให้เสร็จสิ้น
ทั้งหมดฟังดูดี แต่ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจว่าได้วางตัวเป็นกลางเป็นธรรมตามที่ป่าวประกาศไว้หรือไม่ ประเด็นที่หลายฝ่ายติดตามคือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะถูกล้มในชั้นของสปช.หรือลากยาวไปในขั้นของการลงประชามติ พอฟังความเห็นของท่านผู้นำแล้ว มันทะแม่งยังไงชอบกล ปากบอกว่าไม่ได้สั่งให้สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ
แต่ก็รีบออกตัวไว้ก่อนเลยว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบจริง ก็ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ก่อนที่จะบอกว่าการอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปก็เพราะความจำเป็น เอ๊ะ!มันยังไงกันแน่ หรือว่านี่คือความไม่เนียนของผู้ที่มีวาระซ่อนเร้นอยู่ตลอดเวลา
สมแล้วที่เป็นลูกเลี้ยงของเทพเทือกและสังกัดพรรคเก่าแก่ เพราะหลายคนฟัง เอกณัฏ พร้อมพันธุ์ เลขานุการมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯแล้วคงเคลิ้ม ทั้งถ้อยแถลงที่บอกว่าไม่ได้เป็นศัตรูกับพรรคเพื่อไทยและพร้อมที่จะจับมือกับนปช. แต่พอฟังข้อแม้แล้วว่าเพื่อการปฏิรูปประเทศ มันคงไม่มีวันนั้น เนื่องจากประเด็นหลังนี้เป็นสิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามยังมองต่างกันอย่างสุดขั้ว
ขณะเดียวกันก็เกิดคำถามตามมาว่า นี่ขนาดไม่ได้เป็นศัตรูกันแต่ทำไมการแสดงออกทั้งทุ่มเก้าอี้ ปาแฟ้มเอกสารใส่ประธานสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคนายใหญ่ จนไหลลามไปถึงการเล่นการเมืองข้างถนนเพื่อโค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิ่งเหล่านี้บ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่าคำพูดนั้นมันสวนทางกับการกระทำ สิ่งสำคัญคือ ขบวนการที่ก่อรูปขึ้นเจตนามันชัดเจนตั้งแต่ต้นว่าล้มระบอบทักษิณ
ดังนั้นคำประกาศจับมือกับเพื่อไทยและนปช.จึงเป็นแค่วาทกรรม แสวงหาแนวร่วมหรือเรียกร้องความเห็นใจจากฝ่ายที่เป็นกลาง โดยสร้างภาพให้เห็นว่ามูลนิธิที่ก่อกำเนิดขึ้น มีเป้าประสงค์เพื่อสร้างความสามัคคี ปรองดองกับทุกฝ่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ยิ่งย้อนกลับไปถึงเรื่องกระบวนการยุติธรรม ทำให้บิ๊กตู่ต้องทบทวนว่า ทุกอย่างเป็นกลางและเป็นธรรมอย่างที่ปากพร่ำบอกทุกเมื่อเชื่อวันหรือไม่
ฟาก จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช.ซัดการเมืองในปัจจุบันเหมือนการพนันที่สร้างกลโกงไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีทางเลือก มิหนำซ้ำ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยังเขียนกฎหมายสูงสุดเหมือนเจตนาให้ถูกคว่ำไม่ว่าจะในชั้นของสปช.หรือการลงประชามติ โดยมีเป้าหมายแอบแฝงคือให้รัฐบาลคสช.สามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปอีกไม่น้อยกว่า 2 ปี
แต่ตุ๊ดตู่ก็ฝากความห่วงใยไปถึงบิ๊กตู่ว่า การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดให้ตัวเองอยู่ในตำแหน่งต่อไปไม่มีใครว่า แต่ปุจฉาคือรัฐบาลจะอยู่กันเป็นสุขหรือไม่ เพราะในปัจจุบันการบริหารงานก็ใช่ว่าจะราบรื่น เจอปัญหาหลายเรื่องโดยเฉพาะปมด้านเศรษฐกิจ นับวันพี่น้องประชาชนอยู่อย่างหมดหวังไปเรื่อยๆ ถ้าทนกันได้สุดๆ ก็ถือเป็นความโชคดีของท่านผู้มีอำนาจไป
น่าสนใจในประเด็นนี้ หากบิ๊กตู่จะแต่งองค์ทรงเครื่องเพื่อบริหารประเทศแบบลากยาว คงต้องปรับโฉมครม.กันใหม่โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจ แน่นอนว่าถ้าเป็นเช่นนั้น สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ย่อมอยู่ในเส้นทางที่จะก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าทีมแทน หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล ซึ่งนั่นคงสอดรับกับข่าวที่บอกไปก่อนหน้าว่า เวลานี้ทีมงานของสมคิดทำการบ้านกันน่าดู
ปัญหาด้านเศรษฐกิจอย่างที่รับรู้กันมีหลากหลายมิติ แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ บุญวรา สุมะโน นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าคิดคือ หรือประเทศไทยเราจะไม่ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติอีกต่อไป โดยยกเอาข่าวเกี่ยวกับการค้าการลงทุนระหว่างประเทศอย่างน้อย 2 เรื่องมานำเสนอคือ เรื่องแรกประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกาได้รับความเห็นชอบจากสภาคองเกรสในการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก หรือ TPP กับประเทศคู่ค้า 11 ประเทศ
โดยมีประเทศอาเซียนอย่างเวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซียและบรูไนรวมอยู่ด้วย คาดว่าผลของการเจรจาจะครอบคลุมประมาณ 40% ของมูลค่าการค้าโลก อีกเรื่องคือการมาเยือนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ มีวัตถุประสงค์ในการหาช่องทางการค้าการลงทุนในอาเซียน โดยนำนักธุรกิจกลุ่มทุนและนวัตกรรมใหญ่อย่าง Airbus, Rolls-Royce, JCB และ Lloyds มาด้วย
นายกฯคาเมรอนมีกำหนดการเยือน 4 ประเทศคือ อินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์และมาเลเซีย คาดว่าจะมีการเจรจาข้อตกลงการค้ามูลค่ากว่า 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นข่าวดีสำหรับอาเซียน แต่อาจเป็นข่าวร้ายสำหรับประเทศไทยที่ตกขบวนโอกาสทางการค้าและการลงทุนมูลค่ามหาศาล ท่ามกลางข่าวร้ายทางเศรษฐกิจมากมาย ทั้งการย้ายฐานการผลิตของซัมซุง การปิดตัวลงของกิจการจำนวนมาก
ความผันผวนของตลาดหุ้นและฟองสบู่ที่กำลังก่อตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ การถูกมหาอำนาจในเวทีโลกอย่างสหรัฐฯและอังกฤษเมินอย่างจังจึงเป็นเหมือนสัญญาณว่า วิกฤตินี้จะแก้ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติได้ยาก เพราะประเทศไทยอาจไม่น่าดึงดูดในสายตาประเทศคู่ค้าอีกต่อไป
แน่นอนว่าในฐานะนักวิชาการ บุญวราย่อมมีเหตุผลประกอบหลายประการ แต่ไม่ขอยกมากล่าวในที่นี้ เพียงแต่อยากจะชี้ให้เห็นว่า ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจนั้นไม่น่าจะใช่แค่เรื่องผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของหลายประเทศที่กำลังมีปัญหา หากแต่ผู้มีอำนาจต้องมองย้อนไปถึงความเชื่อมั่นที่ต่างชาติมีต่อประเทศไทยด้วย จะยอมรับความจริงเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้เกิดการยอมรับหรือจะหลอกตัวเองและคนในชาติว่ายังมีต่างชาติที่คบค้าสมาคมอยู่ (แค่บางประเทศ) ก็สุดแท้แต่