พาราสาวะถี

การออกสารของนายกรัฐมนตรีเรียกร้องความสามัคคี แสดงความเชื่อมั่นต่อมาตรการและการดำเนินการของรัฐบาลทั้งในประเด็นการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัญหาภัยแล้งและอื่น ๆ สะท้อนถึงสถานการณ์ทางการเมืองว่าด้วยเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี นี่คือวิกฤติบนวิกฤติ โดยเป็นวิกฤติของรัฐบาลสืบทอดอำนาจ บนวิกฤติการระบาดของไวรัสร้าย ยิ่งนานวันแทนที่ความตื่นตระหนกของประชาชนจะลดลงกลับมีแรงกระเพื่อมมากขึ้น


อรชุน

การออกสารของนายกรัฐมนตรีเรียกร้องความสามัคคี แสดงความเชื่อมั่นต่อมาตรการและการดำเนินการของรัฐบาลทั้งในประเด็นการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัญหาภัยแล้งและอื่น ๆ สะท้อนถึงสถานการณ์ทางการเมืองว่าด้วยเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี นี่คือวิกฤติบนวิกฤติ โดยเป็นวิกฤติของรัฐบาลสืบทอดอำนาจ บนวิกฤติการระบาดของไวรัสร้าย ยิ่งนานวันแทนที่ความตื่นตระหนกของประชาชนจะลดลงกลับมีแรงกระเพื่อมมากขึ้น

จะเห็นได้ว่าตัวเลขของผู้ติดเชื้อจากเดิมคงที่ไม่ขยับแต่ไม่กี่วันที่ผ่านมา พบทุกวัน ล่าสุด วันวานพบทีเดียว 32 ราย นั่นย่อมนำมาซึ่งคำถามว่า ที่หวาดหวั่นกันว่าการระบาดจะเข้าสู่ระยะที่ 3 นั้น ทำท่าว่าจะใกล้ความจริงเข้ามาเรื่อย ๆ ใช่ไหม คำถามที่ตามมาคือ มาตรการที่รัฐบาลได้ดำเนินการภายใต้การปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น เพียงพอได้ผลแล้วหรือไม่ ขณะที่การเฝ้าระวังป้องกันตัวเองของประชาชนส่วนใหญ่ ปมหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ ก็สะท้อนภาพความเป็นมืออาชีพของฝ่ายบริหารได้เป็นอย่างดี

ไม่เพียงเท่านั้น การที่สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดย นายแพทย์นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมฯ ได้ออกแถลงการณ์มา ยิ่งทำให้คนตั้งข้อสังเกตต่อการบริหารจัดการของรัฐบาลหนักข้อเข้าไปอีก “พวกเราจะไม่ยอมก้มหัวให้กับผู้รับผิดชอบระดับสูง ที่ขาดความเชี่ยวชาญและเข้าใจในการทำงานของพวกเราอย่างถ่องแท้ ได้เวลาที่พวกเราต้องเตรียมทำศึกแม้ไม่มีอาวุธที่มีประสิทธิภาพและแม่ทัพที่เด็ดขาดเข้มแข็ง” นี่คือเสียงสะท้อนของประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของฝ่ายบริหาร

โดยแถลงการณ์ดังกล่าวนั้น เป็นการส่งสัญญาณเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระยะที่ 3 ในการระบาดของโควิด-19 ขณะที่สารของท่านผู้นำ กลับเรียกร้องขอให้ประชาชนทุกคนให้ความร่วมมือในการทำงานของรัฐบาลและส่วนราชการ เรื่องการระบาดของโรคโควิด-19 อย่าได้ตื่นตระหนก มีสติ ระมัดระวัง รับผิดชอบรักษาสุขภาพตนเอง ผู้อื่น และสังคม รัฐบาลขอให้ความเชื่อมั่นว่าทุกคนจะฝ่าฟันวิกฤติต่าง ๆไปได้ด้วยดี และขอขอบคุณในความร่วมมือ

วันนี้ หากจะให้ประชาชนเชื่อถือ ลำพังแค่วาทกรรมที่จะผลิตซ้ำทางความคิด ทำปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารหรือไอโอ เพียงอย่างเดียวไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ผลโพลที่สะท้อนต่อสถานการณ์โควิด-19 ภายใต้การบริหารจัดการของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐบาลสืบทอดอำนาจนั้น คนส่วนใหญ่ยังเกิดคำถามต่อหน้ากากอนามัยที่ขาดแคลน นั่นเท่ากับ ที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอธิบายกันมาโดยตลอดคนไม่เชื่อถือแม้แต่น้อย

ขณะเดียวกัน ก็มีข้อเรียกร้องว่าให้รัฐบาลพูดแต่ความจริงเท่านั้นต่อสถานการณ์ของโควิด-19 เหล่านี้คือวิกฤติความเชื่อถือ ยิ่งมีประเด็นคนติดตามรัฐมนตรีไปเอี่ยวกับการกักตุนหน้ากากอนามัยยิ่งไปกันใหญ่ แม้ว่ารัฐมนตรีที่ถูกพาดพิงจะออกมายืนยันแล้วว่า ผลตรวจสอบไม่พบคนติดตามเกี่ยวข้อง แต่ก็บอกว่าเป็นการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งคนระดับติดตามรัฐมนตรีจะบ้องตื้นไม่รู้ไม่ชี้กับผลประโยชน์ด้านมืดอันกระทบต่อความเป็นความตายของประชาชนได้อย่างไร

สรุปง่าย ๆ คือ ไม่ว่าจะอธิบายกันอย่างไร งัดหลักฐานอะไรมากล่าวอ้าง คนก็ยากที่จะเชื่อถือ สิ่งเดียวที่จะพิสูจน์ได้คือ ท่านผู้นำและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตและจัดสรรหน้ากากอนามัยทั้งหมด ต้องนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างละเอียดว่า การผลิตที่เป็นอยู่ในเวลานี้เต็มกำลังการผลิตทุกโรงงานที่มีแล้วใช่หรือไม่ ถ้าไม่ก็มีคำถามต่อว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ในภาวะที่มีความต้องการสูง ซึ่งมันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ว่า พ่อค้าจะมองไม่เห็นผลกำไรที่รออยู่เบื้องหน้า

ไม่ว่าจะผลิตมาเท่าไหร่แล้วถูกแจกจ่ายอย่างไร สิ่งที่คนอยากรู้คือ ตัวเลขที่ประกาศกันออกมานั้น มีจำนวนเท่านั้นจริงหรือไม่ แล้วกระจายกันอย่างไร ความจำเป็นที่บอกว่าต้องจัดสรรให้กับบุคลากรด้านการแพทย์นั้น ไม่มีใครมีเครื่องหมายคำถาม เพราะประชาชนสามารถรอได้ แต่ที่เป็นห่วงกันคือมีการลักลอบนำไปขายในรูปแบบอื่น แม้กระทั่งเรื่องของการลักลอบส่งออก การเด้ง วิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายในแบบฟ้าผ่า น่าจะเป็นคำอธิบายได้เป็นอย่างดี ฝ่ายกุมอำนาจต้องแสดงความโปร่งใสเป็นพิเศษ

สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมาก กรณีมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาที่เห็นว่าผู้เสียหายจากการกระทำความผิดของคณะกรรมการป.ป.ช. มีอำนาจฟ้องคณะกรรมการป.ป.ช.ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 (2) โดยยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้น เพราะนี่ถือเป็นครั้งแรกจากที่ก่อนหน้านั้นรัฐธรรมนูญมีการออกแบบให้การฟ้องกรรมการป.ป.ช.ต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองโดยวุฒิสภา ซึ่งมีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 จนกระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ชัดเจนว่า เมื่อนำที่มาของรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ และที่มาของส.ว.มาเปรียบเทียบกัน ฝ่ายป.ป.ช.คงจะมาอ้างแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว ที่บอกว่า การที่ให้การฟ้องป.ป.ช.ต้องผ่านส.ว.นั้น เพื่อทำให้ยากขึ้น เพราะกรรมการป.ป.ช.เป็นผู้วินิจฉัยคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นักการเมือง ข้าราชการระดับสูง หรือผู้มีอิทธิพลต่าง ๆ ดังนั้น การปล่อยให้ฟ้องคณะกรรมการป.ป.ช.ง่าย ๆ อาจทำให้คณะกรรมการป.ป.ช.ไม่ต้องทำอะไร เป็นจำเลยกันหมด

หากที่มาของส.ว.ตามรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจมาจากการเลือกของประชาชนคนส่วนใหญ่คงสนับสนุนวิธีการเช่นนั้น แต่พอที่มายังเป็นเครื่องหมายคำถาม และกระบวนการของส.ว.ชุดปัจจุบันก็ทำให้เกิดข้อกังขาอย่างมากจากสังคม การเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายสามารถฟ้องป.ป.ช.ได้โดยตรงนั้น ถือว่าชอบธรรมแล้ว เพราะหากผู้ปฏิบัติหน้าที่ทำงานอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีวาระซ่อนเร้นใด ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องกลัวการตรวจสอบ ยิ่งผ่านกระบวนการของศาลยุติธรรมด้วยแล้ว ยิ่งเป็นเรื่องที่ดีไปใหญ่

เพราะทุกเรื่องที่ผู้เสียหายกังขาต่อกระบวนการอำนวยความยุติธรรมของป.ป.ช. โดยสังคมก็ร่วมแสดงความเคลือบแคลงด้วย จะได้ไปพิสูจน์กันตามกระบวนการยุติธรรม ยิ่งจะเป็นการทำให้องค์กรและกรรมการป.ป.ช.ได้รับความเชื่อถือ ศรัทธาจากประชาชนมากขึ้นไปอีก หากทุกเรื่องผ่านการพิสูจน์ว่ามีการทำงานกันอย่างไม่เลือกปฏิบัติและเป็นธรรม และไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีคนอยากเป็นป.ป.ช. เพราะถ้าองค์กรถูกการันตีจากองค์กรศาลและประชาชนศรัทธาแล้ว มีแต่คนที่มีใจรักความยุติธรรมและเป็นกลางอย่างแท้จริงจะแห่แหนมาสมัคร

Back to top button