อัตราดอกเบี้ย ยามหุ้นขาลงพลวัต2015

นักวิเคราะห์หุ้นในตลาดหุ้นไทยบางสำนัก ประเมินว่า หาก กนง.ไม่ยอมลดอัตราดอกเบี้ย (หลังจากปีนี้ลดมาแล้ว 2 ครั้ง) จะทำให้นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อหุ้นระลอกใหม่


นักวิเคราะห์หุ้นในตลาดหุ้นไทยบางสำนัก ประเมินว่า หาก กนง.ไม่ยอมลดอัตราดอกเบี้ย (หลังจากปีนี้ลดมาแล้ว 2 ครั้ง) จะทำให้นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อหุ้นระลอกใหม่

การวิเคราะห์ดังกล่าว ไม่รู้ว่าใช้ทฤษฎีอะไรมาอธิบาย เพราะในยามที่เศรษฐกิจเป็นขาลง การปรับลดอัตราดอกเบี้ยคือ มาตรการหนึ่งในการกระตุ้นความเชื่อมั่นของตลาดได้ดีวิธีหนึ่ง แต่นั่นยังไม่เพียงพอ เพราะนโยบายปรับอัตราดอกเบี้ยนั้น เป็นนโยบายการเงิน ที่ต้องใช้ควบคู่กับนโยบายการคลัง

ในเมื่อรัฐมนตรีคลังยามนี้ ไม่ยอมทำงานในเชิงรุก แต่ชอบทำงานประจำมากกว่า อาทิ ตอนแรกบอกว่าจะมี 6 ยุทธศาสตร์กระตุ้นเศรษฐกิจเสนอต่อครม. แต่ถึงเวลาจริง กลับกลายเป็นว่า เป็นเพียงการอธิบายว่า งานที่รัฐมนตรีคลังสมหมาย ภาษี กำกับดูแลอยู่นั้น มี 6 ด้านที่เป็นงานประจำ  ไม่ใช่ยุทธศาสตร์อะไร

แสดงว่า ต่อให้ กนง. ปรับลดหรือคงอัตราดอกเบี้ยกี่ครั้ง หรือมากเท่าใด ก็ไม่มีผลลัพธ์เชิงบวกในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดได้เพราะนโยบายการคลังไร้ประสิทธิผล

กรณีศึกษาล่าสุด วานนี้จากตลาดหุ้นมัมไบ หรือบอมเบย์เก่า  ที่ราคาหุ้นร่วงแรง 115.13 จุดเมื่อท้ายตลาด เพราะแรงเทขายของนักลงทุนขาใหญ่ในหุ้นกลุ่มที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย ซึ่งได้แก่ กลุ่มธนาคาร อังหาริมทรัพย์ และรถยนต์ หลังธนาคารกลางอินเดียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 7.25% ในการประชุมวานนี้  โดยไม่สนใจแรงกดดันจากทางกระทรวงการคลังที่ต้องการให้ธนาคารปรับลดต้นทุนการกู้ยืมลง

แถลงการณ์ของนายรากูราม ราชัน ผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดีย ระบุตามสูตรของนายธนาคารกลางทั้งหลายว่า การคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม เป็นการดำเนินงานที่รอบคอบและสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และจะติดตามสถานการณ์ต่อไป เพื่อดูว่าจะมีโอกาสผ่อนคลายนโยบายหรือไม่ รวมทั้งรอดูผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมก่อนหน้านี้

ท่าทีของผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดีย ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเดินตามรอยของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ปรมาจารย์ด้านทฤษฎีเคนส์อันเลื่องชื่อที่ระบุว่า เมื่อเศรษฐกิจเป็นขาลงไปถึงระดับหนึ่ง การลดอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยอะไร เพราะเศรษฐกิจย่างเข้าสู่ภาวะ  “กับดักสภาพคล่อง”  ไปเสียแล้ว นั้นคือภาวะที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกกันว่า  “หมูไม่กลัวน้ำร้อน”  เพราะตายไปแล้วนั่นเอง

ปัญหากับดักสภาพคล่อง (liquidity trap) คือ ภาวะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจเหือดหายไปเพราะ การลงทุนต่ำกว่าการออม ทำให้อัตราดอกเบี้ยตกต่ำเสียจนคนมองไม่เห็นประโยชน์ของการออม และการลงทุน ทำให้เงินทุนท่วมตลาดภาวะเงินล้นตลาด เพราะว่า ผู้ประกอบการเอกชน ไม่เห็นผลตอบแทนการลงทุนเนื่องจากกำลังซื้อประชาชนต่ำมาก ผลลัพธ์คือ เงินท่วมตลาด (ปัจจุบันแบงก์ชาติไทยประเมินว่ามีเงินท่วมตลาดอยู่ประมาณ 9 แสนล้านบาท)

 ตัวเลขเงิน (ที่จริงคือทุน) ที่ท่วมตลาดนี้เมื่อขยายตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ จะเข้าสู่ ภาวะกับดักสภาพคล่อง จะเกิดปัญหาที่ยากในการแก้ไขยิ่งกว่า  “ลิงแก้แห” เพราะว่า การบริโภคของครัวเรือนและภาคเอกชนหดตัว การลงทุนภาคเอกชนใหม่ๆ ไม่เกิดขึ้น การส่งออกหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน เหลือการท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐบาล ที่จะพยุงตัวให้ภาวะเศรษฐกิจไม่ทรุดตัวหนัก แต่ก็ยังไม่เพียงพอ หากว่ารัฐบาลใช้เงินไม่เป็น

ข้อเสนอคลาสสิกของ เคนส์ ระบุว่าทางออกจากกับดักสภาพคล่องหลัก อยู่ที่การให้รัฐบาลเข้ามามีส่วนในการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเรียกว่า นโยบายการคลังโดยทั่วไปแล้ว มีวิธีการที่เป็นทางเลือก 2 ทางคือ 1)  มาตรการช่วยเหลือภาคเอกชนขนาดใหญ่หรือกลุ่มทุน (ลดภาษี หรืออุดหนุนสินค้า หรือ สิทธิพิเศษอื่น) ในลักษณะ อุ้มคนรวย ช่วยคนจน (Trickle-Down Effect) ซึ่งทำให้เกิดการกระจุกตัวของทุนในมือคนกลุ่มน้อยและเกิดความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่งมากขึ้น  2)  ประชานิยม อัดฉีดงบประมาณโดยตรงเพื่อสร้างงานสาธารณะ รวมทั้ง (เอาเงินไปแจกกรรมกรใช้ เอาไปขุดคลอง สร้างถนนหรือสร้างทางรถไฟ หรืองานสาธารณูปโภค) ซึ่งผลลัพธ์คือ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสูงขึ้น กำลังซื้อในหมู่ประชาชนเพิ่มจากรายได้เพิ่มขึ้น ตามมาด้วยอุปสงค์สำหรับสินค้าและบริการก็เพิ่มขึ้น ก็ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจ สามารถใช้ประโยชน์จากกำลังการผลิตที่มีอยู่แต่ไม่เต็มกำลังการผลิตให้เต็มที่ได้  

ผลข้างเคียงที่จะต้องเกิดขึ้นเสมอในนโยบายการคลังคือ หนี้สาธารณะของรัฐจะเพิ่มขึ้นเพราะตัวเลขขาดดุลงบประมาณ และทำให้เป็นภาระการคลังตามมาในภายหลัง ซึ่งอาจจะบานปลายเป็นวิกฤตได้ ดังเช่นกรณีของกรีซ อาร์เจนตินา  เวเนซุเอลา หรือญี่ปุ่น

ทางเลือกออกจากกับดักสภาพคล่องทั้ง 2 ทาง ทำให้เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลที่ไม่ชอบประชานิยมก็ทำได้ รัฐบาลที่ชอบประชานิยมก็ทำได้เช่นกัน อยู่ที่ความชาญฉลาดและเข้าถึงสาระของแต่ละทางเลือก รัฐบาลที่อ้างว่าไม่ชอบประชานิยม แต่อวดโง่โดยก็ไม่ยอมใช้แนวทาง อุ้มคนรวย ช่วยคนจน ก็เป็นรัฐบาลที่ทำงานไม่เอาไหน

รัฐบาลที่ไม่เอาไหน  ต่อให้ กนง.จะลดหรือคงดอกเบี้ยนโยบาย ก็ไม่ได้มีความหมายอะไรเลย และไม่สามารถพาประเทศออกจากทางตันได้ รวมทั้งไม่ได้ทำให้ตลาดหุ้นบวกหรือลบด้วยตัวมันเองแม้แต่น้อย

2 ปีที่ผ่านมา ฟันด์โฟลว์ของตลาดหุ้นไทยติดลบ เพราะทุนเก็งกำไรต่างชาติขายสุทธิ (ซื้อน้อยกว่าขาย) ทุกปี 2.7 แสนล้านบาท และ 7 เดือนแรกของปีนี้ก็ยังติดลบไปอีก 4 หมื่นล้านบาทเศษ การลดหรือไม่ลดดอกเบี้ยของ กนง. ก็ไร้ความหมายในการกระตุ้นตลาดทุกประการ เพราะนโยบายการคลังไม่ทำงาน

อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ที่ต่ำติดพื้น 1.50% แม้จะยังคงสูงกว่าเงินเฟ้อทั่วไปที่ล่าสุดอยู่แค่ 1.18 % อาจจะทำให้สมอ้างกันได้บ้างว่า อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงตอนนี้ยังไม่ติดลบ ยังไม่เข้าข่ายกับดักสภาพคล่องเต็มตัว แต่ไม่ได้ช่วยให้ตลาดหุ้นมีชีวิตชีวาขึ้นมาได้แม้แต่น้อย    

นี่คือข้อเท็จจริงอันเจ็บปวดของประเทศไทย และของนักลงทุนตลาดหุ้นไทยยามนี้ แรงขายออกของต่างชิตต่อเนื่องจนถึงวานนี้  (อาจจะหยุดพักบางวันระหว่างเส้นทาง) จึงเป็นภาพสะท้อนชัดเจนของฟันด์ไฟลว์ติดลบ เสมือนเลือดที่ไหลไม่หยุด

อย่าได้แปลกใจ หากดัชนีตลาดหุ้นไทย จะร่วงไปทดสอบแนวรับ 1,400 จุดในสัปดาห์นี้ 

Back to top button