‘ทิป’ รับมือโควิด-19
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบหลายด้าน และในขณะนี้ทุกคนพยายามดิ้นรนเพื่อลดผลกระทบให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีผลสำรวจผู้นำทางธุรกิจและผู้นำทางการแพทย์ ที่น่าจะช่วยแนะวิธีรับมือกับวิกฤตในครั้งนี้ได้ไม่มากก็น้อย
พลวัตปี 2020 : ฐปนี แก้วแดง(แทน)
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบหลายด้าน และในขณะนี้ทุกคนพยายามดิ้นรนเพื่อลดผลกระทบให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีผลสำรวจผู้นำทางธุรกิจและผู้นำทางการแพทย์ ที่น่าจะช่วยแนะวิธีรับมือกับวิกฤตในครั้งนี้ได้ไม่มากก็น้อย
จากผลสำรวจใหม่เกี่ยวกับผลกระทบทางธุรกิจของโควิด-19 ผู้นำธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงมั่นใจว่าบริษัทของพวกเขาจะกลับมายืนได้อย่างแข็งแกร่งภายในปีนี้แม้ว่ารายได้ของบริษัทต่าง ๆ มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบในระยะสั้น
ผลสำรวจของ The Young Presidents’ Organization’s (YPO) ที่ได้มีการเปิดเผยเมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่า ผู้นำธุรกิจ 82% คาดการณ์ว่ารายได้จะลดลงในช่วง 6 เดือนข้างหน้า แต่มากกว่า 54% คาดว่ารายได้จะกลับมาเป็นปกติภายในหนึ่งปีและ 61% คาดว่าการลงทุนคงที่ทั้งหมดยังไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบปีต่อปี
ผลสำรวจนี้ได้สอบถามความเห็นจากซีอีโอ 2,750 คนใน 110 ประเทศ ในช่วงวันที่ 10-13 มีนาคม ก่อนที่ทั่วโลกจะงัดมาตรการใหม่ ๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด แต่หลังจากนั้นมา หลายรัฐในสหรัฐฯ และรัฐบาลทั่วโลกได้ออกมาตรการปิดบาร์ ภัตตาคาร และธุรกิจที่ไม่จำเป็นอื่น ๆ
ในช่วงที่ทำแบบสอบถาม ซีอีโอในเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศจีน ซึ่งเชื่อว่าเป็นต้นตอของไวรัส กำลังเผชิญกับผลกระทบหนักสุด โดย 84% บอกว่ากำลังรู้สึกถึงผลกระทบ ส่วนในเอเชียใต้มี 78% ที่บอกว่ากำลังได้รับผลกระทบ ขณะที่ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือมี 74% และในยุโรปมี 70% ส่วนธุรกิจในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (52%) สหรัฐฯ(50%) และ แคนาดา (45%) รู้สึกถึงผลกระทบน้อยกว่า
เนื่องจากผลกระทบน่าจะเปลี่ยนไปอีกเมื่อการระบาดมีความรุนแรงมากขึ้น เหล่าซีอีโอจึงมีความเชื่อมั่นต่อธุรกิจอย่างระมัดระวังและมองว่า ไม่อาจหลีกเลี่ยงการลดตำแหน่งงานทั่วโลกได้
อุตสาหกรรมที่มองว่าจะได้รับผลกระทบหนักสุดจากวิกฤตในครั้งนี้คือ อุตสาหกรรมโรงแรมและเดินทาง (89%) การศึกษา (87%) และอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิง (80%) ในขณะที่บริษัทการผลิตในภาคเกษตร โรงงาน เหมืองแร่และสาธารณูปโภค รายงานว่า มีรายได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ผู้นำธุรกิจถึง 95% กล่าวว่า กำลังดำเนินมาตรการใหม่เพื่อควบคุมผลกระทบของไวรัส เช่น ติดต่อสื่อสารกับพนักงานอย่างสม่ำเสมอมากขึ้น จัดทำแนวทางในการปฏิบัติด้านความปลอดภัยและสุขภาพใหม่ ยกเลิกงานใหญ่ ๆ และหยุดเดินทาง
ท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้น ซีอีโอบางคนมองว่า นี่อาจเป็นโอกาสให้พวกเขาได้พัฒนาและหาทางใหม่ ๆ ในการทำธุรกิจ และมีคำแนะนำจากซีอีโอในการรับมือกับวิกฤตในครั้งนี้เช่น ให้โฟกัสไปที่ข้อเท็จจริง สื่อสารเป็นประจำกับพนักงานและผู้ที่มีผลประโยชน์ร่วม สร้างเสถียรภาพให้ซัพพลายเชน และวางแผนระยะสั้นและระยะยาว
นอกจากจะต้องรับมือกับผลกระทบทางธุรกิจแล้ว ในภาวะที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มากเกี่ยวกับโควิด-19 และเราต้องรับฟังข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยความหวาดหวั่นอยู่ตลอดเวลา จึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะเป็น “โรคประสาท” เหมือนที่มีสติกเกอร์ล้อกันในโซเชียลมีเดีย
การกักตัว (quarantine) และการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ได้กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปทั่วโลกเมื่อรัฐบาลต่าง ๆ ได้พยายามต่อสู้กับการระบาดของไวรัสร่วมกัน แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์บอกว่า มาตรการกระตุ้นหรือบังคับให้คนอยู่กับบ้านเป็นสิ่งจำเป็นในการลดการแพร่ระบาดของไวรัส แต่ผลกระทบทางจิตใจก็ไม่อาจมองข้ามได้
ผลสำรวจจากวารสารการแพทย์ The Lancet ชี้ว่า มีผลกระทบทางจิตวิทยาจากการกักตัวมาก โดยส่งผลให้เกิดความกังวลด้านสุขภาพจิต ซึ่งมีตั้งแต่ ความวิตกกังวล และความโกรธ จนถึง การนอนหลับไม่หลับ เกิดภาวะซึมเศร้าและเป็นโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD)
เคยมีผลการศึกษาจากผู้ป่วยโรคซาร์สที่ถูกกักตัวเมื่อปี 2546 ซึ่งพบว่า 10% ถึง 29% เป็น โรค PTSD
รายงานของ The Lancet ชี้ว่า ความกังวลเรื่องสุขภาพจิตอาจเกิดจากความเครียดที่เกี่ยวข้องกับการกักตัว เช่นความกลัวการติดเชื้อ ความไม่พอใจ ความเบื่อหน่าย การมีเสบียงไม่เพียงพอ การขาดข้อมูล การสูญเสียทางการเงิน และมีมลทินที่เกี่ยวข้องกับการติดโรค
อาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับแต่คนที่มีความกังวลทางสุขภาพจิตอยู่ก่อนแล้วเท่านั้น แต่สามารถเกิดกับคนที่มีสุขภาพดีได้ ซึ่งมีวิธีสังเกตอาการเช่น กลัวและกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของตนเอง เปลี่ยนรูปแบบการนอนหรือการกิน นอนหลับยาก ปัญหาสุขภาพเรื้อรังรุนแรงขึ้น ใช้แอลกอฮอล์ บุหรี่ หรือยาอื่น ๆ มากขึ้น
องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำวิธีป้องกันสุขภาพจิตว่า รัฐบาลต้องสื่อสารมาตรการกักกันอย่างมีประสิทธิภาพโดยเน้นถึงเหตุผลในการเห็นแก่ผู้อื่นขณะเดียวกันก็ลดระยะเวลาและสร้างความมั่นใจว่าจะมีซัพพลายเพียงพอ ในขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ยังเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตั้งกลุ่มย่อยเพื่อช่วยเหลือด้วยพฤติกรรมสุขภาพ โดยย้ำว่าการขยายบริการสุขภาพทางไกลเป็นหนึ่งในทางบรรเทาทุกข์สำหรับผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตได้
นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำว่า นายจ้างก็สามารถช่วยป้องกันสุขภาพจิตของพนักงานได้ โดยฝ่ายบุคคลควรจะสื่อสารให้ชัดเจนและอัปเดตข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับไวรัสและข้อกำหนดต่าง ๆ
สำหรับคนทั่วไปต้องหาทางรักษาสุขภาพจิตของตนเอง เช่น สร้างกิจวัตรเพื่อทำให้เกิดความรู้สึกเป็นปกติและมีประสิทธิภาพ ดูแลร่างกาย ช่วยเหลือผู้อื่น ติดต่อกับผู้อื่นโดยใช้เทคโนโลยี จำกัดการรับสื่อ เตรียมซัพพลายการแพทย์ ต่อสู้กับความเบื่อหน่าย (เช่น ดูซีรีส์ หรืออ่านและสำรวจโครงการที่ได้พักไว้) คิดบวกเข้าไว้ และพยายามอย่าคิดถึงอนาคตไกลเกินไป และโปรดจำไว้ว่า นี่เป็นมาตรการชั่วคราวและคุณไม่ได้อยู่คนเดียว