ผนงฉฉฉ.
ไชโย ในที่สุด ประยุทธ์ก็ชูกำปั้น ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตามที่หลายคนอยากได้ เพราะหวังว่าการใช้อำนาจบังคับ ไม่ให้คนเดินทาง ไม่ให้คนออกจากบ้าน จะช่วยยับยั้งโควิด-19 ได้อยู่หมัด
ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง
ไชโย ในที่สุด ประยุทธ์ก็ชูกำปั้น ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตามที่หลายคนอยากได้ เพราะหวังว่าการใช้อำนาจบังคับ ไม่ให้คนเดินทาง ไม่ให้คนออกจากบ้าน จะช่วยยับยั้งโควิด-19 ได้อยู่หมัด
แต่เดี๋ยวก่อน ท่านพูดอะไรไม่ทราบ ประชาชนฟังไม่รู้เรื่อง ในโลกออนไลน์มีคนพยายามแปล แล้วเพื่อนก็ขำ “น้ำตาจิไหล มีคนฟังรู้เรื่องด้วย”
ยิ่งไปกว่านั้น ยังงุนงงในสาระ จะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างไร ไม่บอกอะไรสักอย่าง นอกจากจะตั้ง ศอฉ. และไม่รู้ทำไมจึงให้มีผลวันที่ 26 มี.ค. ถ้าจะให้ประชาชนเตรียมตัว ทำไมไม่ประกาศมาตรการให้ทราบก่อน
ที่คนต้องการความแจ่มชัด ก็เพราะนี่เป็นครั้งที่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินรับมือโรคระบาด ไม่เหมือนกับครั้งก่อน ๆ ที่ใช้เพื่อความมั่นคง เอาทหารออกมาปราบม็อบ
แต่ครั้งนี้ทำสงครามกับไวรัส ซึ่งแพทย์พยาบาลเป็นนักรบ ไม่ใช่ตำรวจทหารถือเอ็ม 16 ทหารเจอไวรัส ก็ทำอะไรไม่เป็น ทหารเองยังกลัว แค่ไปฉีดน้ำล้างถนน ผบ.ทบ.ยังใส่ชุดป้องกันติดเชื้อ ใส่หน้ากากใส่ท่อยิ่งกว่าหมอในโรงพยาบาล
พ.ร.ก.ฉุกเฉินจึงใช้ได้ ถ้าจะตั้ง ศอฉ.ให้หมอมาบัญชาการสถานการณ์สู้รบ แล้วกำหนดมาตรการตามที่หมอสั่ง เช่น ประกาศ “เคอร์ฟิว” ไม่ให้คนออกจากบ้าน เว้นแต่ไปซื้อยาซื้ออาหาร ให้ทุกคนหยุดงาน ห้ามเดินทาง ห้ามทำกิจกรรมเกิน 2 คน (อย่างอังกฤษ) รวมถึงอำนาจตรวจค้นหาตัวกลุ่มเสี่ยง กลุ่มคนที่ไม่ยอมรายงานตัว
ถ้าจะใช้ตำรวจทหารก็เพื่อกำกับดูแล โดยเน้นให้ความช่วยเหลือ ขอความร่วมมือมากกว่าจับกุมปราบปราม เพราะถ้ารัฐบาลออกมาตรการดูแลพร้อมสรรพ ก็ไม่มีใครอยากเสี่ยงออกจากบ้านหรอก ทหารจะต้องออกมาบริการสาธารณะเสียมากกว่า เช่น ตั้งด่านถือปืนเทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ หรือดูแลส่งอาหารเวชภัณฑ์ให้คนต้องกักตัว
นั่นคืออำนาจที่ใช้ได้ กลัวแต่จะใช้อำนาจที่ไม่ควรใช้ เช่นอำนาจควบคุมสื่อ ปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร หรือเล่นงานคนวิจารณ์ คนเห็นต่างจากมาตรการของรัฐ โดยหาว่าเป็น “เฟคนิวส์” เช่นไม่ทันไรก็ขู่นักเลงคีย์บอร์ด
พรรคฝ่ายค้าน นักเคลื่อนไหวการเมือง จึงออกมาท้วงติงดักคอกันเซ็งแซ่ ซึ่งไม่ใช่ไร้เหตุผล เพราะต้องดูว่าที่ผ่านมา “นิสัย” (ภาษาสุภาพ) ผู้มีอำนาจเป็นอย่างไร 5 ปี จับคนไปปรับทัศนคติมากมายเท่าไหร่ ปอท. “เฟคนิวส์” ก็เป็นเครื่องมือเอาผิดคนวิจารณ์ เช่น จับศิลปินที่วิจารณ์มาตรการสนามบินสุวรรณภูมิ เอาตัวจากภูเก็ตมาแถลงข่าว ราวอาชญากรร้าย
อย่าลืมว่า 2-3 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงในโลกออนไลน์ ถ้าจะใช้โอกาสนี้กวาดล้างจับกุม ก็ง่ายมาก เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้อำนาจคุมตัว 7 วัน เหมือนย้อนไปอยู่ในยุคเผด็จการ
พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นอำนาจสองคม ถ้า “ผนฉ” ผู้นำฉลาด เป็นประชาธิปไตย ก็ใช้อำนาจยับยั้งสาธารณภัยได้ผล แต่ถ้าเป็นผู้นำล้มเหลว ประชาชนไม่เชื่อถือ ตัดสินใจผิด คิดไม่เป็น สื่อสารไม่รู้เรื่อง แม้ระงับโรคได้ด้วยอำนาจก็อาจจะยิ่งทำให้คนไม่พอใจไปใหญ่
เอาง่าย ๆ ปัญหาที่มันบานปลายก็เกิดจากรัฐบาลเอง ถ้าไล่ไทม์ไลน์ น่าจะตัดสินใจเตรียม “ล็อกดาวน์” ไว้แล้วตั้งแต่วันศุกร์ ที่ประยุทธ์พบคณะอาจารย์แพทย์ แต่ไม่ทราบเพราะอะไร จึงให้ผู้ว่าฯ กทม.ออกคำสั่งวันเสาร์ ให้คนหยุดงานโดยไม่มีมาตรการรองรับ เกิดการหลั่งไหลกลับต่างจังหวัด แตกตื่นกักตุนสินค้า แล้ว ครม.วันอังคารค่อยประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พร้อมมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ เช่นจ่ายคนตกงาน 3 เดือน ๆละ 5,000 บาท ทั้งที่ควรจะออกมาเป็นแพ็กเกจตั้งแต่วันแรก
นี่คืออำนาจฉุกเฉิน ในมือผู้นำอำนาจนิยม ที่ประชาชนไม่เชื่อฝีมือ