สิ้นสุดยุคสัมปทานทีวี

ปิดฉากอวสานสัมปทานโทรทัศน์ของไทย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นับตั้งแต่เที่ยงคืน (25 มี.ค.) ที่ผ่านมา หลังจากสัญ ญาระหว่างบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT ในฐานะเจ้าของสัมปทานกับสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ผู้รับสัมปทานในนามบริษัท บางกอก เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ได้ครบกำหนดอายุ 50 ปี และสิ้นสุดลงวันที่ 25 มี.ค. 63 ถือเป็นการปิดฉากโทรทัศน์ระบบอะนาล็อกภาคพื้นดินช่องสุดท้ายของไทยโดยสมบูรณ์แบบ


พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง

ปิดฉากอวสานสัมปทานโทรทัศน์ของไทย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นับตั้งแต่เที่ยงคืน (25 มี.ค.) ที่ผ่านมา หลังจากสัญ ญาระหว่างบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT ในฐานะเจ้าของสัมปทานกับสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ผู้รับสัมปทานในนามบริษัท บางกอก เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ได้ครบกำหนดอายุ 50 ปี และสิ้นสุดลงวันที่ 25 มี.ค. 63 ถือเป็นการปิดฉากโทรทัศน์ระบบอะนาล็อกภาคพื้นดินช่องสุดท้ายของไทยโดยสมบูรณ์แบบ

จุดเริ่มต้นของสัมปทานดังกล่าว มาจากบริษัท บางกอก  เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ได้รับสัมปทานจากองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) หรือ MCOT ในปัจจุบัน โดยใช้ชื่อว่า “ไทยทีวีสีช่อง 3” เพื่อส่งสัญญาณโทรทัศน์ออกสู่สถานีโทรทัศน์ส่วนภูมิภาค โดยช่อง 3 และช่อง 9 ใช้ดาวเทียมอินเทลแซท โดยบริษัท บางกอก  เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ฯ ร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีกับบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด (เดิม) ตามสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สี เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2511

หลังจากนั้นบางกอก เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ฯ ทำสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีกับองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2521 หลังอสมท. แปลงสภาพเป็นบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT ได้มีการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมรวม 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2525 ครั้งที่ 2 วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2520 และครั้งที่ 3 วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2532 จนสิ้นสุดสัญญาดังกล่าว

ความเป็นมาของ “ไทยทีวีสีช่อง 3” ในยุคสัมปทาน (อะนาล็อก) ก่อนมาสู่ยุคดิจิทัลในปัจจุบัน ถือว่าน่าสนใจไม่แพ้กัน มีจุดเริ่มต้นจาก วิชัย มาลีนนท์ ในฐานะผู้ก่อตั้ง ที่ลองผิดลองถูกมาหลายธุรกิจ ทั้งธุรกิจให้บริการรถโดยสารระหว่างเมือง คือกรุงเทพ-สระบุรี และกรุงเทพ-ชลบุรี จากนั้นธุรกิจโรงแรมตงฮั้ว ย่านหัวลำโพง  ขยับสู่ธุรกิจร้านขายของชำ

จากนั้นทำธุรกิจโพยก๊วน (ธุรกิจส่งเงินจากคนจีนโพ้นทะเลกลับสู่แผ่นดินใหญ่) แต่ก็ล้มเหลวไป จึงหันไปทำไปทำธุรกิจน้ำมันกับปั๊มเชลล์ และเป็นเอเย่นต์สลากกินแบ่งรัฐบาล

“วิชัย มาลีนนท์” เริ่มต้นธุรกิจไทยทีวีสีช่อง 3 ด้วยการจัดตั้งบริษัท บางกอก เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ขึ้นเมื่อปี2510 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท แบ่งเป็น 10,000 หุ้น โดยมี “มนูญศิริ ขัตติยะอารี ที่ว่ากันว่า..เป็นผู้จุดประกายธุรกิจนี้ มาร่วมบริหารด้วย

จากนั้นบริษัท บางกอก เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด วางศิลาฤกษ์ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 บนที่ดิน 6 ไร่ บริเวณริมถนนเพชรเกษม เขตหนองแขม กทม. เมื่อต้นปี 2512 และเริ่มดำเนินการแพร่ภาพ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2513 แต่ว่าเส้นทางธุรกิจโทรทัศน์ไม่ได้ราบรื่น ประสบปัญหาอยู่หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติช่วง 5 ปี หรือวิกฤติก่อนปี 2528 จากนั้นสถานการณ์เริ่มดีขึ้นและเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในนามบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC เมื่อปีพ.ศ. 2539

มาถึงวันนี้ “สถานีโทรทัศน์ช่อง 3” กำลังอยู่ในยุคทีวีดิจิทัล ท่ามกลางกระแส “ทีวีออนไลน์” และ “ทีวีออนดีมานด์” ที่กำลังเข้าแทนที่ จนน่าเป็นห่วงว่า “หลังสิ้นสุดยุคทีวีสัมปทาน” ไปแล้ว “การสิ้นสุดยุคทีวีดิจิทัล” กำลังจะตามไปเร็ว ๆ นี้หรือ ไม่..!!??

Back to top button